ข้ามไปเนื้อหา

สถานีย่อย:โลกวรรณศิลป์/หอวรรณกรรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หน้านี้เป็นหน้ารวมวรรณกรรมแนะนำ ซึ่งมีความเหมาะสมที่จะนำขึ้นแสดงในหัวข้อ แนะนำวรรณกรรม ในสถานีย่อย:โลกวรรณศิลป์

รายการวรรณกรรมแนะนำ

[แก้]

แสดงแล้ว

[แก้]

พระอภัยมณี เป็นวรรณคดีชิ้นเยี่ยมเล่มหนึ่งของไทย ผลงานชิ้นเอกของพระสุนทรโวหาร หรือสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประพันธ์ขึ้นเป็นนิทานคำกลอนที่มีความยาวมากถึง 94 เล่มสมุดไทย เมื่อพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ จะมีความยาวกว่าหนึ่งพันสองร้อยหน้า ระยะเวลาในการประพันธ์ไม่มีการระบุไว้อย่างแน่ชัด แต่คาดว่าสุนทรภู่เริ่มประพันธ์ราวปี พ.ศ. 2364-2366 และแต่งๆ หยุดๆ ไปตลอดเป็นระยะ สิ้นสุดการประพันธ์ราว พ.ศ. 2388 รวมเวลามากกว่า 20 ปี กลอนนิทานเรื่อง พระอภัยมณี นี้ เป็นผลงานกลอนนิทานที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดเรื่องหนึ่งในกระบวนวรรณคดีไทย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในเกียรติคุณของสุนทรภู่ว่า หากให้เลือกกวีไทยที่วิเศษสุดเพียง 5 คน สุนทรภู่จะต้องเป็นหนึ่งในห้าคนนั้น และ "ในบรรดาหนังสือบทกลอนที่สุนทรภู่ได้แต่งไว้ ถ้าจะลองให้ผู้อ่านชี้ขาดว่าเรื่องไหนดีกว่าเพื่อน ก็น่าจะยุติต้องกันโดยมากว่า เรื่องพระอภัยมณีเป็นดีที่สุด เพราะเป็นหนังสือเรื่องยาวแต่งดีทั้งกลอนทั้งความคิดที่ผูกเรื่อง" กลอนนิทานเรื่องนี้ยังได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสร ในสมัยรัชกาลที่ 6 ให้เป็นยอดของวรรณคดีประเภทนิทานคำกลอนอีกด้วย...อ่านเพิ่มเติม


ซินเดอเรลล่า (อังกฤษ: Cinderella; ฝรั่งเศส: Cendrillon) เป็นเทพนิยายปรัมปราที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงทั่วทั้งโลก มีการดัดแปลงเป็นรูปแบบต่างๆ มากมายกว่าพันครั้ง เนื้อเรื่องเกี่ยวกับเด็กสาวกำพร้าผู้หนึ่งที่อยู่ในอุปถัมภ์ของแม่เลี้ยงกับพี่สาวบุญธรรมสองคน แต่ถูกทารุณและใช้งานเยี่ยงทาส ต่อภายหลังจึงได้พบรักกับเจ้าเมืองหรือเจ้าชายผู้สูงศักดิ์ ตำนานซินเดอเรลล่ามีปรากฏในเทพนิยายหรือนิทานพื้นบ้านประเทศต่างๆ ทั่วทั้งโลกโดยมีชื่อของตัวเอกแตกต่างกันออกไป ทว่าฉบับที่มีชื่อเสียงที่สุดเป็นของนักเขียนชาวฝรั่งเศสชื่อ ชาร์ลส แปร์โรลต์ (Charles Perrault) ในปี ค.ศ. 1697 ซึ่งอิงมาจากวรรณกรรมของ จิอัมบัตติสตา เบซิล เรื่อง La Gatta Cenerentola ในปี ค.ศ. 1634 ในเรื่องนี้ตัวเอกมีชื่อว่า เอลลา (Ella) แต่แม่เลี้ยงกับพี่สาวใจร้ายของเธอพากันเรียกเธอว่า ซินเดอเรลล่า (Cinderella) อันหมายถึง "เอลลาผู้มอมแมม" ซึ่งกลายเป็นชื่อเรียกเทพนิยายในโครงเรื่องนี้โดยทั่วไป...อ่านเพิ่มเติม


