สมพงษ์ เจริญเมือง
สมพงษ์ เจริญเมือง (Sompong Jareonmueng) | |
---|---|
เกิด | สมพงษ์ เจริญเมือง 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483[3] จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประเทศไทย |
ชื่ออื่น | จอมบุก[1][2] |
สมพงษ์ เจริญเมือง (ชื่อเล่น: พงษ์; 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 – ) เป็นนักมวยไทยชาวไทยผู้มีชื่อเสียง[6] ซึ่งเคยพบกับราวี เดชาชัย มาแล้วถึง 7 ครั้งและได้รับการกล่าวว่าเป็นคู่ระดับตำนาน[5] รวมถึงเป็นหนึ่งในนักมวยที่เป็นคู่ชกรายสำคัญของอภิเดช ศิษย์หิรัญ[7][8][9]
ทั้งนี้ สมพงษ์เป็นเจ้าของรางวัลพระราชทานนักมวยมารยาทดีและศิลปะมวยไทยยอดเยี่ยม[1] ตลอดจนเป็นหนึ่งในนักมวยไทยที่ปรากฏชื่ออยู่ในเพลงนักมวยรูปหล่อ ของเพลิน พรหมแดน
ประวัติ
[แก้]สมพงษ์ เจริญเมือง มีชื่อจริงคือ สมพงษ์ พงษ์พียะ เป็นชาวตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขาได้ย้ายมาศึกษาที่โรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย จนสำเร็จระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 แล้วเขาก็ได้มาหัดมวยที่ค่าย ร.ส.พ. โดยมีบุญสิทธิ์ สวามิภักดิ์ เป็นเจ้าของค่ายมวย และเข้าแข่งขันในนาม สมพงษ์ ร.ส.พ. ช่วงประมาณ พ.ศ. 2501[4] โดยมีค่าตัวในการแข่งครั้งแรกที่ 50 บาท[3]
ช่วงประมาณ พ.ศ. 2503 ถึง 2511 สมพงษ์มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากเนื่องจากการเป็นฝ่ายชนะคู่ชกบ่อยครั้ง กระทั่งได้เข้าแข่งขันชิงแชมป์รุ่นไลท์เวทแต่เป็นฝ่ายถูกอดุลย์ ศรีโสธร เตะก้านคอจนสลบในยกที่ 2 แล้วเขาก็ไม่ได้ขึ้นชิงแชมป์อีกต่อไป แต่ถึงกระนั้นชื่อเสียงและบารมีของสมพงษ์ก็ยังคงไม่เป็นรองแชมป์เวทีใด ๆ[4]
แล้วเขาก็ย้ายมาอยู่ค่ายมวยเจริญเมือง ของอาคม สวามิภักดิ์ และได้ใช้ชื่อในการชกใหม่เป็นสมพงษ์ เจริญเมือง และได้เข้าแข่งกับนักมวยไทยที่มีชื่อเสียงหลายราย อาทิ เดชฤทธิ์ อิทธิอนุชิต, อดุลย์ ศรีโสธร, อดิศักดิ์ แขวงมีชัย, วีระเดช ส.ลูกพิทักษ์, สามารถ ศรแดง, แดนชัย เพลินจิตร, นำศักดิ์ ยนตรกิจ, รักเกียรติ เกียรติเมืองยม, บุกเดี่ยว ยนตรกิจ, สุขเกษม สายฟ้าแลบ, คะนองเมฆ คชาพิชิต, เด่น ศรีโสธร, ลิงลม สิงห์เชื้อเพลิง, วิชาญ ส.พินิจศักดิ์, ประกายแก้ว ลูก ส.ก., ราวี เดชาชัย และคงเดช ลูกบางปลาสร้อย[4]
การต่อสู้ครั้งสำคัญ คือเมื่อครั้งที่สมพงษ์ เจริญเมือง พบกับราวี เดชาชัย ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2508 ซึ่งนักมวยทั้งสองเป็นประเภทมวยบุกทั้งคู่ ซึ่งการต่อสู้ในครั้งดังกล่าว สมพงษ์เป็นฝ่ายชนะและได้รับรางวัลพระราชทานพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[4]
