ข้ามไปเนื้อหา

สตีฟ แนช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สตีฟ แนช
OC OBC
แนชในปี 2014
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด (1974-02-07) 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1974 (50 ปี)
โจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้
สัญชาติแคนาดา
ส่วนสูงที่ระบุ6 ft 3 in (1.91 m)
น้ำหนักที่ระบุ178 lb (81 kg)[1]
ข้อมูลอาชีพ
ไฮสกูลSt. Michaels
(Victoria, British Columbia)
วิทยาลัยSanta Clara (1992–1996)
การดราฟต์เอ็นบีเอ1996 / รอบ: 1 / เลือก: 15th โอเวอร์ออล
เลือกโดยฟีนิกส์ ซันส์
การเล่นอาชีพ1996–2015
ตำแหน่งพอยท์การ์ด
หมายเลข13, 10
Coaching career2020–present
ประวัติอาชีพ
As player:
19961998ฟีนิกส์ ซันส์
19982004ดัลลัส แมฟเวอริกส์
20042012ฟีนิกส์ ซันส์
20122015ลอสแอนเจลิส เลเกอรส์
As coach:
20202022Brooklyn Nets
สถิติอาชีพ
แต้ม17,387 (14.3 แต้มต่อเกม)
รีบาวด์3,642 (3.0 รีบาวด์ต่อเกม)
แอสซิสต์10,335 (8.5 แอสซิสต์ต่อเกม)
หอเกียรติยศบาสเกตบอลในฐานะผู้เล่น
FIBA Hall of Fame as player

สตีเฟน จอห์น แนช (Stephen John Nash) หรือ สตีฟ แนช (Steve Nash) (เกิด 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517[2] ที่โจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้)[3] เป็นอดีตนักบาสเกตบอลชาวแคนาดา

ด้วยส่วนสูงประมาณ 6 ฟุต 3 นิ้ว แนชเป็นพอยท์การ์ดตัวจริงให้กับทีมฟีนิกส์ ซันส์ในลีกเอ็นบีเอ ได้รับเลือกให้เล่นในเกมรวมดารา (All-Star Game) ในปี ค.ศ. 2005 และ 2006 และยังได้รับเลือกก่อนหน้านั้นในปี ค.ศ. 2002 และ 2003 ขณะเล่นให้กับทีมดัลลัส แมฟเวอริกส์ ในปี ค.ศ. 2005 แนช ได้รางวัลผู้เล่นทรงคุณค่า (MVP) โดยเฉือนเอาชนะแชคิล โอนีลจากทีมไมแอมี ฮีท[4] และยังได้รางวัลนี้อีกครั้งในปี ค.ศ. 2006

วัยเด็ก

[แก้]

แนช เกิดในประเทศแอฟริกาใต้เนื่องจากบิดาเขาเป็นนักฟุตบอลอาชีพ แต่ครอบครัวก็ย้ายมาตั้งหลักในประเทศแคนาดาก่อนที่แนชจะมีอายุครบสองขวบ เหตุผลที่ย้ายเพราะครอบครัวของแนชไม่ต้องการเห็นลูก ๆ ของเขาเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่มีการเหยียดสีผิว[3]

แนชมาจากครอบครัวนักกีฬา จอห์น แนช (John Nash) บิดาของเขาเคยเป็นนักฟุตบอลอาชีพในแอฟริกาใต้[2] มาร์ติน แนช (Martin Nash) น้องชายเขาได้เล่นให้กับฟุตบอลทีมชาติแคนาดามากกว่า 30 ครั้ง[5] โจแอน (Joann) น้องสาวเป็นกัปตันทีมฟุตบอลที่มหาวิทยาลัยวิกตอเรีย[6]

แนชเติบโตขึ้นที่เมืองวิกตอเรีย บริติชโคลัมเบีย และเล่นบาสเกตบอลระดับไฮสกูลที่โรงเรียนเซนต์ไมเคิลยูนิเวอร์ซิตี (St. Michaels University School)[7] ในปีสุดท้ายเขาทำได้เฉลี่ยเกือบเป็นทริปเปิล-ดับเบิลต่อเกม โดยได้เกิน 21 คะแนน 11 แอสซิสต์ และ 9 รีบาวด์ และพาทีมไปคว้าแชมป์ของรัฐบริติชโคลัมเบียในระดับ AAA และเป็นผู้เล่นแห่งปีประจำรัฐ แต่ไม่มีมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริการะดับเอ็นซีดับเบิลเอ (NCAA) ไหนที่เสนอทุนการศึกษาให้กับแนชเลย เอียน ไฮด์-เลย์ (Ian Hyde-Lay) โค้ชของเขาส่งจดหมายและเทปการเล่นของแนชไปยังมหาวิทยาลัยอเมริกันมากกว่า 30 แห่ง แต่ได้รับการปฏิเสธหรือไม่มีการตอบกลับมา[8]

