ข้ามไปเนื้อหา

สถูปทุ่งเศรษฐี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สถูปทุ่งเศรษฐี เป็นโบราณสถานตั้งอยู่ที่บริเวณด้านหน้าของเทือกเขาจอมปราสาท ทางด้านทิศตะวันออก ในเขตหมู่ที่ 6 บ้านโคกเศรษฐี ตำบลนายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลชะอำประมาณ 4 กิโลเมตร

สถานที่ตั้งและลักษณะทางกายภาพ

[แก้]

สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบชายฝั่งเกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำกร่อย และตะกอนน้ำที่ทะเลพัดพามา เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ประกอบกิจกรรมทางการเกษตร ได้แก่ การทำนาและสวน ทางพื้นที่ด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือนั้นปรากฏเทือกเขาหินปูนขนาดย่อม ได้แก่ เขาถ้ำโหว่ เขามันหมู เขาเจ้าลายใหญ่ เขาจอมปราสาท เขาตกน้ำ เขาตาจีน เขานาขวาง และเขานายาง เทือกเขาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาตอนกลางของเขตที่ราบชายฝั่งทะเลของจังหวัดเพชรบุรี ปัจจุบันบริเวณโบราณสถานเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ทุ่งเศรษฐี

ประวัติ

[แก้]

สถูปที่ทุ่งเศรษฐีเป็นศาสนสถานตั้งอยู่ที่บริเวณด้านหน้าของเทือกเขาจอมปราสาทอันเป็นส่วนหนึ่งของเขาเจ้าลายใหญ่หรือเทือกเขานางพันธุรัตน์ เทือกเขาเจ้าลายใหญ่นี้มีความเกี่ยวข้องกับตำนานเมืองเพชรบุรี เรื่อง "มหาเภตรา" และเรื่อง "ท้าวม่องไล่" "เจ้ากงจิ่น" และ "เจ้าลาย" ตำนานกล่าวว่าบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของชุมชนบ้านเมืองโบราณ มีผู้คนทำมาหากินอยู่ด้วยการจับสัตว์ทะเลขายและการเป็นโจรสลัดปล้นเรือพาณิชย์ที่ผ่านมา มีเจ้าหรือหัวหน้าปกครอง ส่วนที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมท้องถิ่นเรื่อง "สังข์ทอง" ก็กล่าวว่าเทือกเขาแห่งนี้เป็นร่างของนางพันธุรัตน์ทอดกายนอนอยู่

ในส่วนของตำนานการสร้างทุ่งเศรษฐีนั้น มีนิทานปรัมปราท้องถิ่นกล่าวว่าได้มีเศรษฐีผู้หนึ่งใช้เกวียนเป็นพาหนะขนทองคำและของมีค่าเดินทางผ่านมายังทุ่งเศรษฐีแล้วเกวียนหัก จึงขอให้ชาวบ้านช่วยซ่อมเกวียนเพื่อที่จะได้เดินทางต่อ ชาวบ้านทราบว่าเศรษฐีขนทรัพย์สมบัติมาจึงเกิดความละโมบและออกอุบายไปตัดไม้สบู่อันเป็นไม้เนื้ออ่อนมาซ่อมเกวียน แต่เศรษฐีเฉลียวใจจึงสร้างเจดีย์ขึ้นองค์หนึ่งและนำทรัพย์สมบัติไปซ่อนไว้ในองค์เจดีย์พร้อมกับทำการสาปแช่งคนที่จะมาลักขโมยสมบัติไว้

จากนิทานปรัมปราท้องถิ่นดังกล่าวส่งผลให้มีการลักลอบขุดทำลายสถูปทุ่งเศรษฐีเพื่อค้นหาสมบัติ โดยครั้งที่ครึกโครมมากที่สุดคือ เมื่อ พ.ศ. 2528 ปรากฏว่าโบราณวัตถุที่ได้จากการลักลอบขุดไม่ปรากฏวัตถุมีค่าแต่อย่างใด นอกจากชิ้นส่วนของประติมากรรมปูนปั้น อาทิ พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ รูปบุคคล มกร และลวดลายประดับสถาปัตยกรรม กล่าวกันว่ามีจำนวนมากขนาดต้องใช้รถบรรทุกขนเป็นคันๆ น่าเสียดายว่าส่วนใหญ่รูปประติมากรรมจะถูกทุบให้แตกและนำกลับมากลบภายในหลุม บางส่วนก็ถูกเก็บรักษาและครอบครองตามหน่วยงานเอกชนต่างๆ