สามก๊ก (อังกฤษ: Romance of the Three Kingdoms; จีนตัวเต็ม: 三國演義; จีนตัวย่อ: 三国演义; พินอิน: sān guó yǎn yì) เป็นวรรณกรรมจีนที่แต่งขึ้นประมาณช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ในสมัยราชวงศ์หยวน โดยนักประพันธ์ชื่อ หลอกว้านจง (Luo Guanzhong) (羅貫中) กล่าวถึงประวัติศาสตร์จีนในยุคสามก๊ก (ค.ศ. 220-280) โดยเริ่มปูที่มาที่ไปตั้งแต่ยุคโจรโพกผ้าเหลือง (ค.ศ.183) เนื้อเรื่องเน้นการชิงอำนาจในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น ของก๊กต่างๆ อันประกอบด้วยวุยก๊ก (เว่ย 魏) จ๊กก๊ก (ซู่ 蜀) และง่อก๊ก (หวู 吳) จนไปถึงการสถาปนาราชวงศ์จิ้นโดยสุมาเอี๋ยนหลานชายของสุมาอี้ (บุตรชายของสุมาเจียว) กินระยะเวลารวมประมาณ 60 ปี สามก๊กเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีนร่วมกับไซอิ๋ว ซ้องกั๋ง และความฝันในหอแดง บางคนบอกว่าสามก๊กเป็น บทเรียนตำราพิชัยสงครามภาคปฏิบัติ วรรณกรรมชิ้นนี้ยังได้รับการยกย่องจากองค์กรยูเนสโกให้เป็นสุดยอดวรรณกรรมชิ้นหนึ่งของโลกด้วย...อ่านเพิ่มเติม


ธุลีปริศนา (อังกฤษ: His Dark Materials) เป็นนิยายแฟนตาซีไตรภาค เขียนขึ้นโดย ฟิลิป พูลแมน ประกอบด้วย มหันตภัยขั้วโลกเหนือ (Northern Lights) (ค.ศ. 1995) , มีดนิรมิต (The Subtle Knife) (ค.ศ. 1997) และ สู่เส้นทางมรณะ (The Amber Spyglass) (ค.ศ. 2000) โดยได้รับการแปลกว่า 40 ภาษา และจัดจำหน่ายหนังสือได้กว่า 15 ล้านเล่ม

เนื้อเรื่องดำเนินไปเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ ของตัวเอกสองคนคือ ไลรา เบลัคควา และ วิล แพร์รี่ ซึ่งได้ผจญภัยร่วมกันไปในดินแดนของโลกคู่ขนาน อันเป็นโครงเรื่องหลักของนิยายเรื่องนี้ ในนิยายมีองค์ประกอบทางด้านแฟนตาซี เช่น แม่มด หรือหมีขั้วโลกสวมเกราะ ขณะเดียวกันก็มีแนวความคิดด้านศาสตร์ต่างๆ เช่น ฟิสิกส์ ปรัชญา และเทววิทยาเชิงทดลอง (อันหมายถึง วิทยาศาสตร์) โดยเนื้อหาส่วนใหญ่นั้นเป็นการกล่าวย้ำถึงบทกลอน พาราไดซ์ ลอสท์ ของจอห์น มิลตัน พูลแมนได้กล่าวว่า การค้นหาความรู้ของมนุษยชาตินั้นดีกว่าที่จะประณามความรู้เหล่านั้น ซึ่งก็ได้กล่าวไว้ในบทกลอนของจอห์น มิลตันแล้ว เนื่องจากเหตุผลดังกล่าวและเหตุผลอื่นๆ เช่น ความรู้สึกในแง่ลบที่มีต่อองค์การศาสนา จึงทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้ได้รับคำกล่าวร้ายจากองค์การทางศาสนาบางแห่ง ...อ่านเพิ่มเติม


เพชรพระอุมา เป็นนวนิยายแนวผจญภัยที่มีขนาดความยาวมากที่สุดในประเทศไทย และนับว่าเป็นนวนิยายที่มีความยาวมากที่สุดในโลก บทประพันธ์โดย พนมเทียน ซึ่งเป็นนามปากกาของนายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ และตีพิมพ์ต่อเนื่องในหนังสือพิมพ์รายวัน ใช้ระยะเวลาในการประพันธ์ยาวนานกว่า 25 ปี โดยพนมเทียนเริ่มต้นการประพันธ์เพชรพระอุมาในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507 และสิ้นสุดเนื้อเรื่องทั้งหมดในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2533 รวมระยะเวลาในการประพันธ์ทั้งสิ้น 25 ปี 7 เดือน กับ 2 วัน...อ่านเพิ่มเติม


เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ (The Lord of the Rings) เป็นนิยายแฟนตาซีขนาดยาว ประพันธ์โดยศาสตราจารย์ชาวอังกฤษ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน เป็นนิยายที่ต่อเนื่องกับนิยายชุดก่อนหน้านี้ของโทลคีน คือ เรื่อง There and Back Again หรือที่รู้จักกันดีอีกชื่อหนึ่งว่า เดอะฮอบบิท แต่ได้ขยายโครงเรื่องซับซ้อนไปกว่า เดอะฮอบบิท มาก โทลคีนแต่งเรื่องนี้ขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2480 - 2492 (ค.ศ. 1937 - 1949) และได้วางจำหน่ายในปี ค.ศ. 1954-1955 โดยแบ่งตีพิมพ์ออกเป็น 3 ตอน เนื่องจากหนังสือมีความยาวมากจนสำนักพิมพ์เห็นว่าไม่สามารถตีพิมพ์รวมเป็นเล่มเดียวกันได้ นิยายเรื่องนี้ได้แปลไปเป็นภาษาต่างๆ มากมายไม่น้อยกว่า 38 ภาษา และได้รับยกย่องให้เป็นนิยายที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของคริสต์ศตวรรษที่ 20...อ่านเพิ่มเติม