แต่หัวหน้าโค้ชมหาวิทยาลัยซานตาคลารา (Santa Clara University) ดิก เดวี (Dick Davey) ได้รับคำแนะนำและขอเทปการเล่นถึงสองครั้งก่อนที่จะเดินทางจากแคลิฟอร์เนียไปพบแนชด้วยตัวเอง หลังจากชมการเล่นของแนชแล้ว แนชก็ได้รับทุนของมหาวิทยาลัยซานตาคลาราก่อนฤดูกาล 1992-93 ซึ่งต่อมาเขาก็ได้กลายเป็นนักบาสเกตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในเวสโคสต์คอนเฟอเรนซ์ (West Coast Conference, WCC) เลยทีเดียว

ระดับมหาวิทยาลัย

[แก้]

ตอนอยู่ปีหนึ่ง (ฤดูกาล 1992-93) แนชช่วยให้ซานตาคลารา หรือบรองโกส์ (Broncos) คว้าแชมป์ของทัวนาเมนต์เวสโคสต์คอนเฟอเรนซ์ และได้สิทธิ์เข้าไปเล่นในทัวนาเมนต์ของเอ็นซีดับเบิลเอโดยอัตโนมัติ แนชยังเป็นนักกีฬาปีหนึ่งคนแรกที่ได้รางวัลเอ็มวีพีในทัวนาเมนต์ WCC ส่วนในรอบแรกของทัวนาเมนต์ NCAA เขาทำให้ทีมซึ่งจัดอยู่ในอันดับ 15 เอาชนะทีมอันดับสองของสายคือ มหาวิทยาลัยแอริโซนา ด้วยคะแนน 64-61 แนชชู้ตลูกโทษได้ติดต่อกัน 6 ลูกในช่วง 31 วินาทีสุดท้ายเพื่อเก็บชัยชนะ[8]

ถึงแม้ว่าแนชจะเล่นได้ดีตอนอยู่ปีสอง (ฤดูกาล 1993-94) แต่ทีมกลับไม่ประสบความสำเร็จตามที่หวังไว้และไม่เข้าไปเล่นในทัวนาเมนต์ NCAA แต่มหาวิทยาลัยก็สามารถกลับมารุ่งอีกครั้งในปีถัดมาจากการเล่นของแนช ปีนี้แนชทำคะแนน, แอสซิสต์ และเปอร์เซนต์การชู้ตสามคะแนนเป็นอันดับแรกในคอนเฟอเรนซ์ และเป็นผู้เล่นแห่งปีของ WCC แต่แนชและเพื่อนร่วมทีมก็ไม่สามารถเอาชนะมหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปีสเตตในรอบแรก แนชเคยคิดที่จะเข้าดราฟในเอ็นบีเอหลังจากจบปีสาม แต่เปลี่ยนใจเมื่อรู้ว่าเขาจะไม่ถูกดราฟสูงกว่ารอบที่สอง จึงต้องอยู่พัฒนาฝีมือต่อในมหาวิทยาลัยอีกปี[8]

แล้วแนชก็ทำเช่นนั้น โดยช่วงปิดฤดูร้อนได้ฝึกซ้อมกับผู้เล่นเอ็นบีเอ อย่าง เจสัน คิดด์ (Jason Kidd) และ แกรี เพย์ตัน (Gary Payton) เนื่องจากตอนนั้นเขาเริ่มเป็นที่สนใจของสื่อ พอถึงฤดูกาล 1995-96 แนชพาทีมของเขาซึ่งจัดอยู่ในสายระดับปานกลางเอาชนะทีมอย่างยูซีแอลเอ และมิชิแกนสเตตในช่วงแรก ๆ ของฤดูกาล ซานตาคลาราเป็นแชมป์ WCC อีกสมัย และแนชก็เป็นผู้เล่นแห่งปีของ WCC สองสมัยติดต่อกัน[8] เขาสิ้นสุดอาชีพการเล่นระดับมหาวิทยาลัย ด้วยสถิติแอสซิสต์สูงสุดตลอดกาล คือ 510 แอสซิสต์ ชู้ตลูกโทษดีที่สุดที่ .862 (หรือ 86.2%) ชู้ตสามแต้มได้มากที่สุด (263 ครั้ง)[2]

เมื่อกันยายน ค.ศ. 2006 มหาวิทยาลัยซานตาคลารา ก็ได้รีไทร์เสื้อหมายเลข 11 ของเขา ถือเป็นนักกีฬาคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้ [9]

อาชีพการเล่นในเอ็นบีเอ

[แก้]

อยู่กับฟีนิกส์ในสมัยแรก

[แก้]