การขุดค้น ขุดแต่ง และการบูรณะ

[แก้]

การดำเนินงานที่เกี่ยวของกับสถูปทุ่งเศรษฐีเริ่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2532 โดย พระวรรธระ อาจารสัมปันโน แห่งสำนักสงฆ์ทุ่งเศรษฐี ได้แจ้งให้กรมศิลปากรตรววจสอบเนินโบราณสถานแห่งนี้ โดยมีนายอัศวี ศรจิตติ หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรีขณะนั้น เดินทางไปตรวจสอบ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2537 นายนิติ แสงวัณณ์ นักโบราณคดี และ นายสุรพงษ์ สุริโย ช่างสำรวจของหน่วยศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ได้สำรวจและจัดทำผัง โดยกำหนดเขตโบราณสถานและตรวจสอบการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยรอบตัวโบราณสถานดังกล่าว เพื่อดำเนินการประกาศขึ้นทะเบียน หลังจาก พ.ศ. 2541 สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี พิจารณาเห็นว่าโบราณสถานทุ่งเศรษฐีอยู่ในสภาพทรุดโทรมมากเนื่องจากถูกลักลอบขุดทำลายและเสื่อมสภาพตามธรรมชาติ จึงจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการขุดแต่งและออกแบบเพื่อการบูรณะโดยได้ดำเนินการขุดแต่งและขุดค้นในระหว่างเดือนพฤษภาคม - พฤศจิกายน พ.ศ. 2541

อย่างไรก็ดี สภาพของสถูปทุ่งเศรษฐีในปัจจุบัน (พ.ศ. 2551)ขาดการดูแลรักษา ถูกปกคลุมด้วยวัชพืชจนแทบมองไม่เห็นตัวโบราณสถาน เนื้ออิฐและเนื้อปูนขาวเริ่มเปื่อยยุ่ยเป็นเนื้อดิน หากไม่มีการบูรณะหรือมีการดูแลที่ดีกว่านี้ อาจทำให้โบราณสถานแห่งนี้ทรุดโทรมยิ่งกว่าก่อนบูรณะ

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

[แก้]

สถูปทุ่งเศรษฐีเป็นสถูปขนาดใหญ่ก่ออิฐสอดินฉาบปูน องค์สถูปหักพังเหลือเพียงส่วนฐาน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง 25 เมตร ยาว 25 เมตร สูง 5 เมตร วางตัวในแนวแกนตะวันออก-ตะวันตก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบันไดขึ้นสู่ฐานประทักษิณที่ตรงกึ่งกลางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ผนังด้านข้างของฐานประทักษิณประดับด้วยเสาอิงห่างกันเป็นระยะ พื้นลานประทักษิณด้านบนปูด้วยแผ่นอิฐ ถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสรองรับฐานขององค์สถูปซึ่งมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกเก็จที่บริเวณกึ่งกลางด้านและมุมทั้งสอง ฐานรับท้องไม้ขนาดค่อนข้างใหญ่มีลวดบัวประดับตรงกึ่งกลาง ลักษณะของลวดบัวเป็นแนวก่ออิฐยื่นออกมาจากท้องไม้จำนวน 3 แถว แถวบนและล่างก่อเรียบ แถวกลางก่ออิฐยื่นสลับกัน ทำให้เกิดช่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กโดยรอบ ถัดจากท้องไม้ขึ้นไปเป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยมรองรับผนังก่ออิฐที่มีเสาอิง แบ่งผนังออกเป็นช่องว่างที่มีการประดับตกแต่งด้วยประติมากรรมปูนปั้นรูปคนแคระ เหนือขึ้นไปเป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยมรองรับผนังก่ออิฐ มีร่องรอยของเสาประดับผนังตกแต่งคล้ายกับผนังส่วนแรกแต่ขนาดใหญ่กว่า ถัดจากส่วนนี้เป็นส่วนบนของสถูปมีสภาพชำรุดพังทลายลงมาเกือบทั้งหมดทำให้ไม่สามารถสันนิษฐานรูปทรงดั้งเดิมได้

