ข้ามไปเนื้อหา

สมานฉันท์ ชมภูเทพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สมาน ชมภูเทพ)
สมานฉันท์ ชมภูเทพ
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน
ดำรงตำแหน่ง
14 มีนาคม พ.ศ. 2547 – 13 มีนาคม พ.ศ. 2551
ถัดไปทรงชัย วงศ์สวัสดิ์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
สมาน ชมพูเทพ

25 เมษายน พ.ศ. 2486
อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ประเทศไทย
เสียชีวิต15 มิถุนายน พ.ศ. 2557 (71 ปี)
อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
พรรคการเมืองกิจสังคม (2518–2519, 2526–2529)
ธรรมสังคม (2519)
รวมไทย (2529–2531)
เอกภาพ (2531–2535)
ความหวังใหม่ (2535)
ชาติพัฒนา (2531–2535)
ประชาธิปัตย์ (2535–2557)
คู่สมรสสวลี นิติธรรม

สมานฉันท์ ชมภูเทพ (25 เมษายน พ.ศ. 2486 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2557) อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เป็นที่รู้จักในนาม "หนานหล้า"[1] เขาได้รับฉายา "ศรีธนญชัยเมืองเหนือ"[2]

ประวัติ

[แก้]

สมานฉันท์ หรือ สมาน ชมภูเทพ (หนานหล้า) เกิดเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2486 ที่บ้านป่าป๋วย หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เป็นบุตรของนายทา นางคำมูล ชมภูเทพ พี่น้องร่วมบิดา-มารดาทั้งหมด 9 คน โดยเขาเป็นบุตรคนสุดท้อง บิดาเป็นผู้นำชุมชนในหมู่บ้าน ครอบครัวทำไร่ทำนา ช่วงชีวิตในวัยเยาว์มีฐานะทางครอบครัวอยู่ในขั้นยากจน การศึกษาขั้นเริ่มแรกได้อาศัยการศึกษาที่วัดเป็นหลักโดยอาศัยอยู่กับพี่ชายซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าป๋วย ต่อมาทางบิดาได้ฝากอาศัยอยู่คุ้มของเจ้าวรทัศน์ ณ ลำพูน และศึกษาต่อที่โรงเรียนเมธีวุฒิกร ไม่นานจึงลาออกจากโรงเรียนและออกจากคุ้มเจ้า มาศึกษาต่อที่โรงเรียนช่างไม้ (ปัจจุบันคือวิทยาลัยเทคนิคลำพูน) และเป็นประธานนักเรียน และสำเร็จการศึกษาจากที่นั่น

จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีด้านการบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาการบริหารองค์การภาครัฐและเอกชน จากวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

ด้านชีวิตครอบครัว สมรสกับ สวลี นิติธรรม คณบดีคณะภาษาและการสื่อสาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) มีบุตร-ธิดา 2 คน โดยมีบุตรชายเป็นนักการเมือง คือ นายณัฐกานต์ ชมภูเทพ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน สังกัดพรรคประชาธิปัตย์[3] ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง

งานการเมือง

[แก้]

สมานฉันท์ ชมภูเทพ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน 7 สมัย ได้รับเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2518 สังกัดพรรคกิจสังคม และได้รับเลือกตั้งติดต่อกันรวม 4 สมัย ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2529 เป็นสมัยแรกที่สอบตก ต่อจากนั้นก็ได้รับเลือกตั้ง 3 สมัยติดต่อกัน คือ ในปี พ.ศ. 2531 สังกัดพรรคเอกภาพ และการเลือกตั้ง พ.ศ. 2535 ทั้ง 2 ครั้ง สังกัดพรรคความหวังใหม่ และพรรคชาติพัฒนาตามลำดับ จากนั้นจึงได้ย้ายมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ไม่ได้รับเลือกตั้ง

ต่อมาจึงได้หันมาสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน โดยสามารถเอาชนะผู้สมัครที่ได้รับการสนับสนุนพรรคไทยรักไทย คือ มนตรี ด่านไพบูลย์

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลงพื้นที่ช่วยหาเสียง[4] แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง โดยแพ้ให้กับนายสงวน พงษ์มณี จากพรรคเพื่อไทย

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดเขาโดยป.ป.ช. ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยัง อัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญา ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2542 มาตรา 97 นายสมาน ชมพูเทพ” เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน กรณีเรียก รับ เงินเป็นค่าตอบแทน ในการจัดซื้อโปรแกรมสื่อการเรียนการสอน มัลติมิเดีย ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ e - Learning เฉลิมพระเกียรติ โดยวิธีพิเศษ จากมูลนิธิ 5 ธันวามหาราช ครั้งที่ 1[5]

เมื่อเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2558 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดนายสมาน หรือสมาฉันท์ ชมพูเทพ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ลำพูน กับพวก กรณีกล่าวหาดำเนินการขุดลอกร่องน้ำทางเรือเดินในแม่น้ำปิงโดยไม่ชอบ และผู้ว่าราชการจังหวัดรู้ว่า อบจ.ลำพูน กระทำโดยไม่ชอบด้วยหน้าที่ ไม่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อทำการสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2550

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

[แก้]

สมาน ชมภูเทพ เคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน มาแล้ว 7 สมัย

ถึงแก่อนิจกรรม

[แก้]

สมาฉันท์ ชมภูเทพ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ณ โรงพยาบาลลำพูน หลังจากป่วยนานร่วม 2 ปี[6]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ปิดตำนาน หนานหล้า อดีต ส.ส.ลำพูน 7 สมัย
  2. ทรงศักดิ์ ฉลาดพงศ์พันธ์. (2535) พฤติกรรมทางการเมืองของนายสมาน ชมภูเทพ. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่/เชียงใหม่.
  3. ณัฐกานต์ ชมภูเทพลูกหนานหล้าผมขอใช้แรงแทนเงิน เลือกตั้ง50
  4. "มาร์ค-แกนนำปชป."ลุยถิ่นเหนือ ยกพลนอนค้างวัดหนองเงือก ลำพูน ระดมตร.พะเยากว่า 100 นาย อารักขาลงพื้นที่หาเสียง
  5. ป.ป.ช.ฟัน สมาน ชมพูเทพ - น้องอดีต ส.ส.เรียกรับเงินมูลนิธิ 5 ธันวาฯ
  6. ชาวลำพูนเศร้า "หนานหล้า" อดีต ส.ส.ลำพูน 7 สมัย เสียชีวิตลงแล้วด้วยโรคมะเร็งปอด
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๒, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๕๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๕
  9. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน เก็บถาวร 2022-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๒๕๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๗, ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๘