แนชได้รับเลือกเป็นคนที่ 15 ในการดราฟรอบแรกของเอ็นบีเอเมื่อปี พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) โดยทีมฟีนิกส์ ซันส์ ไม่เคยมีชาวแคนาดาคนไหนที่ถูกเลือกในอันดับสูงเช่นนี้ แต่สิ่งนี้กลับไม่มีความหมายกับแฟนของทีมซันส์และโห่ทีมที่เลือกแนช ถึงแม้ว่าเขาจะประสบความสำเร็จในระดับมหาวิทยาลัย แต่เขาไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเพราะไม่ได้เล่นให้มหาวิทยาลัยในคอนเฟอเรนซ์ที่มีชื่อเสียง เขาเล่นสำรองให้กับดาราในเอ็นบีเอคือเจสัน คิด (Jason Kidd) และเควิน จอห์นสัน (Kevin Johnson) อยู่สองปี ในปีแรก คือฤดูกาล 1996-97 แนชทำเฉลี่ยเพียง 3.3 แต้ม และ 2.1 แอสซิสต์เนื่องจากได้เล่นน้อย แต่ด้วยความพยายามเขาได้ลงสนามมากขึ้นในฤดูกาล 1997-98 และทำเฉลี่ยเพิ่มเป็น 9.1 แต้ม 3.4 แอสซิสต์ แต่ปีนั้นก็เป็นปีสุดท้ายที่แนชจะเล่นให้ทีมซันส์ก่อนที่จะไปอยู่ทีมอื่นเป็นเวลาหกปี[10]

ดัลลัส

[แก้]

แนชได้รู้จักและเป็นเพื่อนกับผู้ช่วยโค้ชทีมดัลลัส แมฟเวอริกส์ ดอนนี เนลสัน ตอนที่แนชอยู่ที่ซานตาคลารา และแนลสันทำงานให้กับทีมโกลเดนสเตท วอริเออร์ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน ต่อมาเนลสันรับงานใหม่กับทีมซันส์ เขาเป็นคนแนะให้ทีมเลือกแนช หลังจากเขาย้ายไปดัลลัส เนลสันก็ได้เสนอให้บิดาของเขา ดอน เนลสัน ซึ่งในขณะนั้นเป็นโค้ชและผู้จัดการทั่วไปของทีมแมฟเวอริกส์ดึงตัวแนชมา ในวันดราฟ มิถุนายน พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) แนช ก็ถูกเทรดจากซันส์ไปแมฟเวอริกส์เพื่อแลกกับ Martin Müürsepp, บับบา เวลส์ (Bubba Wells), สิทธิ์ในการดราฟ แพท แกร์ริตี (Pat Garrity) และสิทธิ์การดราฟรอบแรกซึ่งซันส์ใช้การเลือก ชอน แมริออน (Shawn Marion)[8]

ปีแรกที่เล่นให้ดัลลัส เป็นฤดูกาลที่สั้นกว่าปกติเนื่องจากมีการประท้วงหยุดเล่น แนชไม่ได้ลงเล่น 10 เกมเพราะเจ็บหลัง และแฟนต่างโห่แนชตลอดทั้งฤดูกาลเพราะไม่พอใจการเทรดของทีม[8]

ในฤดูกาล 1999-2000 ถึงแม้ว่าแนชจะพักไป 25 เกมจากการบาดเจ็บข้อเท้า เขากลับมาเล่นและทำดับเบิล-ดับเบิลหกครั้งในเดือนสุดท้ายของการเล่น และจบฤดูกาลทำเฉลี่ย 8.6 แต้ม 4.9 แอสซิสต์ สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือแนช และเพื่อนร่วมทีม เดิร์ก โนวิตสกี (Dirk Nowitzki) พัฒนาฝีมือไปสู่ระดับซูเปอร์สตาร์ ในขณะที่ผู้เล่นมากประสบการณ์ ไมเคิล ฟินลี (Michael Finley) ก็สร้างผลงานในระดับออลสตาร์ รวมถึงเจ้าของทีมคนใหม่ มาร์ก คิวบัน (Mark Cuban) ก็นำเอาพลังและความเร้าใจมาใส่ในทีม เหล่านี้เสริมให้แนชพัฒนาเกมการเล่นขึ้นมาก

ในฤดูกาล 2000-01 แนชทำเฉลี่ยถึง 15.3 คะแนน 7.3 แอสซิสต์ต่อเกม ได้ตำแหน่ง Comeback Player of the Year จากนิตยสาร Basketball Digest จากการนำเกมการบุกของแนช และการเล่นในระดับสูงของโนวิตสกี และ ฟินลี รวมทั้งผู้เล่นออลสตาร์ ฮวน ฮาวาร์ด ที่เข้าร่วมทีมมาเสริมการทำคะแนนของทั้งสาม แมฟเวอริกส์ได้เข้าเล่นในเพลย์ออฟเป็นครั้งแรกในรอบสิบปี ดัลลัสแพ้ในรอบที่สอง แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าเพลย์ออฟติดต่อกันหลายสมัยของแนชและแมฟเวอริกส์