ประติมากรรมปูนปั้นจากสถูปทุ่งเศรษฐี

[แก้]

จากการขุดแต่งสถูปทุ่งเศรษฐี พบประติมากรรมปูนปั้นตกอยู่ทั่วไปบริเวณสถูปโดยเฉพาะที่ติดอยู่กับฐานสถูป ทั้งหมดอยู่ในสภาพชำรุดแตกหักออกเป็นชิ้นๆ จำนวนทั้งหมด 1,105 ชิ้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้

พระพุทธรูป

มีพุทธลักษณะต่างๆ อาทิ พระพักตร์รูไข่ ขมวดพระเกศาเป็นรูปก้นหอยมีขนาดใหญ่ไม่มีพระรัศมีบนพระเกตุมาลา พระขนงทำเป็นเส้นนูนโค้งติดต่อกันคล้ายรูปปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่งมีขนาดใหญ่ แย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย พระอังสากว้าง พระอุระแบบหนา พระวรกายยืดยาว บั้นพระเอวเล็ก พระนาภีเป็นรูกลม จีวรเรียบพบทั้งแบบห่มคลุม และห่มเฉียงไหล่ซ้ายขอบสบงด้านบนเป็นเส้นนูน พระพาหาส่วนใหญ่ชำรุด จากชิ้นส่วนพระหัตถ์ที่พบสันนิษฐานว่าแสดงปางประทานอภัยและแสดงธรรมเทศนา พบทั้งแบบทรงยืนตรง (สมภังค์)และทรงยืนตริภังค์(เอียงพระองค์) บริเวณพระพักตร์ของพระพุทธรูปและพระชงฆ์มีร่องรอยการทาด้วยสีแดงตกแต่ง เศียรพระพุทธรูปบางองค์มีการพอกปูนแก้ไขให้มีพระเนตรเหลือบลงต่ำจากของเดิมที่มีพระเนตรปกติ

รูปพระโพธิสัตว์ เทวดา หรือบุคคลชั้นสูง

มีความคล้ายคลึงกับรูปเทวดาที่พบจากโบราณสถานอื่นๆ เช่น โบราณสถานที่บ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี และเจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐมลักษณะพระพักตร์มักเป็นรูปไข่ พระขนงโค้งต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์แย้มเล็กน้อย มีพระอังสาใหญ่ พระอุระหนา พระวรกายยืดยาว พระอุทรนูนเล็กน้อย พระนาภีเป็นรูกลม ทรงเครื่องประดับอาทิ ศิราภรณ์และกรองศอ บางรูปคล้องสายยัชโญปวีต (สายธุรำ)อันเป็นสัญลักษณ์ของนักบวช ลักษณะการทรงพระภูษาต่ำกว่าสะดือ ขอบด้านบนเป็นแถบหนา ชักชายด้านหน้าคาดทับด้วยปั้นเหน่ง ตรงกลางมีแถบชายผ้าหน้านางห้อยลงมา บริเวณพระพักตร์ยังคงร่องรอยการลงสีแดงบริเวณส่วนขอบพระพักตร์ ขอบพระโอษฐ์ และพระวรกายประติมากรรมเหล่านี้มักปรากฏทั้งรูปยืนตรงและตริภังค์ ส่วนใหญ่ไม่เอียงพระเศียร มีการแสดงพระหัตถ์หลายรูปแบบ เช่น การประนมหัตถ์ การถือสิ่งของ อาทิ วัชระ หรือดอกบัว เป็นต้น หากไม่ได้ถือสิ่งของก็จะวางพระหัตถ์ไว้ที่ส่วนต่างๆ ของพระวรกาย