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 สมพงษ์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลฮอลออฟเฟม สยามกีฬาอวอร์ดส์[10]
ชีวิตส่วนตัว
[แก้]ด้านชีวิตส่วนตัว สมรสกับภรรยาชื่อกัลยา และมีบุตรด้วยกันสองคนชื่อสมภพ และสมโภชน์[4] ครั้นเมื่อสมพงษ์แขวนนวมแล้ว เขาได้เปิดค่ายมวยและให้ลูกชายเข้าแข่งขันมวยไทยโดยใช้ชื่อสมโภชน์ เพชรสมพงษ์ ทางช่อง 7 ซึ่งประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง[1]
ด้านการเมือง สมพงษ์เคยเป็นสมาชิกสภาเขตบางกอกน้อย สังกัดพรรคประชากรไทย และเป็นผู้มีฐานะทางสังคมที่ค่อนข้างมั่นคง ต่อมา ภรรยาของเขาเกิดป่วยเป็นอัมพฤกษ์ เขาจึงจำต้องขายทรัพย์สินส่วนตัวมาเพื่อช่วยเหลือจนฐานะขัดสน และภรรยาของเขาได้เสียชีวิตลง รวมถึงเมื่อเขามีอายุ 72 ปี ลูกชายคนโตก็ได้เสียชีวิตไปอีกคน ส่งผลให้เขาเป็นคนซึมเศร้า ซึ่งภายหลังจากการเสียชีวิตของภรรยา สุจารี เรืองจรัส ได้มาเป็นคู่ชีวิตปัจจุบัน และคอยให้การดูแล[4]
ในภายหลัง สมพงษ์กลับมามีความสุขได้อีกครั้ง เมื่อได้รับความสนใจจากนักข่าว และเข้ารับรางวัลฮอลออฟเฟม สยามกีฬาอวอร์ดส์ ณ วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555[4]
สิ่งสืบเนื่อง
[แก้]สมพงษ์ เจริญเมือง ได้รับการกล่าวว่า เป็นหนึ่งในนักมวยไทยต้นแบบให้แก่เยาวชนต่างจังหวัดที่ต้องการมีชื่อเสียงหลายราย และในสมัยนั้น ตามหน้ากระจกร้านตัดผมทั่วประเทศมักจะมีรูปของเขาติดอยู่ด้วย[11]
รางวัล
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 KBank Hall of Fame: จอมบุก..สมพงษ์ เจริญเมือง...นักชกถ้วยพระราชทานฯ
- ↑ คอลัมน์: เวทีวาที: งานสำคัญพ่อนกขุนทอง
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 มวยสยาม Extra. บริษัท สยามพริ้นท์ จำกัด. ปีที่ 1 ฉบับที่ 2. มิถุนายน 2556. หน้า 60
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 จอมบุก สมพงษ์ เจริญเมือง นักชกถ้วยพระราชทาน
- ↑ 5.0 5.1 Sport Classic : นิตยสารสำหรับคนรักกีฬาและสุขภาพ » “ราวี-สมพงษ์” คู่แค้นในตำนาน
- ↑ มวยไทยในสหรัฐอเมริกา (สมเจตน์ พยัคฆฤทธิ์) - Sereechai.com
- ↑ มะเร็งคร่าชีวิต “อภิเดช ศิษย์หิรัญ” อดีตนักมวยไทยชื่อดัง - Manager Online[ลิงก์เสีย]
- ↑ มะเร็งคร่าชีวิตอดีตนักมวยไทยชื่อดังจอมเตะ แห่งบางนกแขวก อภิเดช ศิษย์หิรัญ
- ↑ กีฬา - สิ้นตำนานมวย “อภิเดช ศิษย์หิรัญ” จอมเตะบางนกแขวก มะเร็งร้ายพรากชีวิต
- ↑ โผ 8 ตำนานชิง ฮอลล์ออฟเฟม - ข่าวไทยรัฐออนไลน์
- ↑ ธุรกิจมวยไทย : เศรษฐกิจการตลาด : ขมน้ำตาลหวานบอระเพ็ด : คมชัดลึก