ฤดูกาล 2001-02 แนชทำได้สูงสุดในอาชีพ ที่ 17.9 คะแนน 7.7 แอสซิสต์ และได้เข้าเล่นในเกมรวมดาราของเอ็นบีเอ และได้เลือกเป็น ออล-เอ็นบีเอ ทีมสาม ตอนนี้เขาเป็นออลสตาร์ เริ่มปรากฏในโฆษณาทางโทรทัศน์ และเป็นส่วนหนึ่งของ Big Three ร่วมกับฟินลี และ โนวิตสกี ทั้งสามยังปรากฏตัวร่วมกันในภาพยนตร์ Like Mike ดัลลัสได้เล่นเพลย์ออฟอีกครั้ง และตกรอบสอง แต่ทีมก็มีความหวังมากขึ้นในฤดูกาลต่อไป

แนชเกือบจะทำได้เหมือนฤดูกาลก่อนหน้านั้น ในปี 2002-03 เฉลี่ยได้ 17.7 แต้ม 7.3 แอสซิสต์ต่อเกม ได้เข้าเล่นในออลสตาร์และเลือกเป็น ออล-เอ็นบีเอ ทีมสาม อีกครั้ง แนชและโนวิตสกีเปิดฤดูกาลโดยการชนะติดต่อกัน 14 เกม ซึ่งนำไปสู่เพลย์ออฟรอบสุดท้ายของสายตะวันตก และแพ้ให้กับซานแอนโตนิโอ สเปอรส์ซึ่งคว้าแชมป์ในปีนั้น

แต่แนช และ Big Three ไปได้ไกลสุดเพียงแค่นี้ ฤดูกาล 2003-04 แนชทำคะแนนตกลงเหลือ 14.5 ต่อเกมและไม่ได้เล่นในออลสตาร์และไม่ติดทีม ออล-เอ็นบีเอ แต่เปอร์เซนต์การชู้ตสูงขึ้นจากฤดูกาลที่แล้ว 46.5 ไปเป็น 47% แอสซิสต์เฉลี่ย 8.8 และเปอร์เซนต์การชู้ตลูกโทษ 91.6% ถือเป็นค่าสูงสุดตลอดอาชีพการเล่น อย่างไรก็ตาม ดัลลัสไม่สามารถผ่านเพลย์ออฟรอบแรกได้ เป็นผลงานที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่ฤดูกาล 1999-2000

และเมื่อสัญญาของแนชหมดอายุลง แนชพยายามเจรจาเซ็นสัญญาระยะยาวกับ มาร์ก คิวบัน แต่ก็ไม่สำเร็จ คิวบันไม่ต้องการสูญเสียแนชไป แต่ต้องการสร้างทีมของเขาจากโนวิตสกี และไม่อยากเสี่ยงเซ็นสัญญาระยะยาวกับแนชที่มีอายุมากแล้ว คิวบันจึงได้เสนอสัญญา 4 ปี มูลค่าประมาณ 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และโอกาสสำหรับปีที่ 5 ถ้าเล่นดี คิวบันเขียนบันทึกไว้ว่าเป็นสัญญาที่ยุติธรรมและถ้าแนชได้ข้อเสนอที่ดีกว่า แนชก็ควรที่จะรับไว้และเขาก็จะยินดีด้วย แนชค้นหาข้อตกลงอื่นและสุดท้ายลงเอยกับฟีนิกส์ ซึ่งเขาก็ยังมีบ้านอยู่ ซันส์เสนอแนช ซึ่งขณะนั้นอายุ 30 ปีแล้ว ด้วยสัญญาระยะ 6 ปีรวมเป็นเงิน 63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แนชลังเลที่จะออกจากดัลลัสและถามคิวบันว่าจะเสนอสัญญาระดับเดียวกันหรือไม่ ซึ่งคิวบันลังเลและแนชก็เซ็นกับซันส์ในที่สุด

อยู่กับฟีนิกส์สมัยที่สอง

[แก้]

ฟีนิกส์ซันส์มีผู้เล่นอายุน้อยแต่อยู่ระดับซูเปอร์สตาร์สองคน คือ ฟอร์เวิร์ด ชอน แมริออน และฟอร์เวิร์ด-เซ็นเตอร์ อามาเร สเตาเดอไมร์ (Amare Stoudemire) ซึ่งได้รับรางวัลผู้เล่นหน้าใหม่ยอดเยี่ยมแห่งปี (Rookie of the Year) ของฤดูกาล 2002-03 ถึงแม้ว่าจะมีผู้เล่นที่มีพรสวรรค์และอายุไม่มาก แต่ทีมก็ทำสถิติชนะเพียง 29 เกมแพ้ 53 เกมในฤดูกาล 2003-04 ทีมแทบไม่เปลี่ยนแปลงนอกจากแนชและสวิงแมน เควนติน ริชาร์ดสัน (Quentin Richardson) นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าทีมจะได้ผลงานอยู่ระดับล่าง ๆ ของคอนเฟอเรนส์ตะวันตก