บุคคลสามัญ

รูปบุคคลสามัญเป็นอีกประเภทหนึ่งที่มีการปั้นขึ้นเพื่อประดับสถูปทุ่งเศรษฐี ช่างปั้นได้นำลักษณะหน้าตาตลอดจนการแต่งกายของบุคคลในสมัยนั้นมาเป็นแบบอย่างในการถ่ายทอดผลงานทางด้านศิลปกรรม การติดต่อค้าขายทางทะเลที่ได้พัฒนาขึ้นเป็นอันมากทำให้มีชนหลายชาติหลายภาษาเดินทางเข้ามาอยู่เป็นประจำช่างจึงได้จับเอาลักษณะเฉพาะของแต่ละชนชาติรวมทั้งคนพื้นเมืองมาปั้นขึ้นเป็นประติมากรรมรูปบุคคล เพื่อประดับสถูป เช่นศีรษะรูปบุคคลสวมหมวกแขกหรือหมวกปิเยาะห์ (ภาพที่ 7 ) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับภาพบุคคลที่พบแผ่นอิฐแบบทวาราวดี ณ จุลประโทนเจดีย์ จังหวัดนครปฐม และ ภาพบุคคลปูนปั้นสวมหมวกทรงสามเหลี่ยม ที่พบจากเมืองคูบัว จังหวัดราชบุรีซึ่ง รศ. อนุวิทย์ เจริญศุภกุล สันนิษฐานว่าบุคคลชาวต่างชาตินี้เป็นชาวอาหรับมุสลิมที่น่าจะเดินทางมาจากอาระเบียย่านทะเลแดง นอกจากนี้ยังพบรูปศีรษะบุคคลที่มีลักษณะหน้าตาและทรงผมคล้ายชาวจีน เป็นต้น

รูปบุคคลสามัญที่พบนี้มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะมีใบหน้าตรง พบที่เอียงใบหน้าไปทางค้านข้างทั้งทางด้านซ้ายและด้านขวามีจำนวนเล็กน้อย ลักษณะรูปหน้าจะมีหลากหลายตามแบบของบุคคลโดยทั่วไปอันได้แก่ ใบหน้ากลม ใบหน้ารูปไข่ ใบหน้าสี่เหลี่ยม คิ้วต่อกันเป็นรูปคล้ายปีกกา ตาเหลือบต่ำ จมูกโด่ง ริมฝีปากนูน ยิ้มเล็กน้อย ลักษณะทรงผมที่พบมีหลายรูปแบบ เช่น แบบตัดเรียบเสมอหูเกล้าผมเป็นมวยไว้กลางศีรษะ เกล้ามวยไว้กลางศีรษะแล้วตกแต่งด้วยดอกไม้หรือเครื่องประดับ หวีผมเรียบเห็นเป็นเส้นริ้วๆ หวีผมเรียบแล้วประดับด้วยดอกไม้ ม้วนผมด้านข้างทั้งสองเป็นหลอดกลม รูปบุคคลบางชิ้นสวมหมวก เช่น หมวกที่ตกแต่งเป็นริ้วๆ ในทางลง หมวกทรงสามเหลี่ยม (หมวกปิเยาะห์) และหมวกที่มีรูปทรงคล้ายผ้าโพกศีรษะพระฤๅษี ส่วนลำตัวของรูปบุคคลมีลักษณะแตกต่างไปจากพระวรกายของเทวดาหรือบุคคลชั้นสูง เนื่องจากว่าไม่มีการใช้เครื่องประดับในการตกแต่ง ประติมากรรมรูปบุคคลบางชิ้นจะแสดงท่าทาง เช่น พนมมือ จีบนิ้วคล้ายท่าร่ายรำ บ้างก็จะถือสิ่งของซึ่งส่วนใหญ่ชำรุดสันนิษฐานว่าเป็นด้ามอาวุธหรือก้านดอกบัว

