ข้ามไปเนื้อหา

สถาบันเพศวิทยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สหภาพนักเรียนเดินขบวนผ่านหน้าสถาบันเพศวิทยา (พ.ค. 1933)

สถาบันเพศวิทยา (เยอรมัน: Institut für Sexualwissenschaft) เป็นมูลนิธิไม่แสวงหากำไรในประเทศเยอรมนี มีที่ตั้งอยู่ในกรุงเบอร์ลิน ก่อตั้งขึ้นในปี 1919 หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ถือเป็นสถาบันวิจัยเพศวิทยาแห่งแรกของโลก[1][2][3] และถูกยุบในปี 1933 เมื่อพรรคนาซีเรืองอำนาจ

ผู้อำนวยการสถาบันคือนายแพทย์มัคนุส เฮียร์ชเฟ็ลด์ (Magnus Hirschfeld) ซึ่งเป็นผู้นำการรณรงค์ในประเด็นก้าวหน้าและสมเหตุผลสำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศตั้งแต่ปี 1897 อย่างไรก็ตาม การก่อตั้งสถาบันแห่งนี้ทำให้เฮียร์ชเฟ็ลด์ตกเป็นเป้าโจมตีจากกลุ่มขวาจัดในเยอรมนี

สถาบันเพศวิทยาเป็นองค์กรผู้บุกเบิกการวิจัยและการรักษาเกี่ยวกับเพศสภาพทางกาย และเพศสภาพทางใจ อันได้แก่ เกย์, กะเทย และผู้ข้ามเพศ นอกจากนี้ยังให้บริการอื่นแก่สาธารณชนด้วย เช่น การรักษาโรคติดสุรา การตรวจสูติศาสตร์ การรักษากามโรค การให้คำปรึกษาชีวิตสมรส ฯลฯ เป็นต้น

สมาชิกพรรคนาซีทำการเผาหนังสือของสถาบันเพศวิทยา (พ.ค. 1933)

กุมภาพันธ์ 1933 หลังการเสื่อมอำนาจของผู้นำเอ็สอาอย่างแอ็นสท์ เริห์ม (ผู้เป็นชาวรักร่วมเพศ) พรรคนาซีก็เริ่มกวาดล้างสโมสรเกย์ในเบอร์ลิน ห้ามออกสื่อสิ่งพิมพ์ และห้ามดำเนินกิจกรรมของกลุ่มเกย์[4] ส่งผลให้หลายคนตัดสินใจหนีออกจากประเทศ ในเดือนมีนาคม 1933 นักกฎหมายของสถาบันก็ถูกส่งตัวเข้าค่ายกักกันและถูกทรมาน ทางด้านนายแพทย์เฮียร์ชเฟ็ลด์ลี้ภัยไปอยู่สวิตเซอร์แลนด์ เอกสารและหนังสือทั้งหมดนับหมื่นเล่มในห้องสมุดของสมาคมก็ถูกนำไปเผาทำลาย รายชื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกยึดโดยเจ้าหน้าที่

อ้างอิง

[แก้]
  1. Wolff 1986, p. 180.
  2. O'Brien, Jodi (2009). Encyclopedia of Gender and Society (ภาษาอังกฤษ). SAGE Publications. p. 425. ISBN 978-1-4129-0916-7.
  3. Beachy 2014, pp. 160–161.
  4. Neumann, Boaz (24 January 2019). "The Nazis tolerated gays. Then everything changed". Haaretz (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 June 2020. สืบค้นเมื่อ 2020-08-05.