หัวหน้าโค้ช ไมค์ แดนโทนี (Mike D'Antoni) ผู้เข้ามารับตำแหน่งกลางฤดูกาลที่ผ่านมา ปรับมาใช้แผนการเล่นแบบ รันแอนด์กัน (run and gun) ซึ่งเคยนิยมในสมัยคริสต์ทศวรรษ 1980 ใช้ผู้เล่นตัวเล็กและคล่องแคล่ว แดนโทนีให้แนชเล่นเกมบุกแบบฟาสต์เบรก (fastbreak) พยายามวิ่งแซงผู้เล่นทีมรับฝ่ายตรงข้ามไปเข้าทำคะแนนที่ห่วง ทุกคนได้สิทธิ์ในการชู้ตลูกตลอดเวลา ผลลัพธ์ที่ได้คือทีมที่ทำคะแนนได้สูงสุดในทศวรรษ โดยทำได้เฉลี่ย 110.4 คะแนนต่อเกมในฤดูกาลปกติ การส่งลูกที่แม่นยำของแนช ไปยัง สเตาเดอไมร์ แมริออน ริชาร์ดสัน และ โจ จอห์นสัน (Joe Johnson) เพื่อยัดลงห่วงหรือที่เรียกว่า alley oop ปรากฏในทีวีเป็นเพลย์เด่น ๆ จำนวนมาก

ซันส์ทำสถิติชนะ 31 แพ้ 5 ก่อนที่แนชจะบาดเจ็บในเกมถัดไป ซันส์แพ้ติดต่อกันสามเกมที่แนชไม่ได้ลงเล่น หลังจากแนชกลับเข้าทีม ทีมก็ชนะ 4 ใน 5 เกม และ 8 ใน 9 เกมถัดไป ซันส์จบฤดูกาลด้วยสถิติที่ดีที่สุดของเอ็นบีเอ คือ ชนะ 62 แพ้ 20 ซึ่งชนะมากกว่าฤดูกาลก่อนถึง 33 เกม

แนช ในตำแหน่งพอยท์การ์ดตัวจริง เป็นคนที่นำทีมให้กลับมาเก่งอีกครั้ง แม้ว่าเขาทำคะแนนเฉลี่ยเพียง 15.5 แต้มต่อเกม แต่เปอร์เซนต์การชู้ตของเขาอยู่ที่ 50.2% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในอาชีพการเล่น และไม่ค่อยพบในตำแหน่งการ์ด สิ่งที่น่าประทับใจอีกอย่างคือแอสซิสต์เฉลี่ยที่ 11.5 ต่อเกม ซึ่งสูงสุดในอาชีพการเล่น และดีที่สุดในเอ็นบีเอฤดูกาลนั้น ในขณะที่ผู้เล่นอื่นทำได้ไม่เกิน 9 แนชยังทำดับเบิล-ดับเบิลรวมมากเป็นอันดับสาม รองจากเควิน การ์เน็ตและชอน แมริออน และทำทริปเปิล-ดับเบิลครั้งที่สองในอาชีพเมื่อ 30 มีนาคม โดยได้ 12 คะแนน 12 แอสซิสต์ และ 13 รีบาวด์ในเวลาเพียง 27 นาที แนชมีส่วนช่วยทีมมากที่สุดโดยการทำให้เพื่อนร่วมทีมเล่นดีขึ้น พวกเขาทำสถิติหลายอย่างดีที่สุดเท่าที่เคยเล่น ทั้งเพื่อนร่วมทีมและบุคคลภายนอกต่างยกความดีความชอบให้กับแนช ในปีนั้นแนชคว้ารางวัลผู้เล่นทรงคุณค่าเมื่อจบฤดูกาลปกติโดยเฉือนเอาชนะแชคิล โอนีล ถือเป็นผู้เล่นชาวแคนาดาคนแรกที่ได้รางวัลนี้ และเป็นคนที่สามที่เกิดนอกสหรัฐอเมริกาที่ได้รางวัล (ต่อจาก ฮาคึม โอลาจูวอน และ ทิม ดังแคน)

ในเพลย์ออฟ ฟีนิกส์เอาชนะเมมฟิส กริซลีส์ในรอบแรกก่อนที่จะพบกับทีมเก่าของเขาในรอบที่สอง แนชนำทีมชนะดัลลัส แมฟเวอริกส์ 4 เกมต่อ 2 ในการเล่นรอบสุดท้ายของสายตะวันออก ซันส์แพ้ทีมซานแอนโตนิโอ สเปอรส์ ใน 5 เกม ถึงแม้ว่าจะแพ้แต่แนชและซันส์ก็ยินดีกับการพัฒนาการและแนวโน้มที่ดีในอนาคต

ฤดูกาล 2005-2006

[แก้]