ลักษณะการนุ่งผ้าจะนุ่งผ้าต่ำใต้สะดือขอบชายผ้าด้านบนหนาเป็นแถบ ชักชายด้านหน้าเป็นปมคาดทับด้วยเข็มขัด ตรงกลางมีแถบชายผ้าหน้านางห้อยลงมา ประติมากรรมบางชิ้นนุ่งผ้ายาว ด้านซ้ายเรียบด้านขวาเป็นริ้ว มีชายผ้าหน้านางห้อยลงมาทางด้านหน้า ชายผ้าที่ห้อยลงมานี้บางครั้งพบว่าเป็นรูปหางปลา ส่วนท้องของประติมากรรมรูปบุคคลบางชิ้นมีผ้าคาดกลางลำตัวขมวดเป็นปมด้านบน ทิ้งชายยาวลงมาด้านหน้า ประติมากรรมรูปบุคคลสามัญแต่ละชิ้น เป็นการปั้นโดยใช้จินตนาการของช่างปั้นที่แตกต่างกันไปมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ปรากฏว่ามีการใช้แม่พิมพ์เหมือนกับที่พบจากเมืองโบราณนครปฐม

คนแคระ

คติการทำประติมากรรมรูปคนแคระประดับศาสนาสถานนั้นน่าจะได้รับอิทธิพลทาง ความเชื่อมาจากศาสนาฮินดู ลัทธิไวษณพ และไศวนิกาย ซึ่งแพร่กระจายมาจากอินเดียและลังกา คนแคระเป็นผู้ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ชีวิตต่างๆทั้งมนุษย์และสัตว์ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็น ผู้เฝ้ารักษาคุ้มครองศาสนาสถานหรือเป็นทวารบาล พบว่าใช้ประดับอยู่ตามชั้นต่างๆ ของสถูปอันได้แก่ ส่วนฐานและช่องว่างระหว่างเสาประดับผนัง ลักษณะของประตอมากรรมรูปคนแคระที่พบจากสถูปทุ่งเศรษฐีมีใบหน้าค่อนข้างกลมหรือกลมแป้น คิ้วต่อกันคล้ายรูปปีกกา ตาเหลือบต่ำ จมูกใหญ่โด่ง ลักษณะอาการยิ้มเพียงเล็กน้อย บางรูปยิ้มกว้างเห็นไรฟัน ริมฝีปากล่างค่อนข้างนูนหนา ศีรษะหนา ศีรษะส่วนบนมักจะตัดเรียบเกือบเป็นเส้นตรงเนื่องจากใช้ประดับอยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยม ทรงผมตัดเรียบเสมอหู บางรูปมีการประดับด้วยดอกไม้กลม สวมต่างหูรูปยาววงรีหรือดอกไม้รูปกลม ลำตัวอวบอ้วน มีพุงเล็กน้อย ประติมากรรมคนแคระบางรูปนั่งชันเข่าซ้าย วางมือซ้ายไว้บนหัวเข่าซ้ายวางมือขวาไว้ที่ต้นขาขวาบางรูปทิ้งแขนลงข้างลำต้น บางรูปงอนแขนซ้ายทาบหน้าอกในมือกำดอกบัว บางรูปนั่งยองๆ งอเข่าทั้งสองข้าง และวางมือไว้บนหัวเข่าลักษณะคล้ายกับที่พบจากเขาคลังใน เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นประติมากรรมปูนปั้นรูปคนแคระใช่บ่าและท่อนแขนตอนบนค้ำจุนรองรับฐานของสถาปัตยกรรม นอกจากนี้ยังคล้ายกับที่พบจากเมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี และเจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม

ซุ้มเรือนแก้วหรือกุฑุ

การขุดแต่งสถูปทุ่งเศรษฐีพบชิ้นส่วนซุ้มเรือนแก้วหรือกุฑุปูนปั้นจำนวน 17 ชิ้น ซุ้มเรือนแก้วหรือกุฑุ คือส่วนสถาปัตยกรรมเป็นส่วนบนของประตูหน้าต่างโค้ง ซึ่งมักจะพบว่ามีประติมากรรมรูปพระพุทธรูปรูปพระโพธิสัตว์ และรูปบุคคลประดิษฐานหรือประดับอยู่ภายในลักษณะของชิ้นส่วนกุฑุที่พบจากโบราณสถานทุ่งเศรษฐีเป็นชิ้นส่วนวงโค้ง ประกอบด้วยขอบนอกสุดเป็นลายก้านขดเรียงต่อกันตามทางโค้ง ถัดเข้าไปเป็นลายใบไม้อยู่ระหว่างลายเส้นโค้งนูน

ลายก้านต่อดอก พบจากการขุดแต่งเป็นชิ้นส่วนของลายก้านต่อดอกจำนวน 27 ชิ้น องค์ประกอบของลายก้านต่อดอก ประกอบด้วยต้นลายเป็นทรงกลมนูนโค้ง มีลายใบไม้ปลายเป็นรูปสามเหลี่ยม คล้ายลายกระจังนูนตกแต่งก้านลายตรงกลางเป็นลายใบไม้ปลายเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายกระจังเรียงซ้อนกัน ด้านข้างทั้งสองเป็นลายก้านขดมีทั้งแบบปลายลายม้วนเข้า และปลายลายม้วนออก

ยักษ์

การขุดแต่งสถูปทุ่งเศรษฐีพบเศียรยักษ์ทั้งหมด 4 ชิ้น มีใบหน้าค่อนข้างกลมส่วนคิ้วทั้งสองข้างโค้งต่อกับรอยย่นระหว่างหัวคิ้ว ตาเหลือบต่ำ จมูกใหญ่โต โหนกแก้มสูง อ้าปากกว้างเห็นลิ้นและฟันเป็นซี่ใหญ่ๆ ริมฝีปากนูนหนา คติที่เกี่ยวกับยักษ์นั้นส่วนใหญ่รับมาจากอินเดียทั้งที่เนื่องจากมาจากศาสนาพุทธและพราหมณ์ ยักษ์เป็นผู้มีอำนาจในการพิทักษ์รักษาโบราณสถานและขับไล่สิ่งชั่วร้ายต่างๆ

สิงห์

การขุดแต่งสถูปทุ่งเศรษฐีพบชิ้นส่วนหัวสิงห์จำนวน 9 ชิ้น ชิ้นส่วนลำตัว 2 ชิ้น และชิ้นส่วนเท้าสิงห์ 1 ชิ้น ลักษณะส่วนหัวสิงห์กลม หน้าผากโหนกโค้งคิ้วเป็นเส้นนูนต่อกัน ตาเหลือบต่ำมีแววตาเป็นรอยขีด จมูกเล็กค่อยข้างโด่งโหนกแก้มสูง อ้าปากกว้างเห็นฟันด้านบนเป็นซี่ขนาดใหญ่ ริมฝีปากนูน หูขนาดเล็กตั้งขึ้น บนหัวมีแผงขนลักษณะเป็นเส้นขีดเป็นริ้วๆส่วนลำตัวที่พบหลักฐานมีสองแบบคือ เป็นสิงห์นั่งชันเข่าขาหน้าทั้งสองขายืดตรงขาหลังงอ ส่วนไหล่กว้างมีแผงขนคอด้านหน้าเป็นรูปสามเหลี่ยมตกแต่งด้วยลายเรขาคณิต เอวคอดเล็ก มีเส้นขีดลากแบ่งกึ่งกลางลำตัว และสิงห์แบบยกขาหน้าทั้งสองขึ้น เท้าอยู่ระดับไหล่หงายฝ่าเท้าออกมาด้านนอก ส่วนไหล่กว้าง มีแผนขนคอตกแต่งด้วยลายเรขาคณิต


โบราณวัตถุที่พบจากสถูปทุ่งเศรษฐี

[แก้]

โบราณวัตถุที่พบจากสถูปทุ่งเศรษฐี สามารถจำแนกได้หลายประเภท เช่น ประเภทโลหะ ประเภทเครื่องปั้นดินเผา ประเภทหิน และ ประเภทเปลือกหอย เป็นต้น ที่สำคัญ อาทิ พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ทรงยืนตริภังค์ ทรงครองจีวรห้มคลุม พระหัตถ์ซ้ายทรงถือชายจีวร สภาพชำรุดพระเศียร พระกร และพระบาทหัก และยังพบตลับรูปแตงหอมเคลือบขาวและกระปุกดินเผาทรงกลมเคลือบเขียวอมฟ้าภายในบรรจุอัฐิ เป็นเครื่องถ้วยจีนที่มีแหล่งผลิตจากเตาหนานอัน (Nan’an) มณฑลฝูเจี้ยน สมัยราชวงศ์สุ้งภาคเหนือ (พ.ศ. 1503-1663)(ที่มา : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี. “ ทุ่งเศรษฐี ” โบราณสถานทวาราวดีชายฝั่งทะเลเพชรบุรี,66,67)