ฤดูกาลนี้ซันส์ขาดผู้เล่นตำแหน่งเซ็นเตอร์ที่แท้จริง และ มีผู้เล่นที่ยังไม่ค่อยได้ลงเล่นหลายคน เนื่องจากการบาดเจ็บ โดยเฉพาะอามาเร สเตาเดอไมร์ ผู้เล่นคนสำคัญซึ่งทั้งฤดูกาลได้เล่นเพียง 3 เกม จึงไม่ได้คาดว่าซันส์จะประสบความสำเร็จเท่าฤดูกาลที่แล้ว แต่ด้วยการนำทีมของแนช และการเล่นที่โดดเด่นของแมริออน และ ดิออ ซันส์ยังเป็นทีมที่เก่งในเอ็นบีเอ ซันส์ยังทำคะแนนสูงสุดในเอ็นบีเอ เฉลี่ยเกิน 100 ต่อเกม แนชถูกเลือกให้เป็นตัวจริงในการแข่งออลสตาร์ ฤดูกาลนี้แนชร่วมกับแมริออนนำทีมซันส์ให้ชนะ 54 เกมเป็นแชมป์สายแปซิฟิก แนชยังได้รางวัลผู้เล่นทรงคุณค่าอีกครั้งเป็นสมัยที่สองติดต่อกัน และถือเป็นการ์ดคนที่สองที่ได้รับรางวัลนี้มากกว่าหนึ่งครั้ง (อีกคนคือ แมจิก จอห์นสัน) รอบเพลย์ออฟฤดูกาลนี้ ซันส์เข้าถึงรอบชิงคอนเฟอเรนซ์ตะวันตกเช่นเดียวกับฤดูกาลที่แล้วและแพ้ให้กับทีมดัลลัส แมฟเวอริกส์

ฤดูกาล 2006-2007

[แก้]

ฤดูกาลนี้ แนชยังมีผลงานดีมากเช่นเคย เล่นเฉลี่ย 18.6 คะแนนและ 11.6 แอสซิสต์ต่อเกม ซึ่งเป็นค่าแอสซิสต์เฉลี่ยสูงสุดตลอดอาชีพการเล่น อีกทั้งยังเป็นคนแรกที่ทำได้ 18 แต้ม 11 แอสซิสต์ตลอดฤดูกาลปกติต่อจาก แมจิก จอห์นสัน ซึ่งเคยทำได้ในฤดูกาล 1990-91 ได้รับเลือกเป็น ออล-เอ็นบีเอ ทีมแรก พร้อมกับ อามาเร สเตาเดอไมร์ เพื่อนร่วมทีม[11] และเกือบได้รางวัลผู้เล่นทรงคุณค่าติดต่อกันสามปีซ้อน โดยเป็นรอง เดิร์ก โนวิตสกี[12]

สถิติตลอดอาชีพการเล่นในเอ็นบีเอ

[แก้]
สถิติเมื่อ 25 ธันวาคม ค.ศ. 2007[10]
ฤดูกาลปกติ ทีม เกม นาที/เกม สตีล/เกม บล็อก/เกม รีบาวด์/เกม แอสซิสต์/เกม คะแนน/เกม %การชู้ต %การชู้ตสามแต้ม %ลูกโทษ
1996–97 ฟีนิกส์ 65 10.5 0.3 0.0 1.0 2.1 3.3 0.423 0.418 0.824
1997–98 ฟีนิกส์ 76 21.9 0.8 0.0 2.1 3.4 9.1 0.459 0.415 0.860
1998–99 ดัลลัส 40 31.7 0.9 0.0 2.9 5.5 7.9 0.363 0.374 0.826
1999–2000 ดัลลัส 56 27.4 0.7 0.0 2.2 4.9 8.6 0.477 0.403 0.882
2000–01 ดัลลัส 70 34.1 1.0 0.1 3.2 7.3 15.6 0.487 0.406 0.895
2001–02 ดัลลัส 82 34.6 0.6 0.0 3.1 7.7 17.9 0.483 0.455 0.887
2002–03 ดัลลัส 82 33.1 1.0 0.1 2.9 7.3 17.7 0.465 0.413 0.909
2003–04 ดัลลัส 78 33.5 0.9 0.1 3.0 8.8 14.5 0.470 0.405 0.916
2004–05 ฟีนิกส์ 75 34.3 1.0 0.1 3.3 11.5 15.5 0.502 0.431 0.887
2005–06 ฟีนิกส์ 79 35.4 0.8 0.2 4.2 10.5 18.8 0.512 0.439 0.921
2006–07 ฟีนิกส์ 76 35.3 0.8 0.1 3.5 11.6 18.6 0.532 0.455 0.899
2007–08 ฟีนิกส์ 27 34.6 0.6 0.0 3.8 12.4 17.3 0.516 0.468 0.933
เฉลี่ยตลอดอาชีพการเล่น 30.6 0.8 0.0 2.9 7.7 14.1 0.484 0.427 0.898
รวมตลอดอาชีพการเล่น 806 24,683 642 57 2,354 6,224 11,373 4,109-8,481 1,124-2,630 2,031-2,262
เพลย์ออฟ ทีม เกม นาที/เกม สตีล/เกม บล็อก/เกม รีบาวด์/เกม แอสซิสต์/เกม คะแนน/เกม %การชู้ต %การชู้ตสามแต้ม %ลูกโทษ
1996–97 ฟีนิกส์ 4 3.8 0.2 0.2 0.3 0.3 1.3 0.222 0.250 0.000
1997–98 ฟีนิกส์ 4 12.8 0.5 0.0 2.5 1.8 5.5 0.444 0.200 0.625
2000–01 ดัลลัส 10 37.0 0.6 0.1 3.2 6.4 13.6 0.417 0.410 0.882
2001–02 ดัลลัส 8 40.4 0.5 0.0 4.0 8.8 19.5 0.432 0.444 0.971
2002–03 ดัลลัส 20 36.5 0.8 0.0 3.5 7.3 16.1 0.447 0.487 0.873
2003–04 ดัลลัส 5 39.4 0.8 0.0 5.2 9.0 13.6 0.386 0.375 0.889
2004–05 ฟีนิกส์ 15 40.7 0.9 0.2 4.8 11.3 23.9 0.520 0.389 0.919
2005–06 ฟีนิกส์ 20 39.9 0.4 0.2 3.7 10.2 20.4 0.502 0.368 0.912
2006–07 ฟีนิกส์ 11 37.5 0.4 0.1 3.2 13.3 18.9 0.463 0.487 0.891
เฉลี่ยตลอดอาชีพการเล่น 97 36.1 0.6 0.1 3.6 8.8 17.3 0.468 0.419 0.899