อายุเวลาของสถูปทุ่งเศรษฐี

[แก้]

การกำหนดอายุเวลาของสถูปทุ่งเศรษฐีจะใช้จากลักษณะสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และลวดลายประดับ ของสถูปทุ่งเศรษฐีเปรียบเทียบกับโบราณสถานแหล่งอื่นๆที่มีอายุแน่นอนและมีลักษณะใกล้เคียงกันมากที่สุดมาเป็นตัวเปรียบเทียบและกำหนดอายุเวลา ดังนี้

การกำหนดอายุเวลาโดยเปรียบเทียบจากลักษณะสถาปัตยกรรม สถูปทุ่งเศรษฐีมีลักษณะสถาปัตยกรรมแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง 25 เมตร ยาว 25 เมตร สูง 5 เมตร วางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก องค์สถูปประกอบด้วยฐานประทักษิณ มีบันไดตรงกึ่งกลางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ผนังด้านข้างของฐานประทักษิณมี เสาประดับผนังเป็นช่วงๆ พื้นลานประทักษิณด้านบนปูด้วยแผ่นอิฐ ถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 1 ชั้น รองรับฐานขององค์สถูปซึ่งมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกเก็จที่บริเวณกึ่งกลางด้านและมุมทั้งสอง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับโบราณสถานหมายเลย 8 (ภาพที่ 10 ) และโบราณสถานหมายเลข 31 (ภาพที่ 11) ที่เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี อันมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกเก็จที่บริเวณกึ่งกลางด้านและมุมทั้งสอง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-15

การกำหนดอายุเวลาโดยเปรียบเทียบจากลักษณะประติมากรรม จากการขุดข้นและขุดแต่งทางโบราณคดีที่สถูปทุ่งเศรษฐีได้พบโบราณวัตถุประเภทปูนปั้นเป็นจำนวนมาก มีทั้งพระพุทธรูป เทวดา บุคคลสามัญ ลวดลายประดับและสัตว์ต่างๆ พบว่ามีความคล้ายคลึงกับโบราณวัตถุที่พบทั้งเมืองนครปฐมโบราณ เมืองคูบัว และอีกหลายๆเมืองที่อยู่ร่วมในวัฒนธรรมทวาราวดี ซึ่งมีอายุประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 12 จากการเปรียบเทียบโบราณวัตถุที่พบในเมืองนครปฐมโบราณ กับ โบราณวัตถุที่พบที่สถูปทุ่งเศรษฐีจะพบได้ว่ามีความคล้ายคลึงกันในส่วนของเครื่องประดับศีรษะและทรงผม แต่มีความแตกต่างกันในฝีมือและเชิงช่างที่ช่างของทุ่งเศรษฐีจะมีฝีมือด้อยกว่า ทั้งนี้อาจเนื่องด้วยกำลังทรัพย์ที่น้อยกว่าและอาจเป็นช่างฝีมือของชาวท้องถิ่นเองก็เป็นได้