การเล่นระหว่างประเทศ

[แก้]

ช่วงปิดภาคฤดูร้อนสมัยที่แนชเรียนอยู่ปีหนึ่ง แนชเป็นตัวแทนทีมบริติชโคลัมเบียในการแข่งแคนาดาเกมส์ และเล่นทีมชาติแคนาดาในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก โดยแนชได้เหรียญทองแดงและเหรียญเงิน ตามลำดับ[8]

แนชเป็นกัปตันทีมชาติแคนาดาในการแข่งกีฬาโอลิมปิกปี 2000 ที่ซิดนีย์ นักวิจารณ์กีฬาคาดว่าแคนาดาจะมีสิทธิ์ลุ้นเหรียญรางวัล เมื่อทีมสามารถผ่านเข้าสู่รอบก่อนรองสุดท้าย ทีมแพ้ฝรั่งเศสไป 5 คะแนนแต่เอาชนะรัสเซีย ได้อันดับ 7 ของทั้งหมด

แนชนำทีมแคนาดาอีกครั้งในรอบคัดเลือกเพื่อแข่งในโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2004 แนชผิดหวังที่ไม่สามารถพาทีมไปอยู่สามอันดับแรกได้ ทำให้พลาดโอกาสไปแข่งโอลิมปิกส์

ฟุตบอล

[แก้]

แนชยังมีความสนใจกีฬาฟุตบอล และเคยเล่นฟุตบอลสมัยเด็ก ก่อนที่จะหันมาเล่นบาสเกตบอลเมื่ออยู่เกรดแปด เคยได้แชมป์ระดับรัฐสมัยอยู่ไฮสคูลและได้รางวัลผู้เล่นทรงคุณค่า[7] ซึ่งแนชกล่าวว่าเป็นความทรงจำที่ชอบที่สุดเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับกีฬา (one of my fondest memories in sports.)[13] เนื่องจากบิดาของเขาเป็นคนเมืองทอตแนมทางตอนเหนือของลอนดอน[3] แนชเชียร์ทีมสโมสรทอตแนมฮ็อตสเปอร์ อีกทั้งเคยพูดว่าต้องการเป็นเจ้าของทีมฮ็อตสเปอร์อีกด้วย[14] แนชเคยลงซ้อมกับทีมเรดบูลส์ ซึ่งเป็นทีมฟุตบอลในเมเจอร์ลีกซอกเกอร์เมืองนิวยอร์ก[13]

นอกสนาม

[แก้]

แนชก่อตั้งมูลนิธิสตีฟ แนช เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาส เขาได้ปฏิเสธงานโฆษณาหลายงานหลังจากที่คว้ารางวัลผู้เล่นทรงคุณค่าและเลือกที่จะเดินทางเพื่อการกุศลในอเมริกากลาง แนชยังใช้เวลาเยี่ยมเด็กที่ป่วยตามโรงพยาบาล

แนชยังแตกต่างจากผู้เล่นเอ็นบีเอคนอื่นตรงที่เขาสนใจด้านศิลปะและการเมือง เขาเลือกที่จะใส่เสื้อยืดที่เขียนข้อความว่า "No war -- Shoot for peace" เพื่อต่อต้านการที่สหรัฐโจมตีอิรักในเกมเอ็นบีเอ ออลสตาร์ ปี 2003 เขาอธิบายกับสื่อว่าสหรัฐไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าอิรักเป็นภัยคุกคามและควรปล่อยให้ผู้ตรวจสอบจากสหประชาชาติได้ทำหน้าที่จนเสร็จก่อน

เมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2547 แนชกับแฟนของเขา อะเลจานดรา อะแมริลลา (Alejandra Amarilla) ก็มีลูกสาวฝาแฝดชื่อ ลอลา (Lola) และ เบลลา (Bella) แนชและแฟนสาวแต่งงานกันในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2548

สรุปผลงานการเล่น

[แก้]
  • ทีมแรก: 2005, 2006, 2007
  • ทีมที่สาม: 2002, 2003
  • แอสซิสต์ต่อเกมเป็นอันดับหนึ่ง ในเอ็นบีเอฤดูกาลปกติ 3 ครั้ง: 2005 (11.5), 2006 (10.5), 2007 (11.6)[2]
  • แอสซิสต์รวมเป็นอันดับหนึ่ง ในเอ็นบีเอฤดูกาลปกติ 3 ครั้ง: 2005 (861), 2006 (826), 2007 (884)[2]
  • เปอร์เซนต์การชู้ตลูกโทษเป็นอันดับหนึ่ง ในเอ็นบีเอฤดูกาลปกติ: 2006 (.921)[2]
  • แอสซิสต์ต่อการเล่น 48 นาทีเป็นอันดับหนึ่ง ในเอ็นบีเอฤดูกาลปกติ 4 ครั้ง: 2004 (12.6),[15] 2005 (16.1),[16] 2006 (14.2),[17] 2007 (15.8)[18]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Steve Nash". National Basketball Association. สืบค้นเมื่อ 28 March 2020.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 ประวัติผู้เล่นจาก NBA.com profile (เรียกดูข้อมูล 22 ธันวาคม พ.ศ. 2550)
  3. 3.0 3.1 3.2 PROFILE: Steve Nash[ลิงก์เสีย], Canoe.ca, 27 กันยายน ค.ศ. 2000 (เรียกดูข้อมูล 22 ธันวาคม พ.ศ. 2550)
  4. Steve Nash is NBA Most Valuable Player, InsideHoops.com, 5 พฤษภาคม ค.ศ. 2005 (เรียกดูข้อมูล 22 ธันวาคม ค.ศ. 2007)
  5. ข้อมูล Martin Nash เก็บถาวร 2009-04-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Canada Soccor.com (เรียกดูข้อมูล 22 ธันวาคม ค.ศ. 2007)
  6. Not to Get Too Mystical About It, New York Times, 28 ตุลาคม ค.ศ. 2007 (เรียกดูข้อมูล 22 ธันวาคม ค.ศ. 2007)
  7. 7.0 7.1 The Canadian Kid, Fastbreak Magazine, กันยายน/ตุลาคม ค.ศ. 1996 (เรียกดูข้อมูล 22 ธันวาคม ค.ศ. 2007)
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 Steve Nash เก็บถาวร 2016-06-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, jockbio.com (เรียกดูข้อมูล 30 ธันวาคม ค.ศ. 2007)
  9. Former SCU Basketball Star Steve Nash Honored by Alma Mater, scu.edu, 18 กันยายน ค.ศ. 2006 (เรียกดูข้อมูล 30 ธันวาคม ค.ศ. 2007)
  10. 10.0 10.1 Steve Nash Career Stats, NBA.com (เรียกดูข้อมูล 25 ธันวาคม ค.ศ. 2007)
  11. Bryant, Nowitzki, Duncan also part of All-NBA team, ESPN, 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 (เรียกดูข้อมูล 22 ธันวาคม พ.ศ. 2550)
  12. Dirk Nowitzki Wins 2006-07 MVP Award, NBA.com, 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 (เรียกดูข้อมูล 22 ธันวาคม พ.ศ. 2550)
  13. 13.0 13.1 NBA's Nash gets his kicks with MLS, USAToday, 10 สิงหาคม ค.ศ. 2006 (เรียกดูข้อมูล 22 ธันวาคม ค.ศ. 2007)
  14. NBA's biggest star shows interest in Spurs, Guardian.co.uk, 31 ตุลาคม ค.ศ. 2007 (เรียกดูข้อมูล 22 ธันวาคม ค.ศ. 2007)
  15. NBA statistics for 2003-04 NBA season - Assists: Per 48 Minutes, ESPN (เรียกดูข้อมูล 25 ธันวาคม ค.ศ. 2007)
  16. NBA statistics for 2004-05 NBA season - Assists: Per 48 Minutes, ESPN (เรียกดูข้อมูล 25 ธันวาคม ค.ศ. 2007)
  17. NBA statistics for 2005-06 NBA season - Assists: Per 48 Minutes, ESPN (เรียกดูข้อมูล 25 ธันวาคม ค.ศ. 2007)
  18. NBA statistics for 2006-07 NBA season - Assists: Per 48 Minutes, ESPN (เรียกดูข้อมูล 25 ธันวาคม ค.ศ. 2007)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]