จากการเปรียบเทียบลักษณะสถาปัตยกรรมและประติมากรรมปูนปั้นของสถูปทุ่งเศรษฐีกันเมืองโบราณต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่ามีความคล้ายคลึงกันมากทั้งลักษณะแผนผังของสถาปัตยกรรมและลักษณะของลวดลายปูนปั้น ซึ่งสถูปทุ่งเศรษฐีนี้คงจะได้รับอิทธิพลการสร้างสถูปจากเมืองโบราณสมัยทวาราวดีที่เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่และเจริญมากกว่า อายุเวลาของสถูปทุ่งเศรษฐีก็คงมีอายุร่วมสมัยกับเมืองโบราณต่างๆ เช่น เมืองนครปฐมโบราณ เมืองคูบัว เป็นต้น ซึ่งสถูปทุ่งเศรษฐีคงมีอายุไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 13 ทั้งนี้จากการขุดแต่งสถูป ก็ได้พบตลับรูปแตงหอม (ภาพที่ 8 ) และ กระปุกดินเผา (ภาพที่9 ) อันเป็นเครื่องถ้วยจีนที่มีแหล่งผลิตจากเตาหนานอัน (Nan’an) มณฑลฝูเจี้ยน สมัยราชวงศ์สุ้งภาคเหนือ (พ.ศ. 1503-1663) แสดงให้เห็นว่าอาจมีการใช้สถูปแห่งนี้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-13 เรื่อยมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 16-17 หรือมีการหวนกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17

อิทธิพลด้านศาสนาและความเชื่อ

[แก้]

จากการขุดแต่งสถูปทุ่งเศรษฐี โบราณวัตถุที่พบส่วนใหญ่แล้วจะเป็นประติมากรรมปูนปั้น มีการพบชิ้นส่วนของพระพุทธรูปทั้งนี้สามารถกล่าวได้ว่าสถูปทุ่งเศรษฐีนี้ สร้างขึ้นตามการนับถือศาสนาพุทธ

นอกจากนี้แล้ว จากรายงานการขุดแต่งสถูปทุ่งเศรษฐี ได้กล่าวว่าพบประติมากรรมปูนปั้นรูปบุคคลชั้นสูงหรือเทวดา มีร่อยรอยการใช้สีแดงตกแต่งตัวประติมากรรมเหล่านี้ ซึ่งลักษณะการใช้สีแดงในการตกแต่งได้สอดคล้องกับคัมภีร์ของพระพุทธศาสนานิกายมูลสรรวาสติวาส ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้อีกว่าสถูปทุ่งเศรษฐีนี้ สร้างขึ้นตามการนับถือศาสนาพุทธ นิกายมูลสรรวาสติวาส และยังสอดคล้องกับที่จุลประโทนเจดีย์ ที่เมืองนครปฐมโบราณอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตามได้มีการขุดพบเศียรพระพุทธรูปที่มีการพอกปูนแก้ไขใบหน้าให้มีพระเนตรเหลือบต่ำลงจากของเดิมที่มีพระเนตรปกติ (ภาพที่ 4 ) และพบรูปเทวดาถือวัชระ (ภาพที่ 6) ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่าคงมีการเปลี่ยนการนับถือนิกายมูลสรรวาสติมาเป็น ลัทธิมหายาน เพราะคติของลัทธิมหายานมักจะสร้างพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ให้มีพระเนตรเหลือบมองต่ำ อันเป็นการแสดงความเมตตากรุณา อีกทั้งยังสอดคล้องกับที่โบราณสถานหมายเลข 40 ที่เมืองคูบัว ซึ่งพบรูปพระโพธิสัตว์วัชรปาณิ อันเป็นสัญลักษณ์ของปัญาในลัทธิมหายาน

ดังนั้นกล่าวโดยสรุปในเรื่อง อิทธิพลด้านศาสนาและความเชื่อ ได้ว่า ในช่วงแรกของการสร้างสถูปทุ่งเศรษฐีคงมีการนับถือ ศาสนาพุทธ นิกายมูลสรรวาสติ แล้วต่อมา ได้นับถือ ลัทธิมหายาน ซึ่งก็ไม่เป็นเรื่องแปลกเพราะ ลัทธิมหายาน ก็ได้รับการพัฒนามาจากนิกายมูลสรรวาสติ โดยนิกายมหายานนำเอา หลักบารมี 6 ประการของนิกายมูลสรรวาสติ มาใช้นั่นเอง


อ้างอิง

[แก้]
  • สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี. “ ทุ่งเศรษฐี ” โบราณสถาน
  • ทวาราวดีชายฝั่งทะเลเพชรบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์ จำกัด, 2543.
  • พิริยะ ไกรฤกษ์ . อารยธรรมไทย พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ทางศิลปะ .กรุงเทพ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด , 2544 .