ศูนย์อุตุนิยมวิทยาชำนัญพิเศษประจำภูมิภาค
ส่วนหนึ่งของชุดบทความเรื่อง |
พายุหมุนเขตร้อน |
---|
โครงร่างของพายุหมุนเขตร้อน สถานีย่อยพายุหมุนเขตร้อน |
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาชำนัญพิเศษประจำภูมิภาค (อังกฤษ: Regional Specialized Meteorological Center, ย่อว่า RSMC) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการเผยแพร่ข้อมูล คำแนะนำ และคำเตือนทางอุตุนิยมวิทยาในภูมิภาคที่ตนเองตั้งอยู่ ได้รับการยอมรับโดยความเห็นพ้องที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกในฐานะส่วนหนึ่งของหน่วยงานการเฝ้าระวังสภาพอากาศโลก
พายุหมุนเขตร้อน
[แก้]ศูนย์อุตุนิยมวิทยาชำนัญพิเศษศูนย์หนึ่ง ๆ เป็นผู้รับผิดชอบตรวจหาพายุหมุนเขตร้อนในภูมิภาคที่ตนเองรับผิดชอบ และเผยแพร่ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับบริเวณความกดอากาศต่ำที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมทั้งตำแหน่ง การเคลื่อนที่ และความรุนแรงของบริเวณความกดอากาศเหล่านั้น[1] โดยมีศูนย์อุตุนิยมวิทยาชำนัญพิเศษดังกล่าว 6 ศูนย์ รวมกับศูนย์เตือนภัยพายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone Warning Center, ย่อว่า TCWC) ในระดับภูมิภาคอีก 6 ศูนย์ ทั้งหมดทำหน้าที่ออกประกาศเตือนภัยพายุหมุนเขตร้อนเป็นการสาธารณะ และช่วยเหลือหน่วยงานทางอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาของประเทศต่าง ๆ ในการเตรียมข้อมูลเตือนภัยสำหรับประเทศของตน[1][2] นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ทุกศูนย์ยังรับผิดชอบการตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อนเมื่อพายุเหล่านั้นก่อตัวเป็นพายุโซนร้อนในพื้นที่รับผิดชอบของตน (ยกเว้นศูนย์ฯ เรอูว์นียง และศูนย์ฯ เวลลิงตัน)
- ศูนย์เฮอร์ริเคนแห่งชาติ (National Hurricane Center, NHC) ของสหรัฐอเมริกาเป็น ศูนย์อุตุนิยมวิทยาชำนัญพิเศษประจำภูมิภาค ไมแอมี รับผิดชอบการติดตามการเคลื่อนที่ของพายุหมุนเขตร้อนภายในแอ่งแอตแลนติกและแอ่งแปซิฟิกตะวันออก
- ศูนย์เฮอร์ริเคนแปซิฟิกกลาง (Central Pacific Hurricane Center, CPHC) ของสหรัฐอเมริกาเป็น ศูนย์อุตุนิยมวิทยาชำนัญพิเศษประจำภูมิภาค โฮโนลูลู รับผิดชอบจัดหาดาวเทียมถาวรสำหรับแอ่งแปซิฟิกตะวันตกและแอ่งแปซิฟิกใต้ และการเตือนภัยพายุหมุนเขตร้อนสำหรับแอ่งแปซิฟิกกลางและแอ่งแปซิฟิกตะวันออกในกรณีที่ศูนย์เฮอร์ริเคนแห่งชาติกำลังมีภาระมากในแอ่งแอตแลนติกหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยกรณีใด ๆ ก็ตาม
- สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (Japan Meteorological Agency, JMA) เป็น ศูนย์อุตุนิยมวิทยาชำนัญพิเศษประจำภูมิภาค โตเกียว รับผิดชอบการออกคำเตือนในแอ่งแปซิฟิกตะวันตก
- กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย (India Meteorological Department, IMD) เป็น ศูนย์อุตุนิยมวิทยาชำนัญพิเศษประจำภูมิภาค นิวเดลี รับผิดชอบการติดตามการเคลื่อนที่ของพายุหมุนเขตร้อนในแอ่งมหาสมุทรอินเดียเหนือ
- เมเตโอ-ฟร็องส์ เรอูว์นียง (Météo-France La Réunion, MFR) ของฝรั่งเศสเป็น ศูนย์อุตุนิยมวิทยาชำนัญพิเศษประจำภูมิภาค เรอูว์นียง รับผิดชอบการออกคำเตือนและการติดตามการเคลื่อนที่ของพายุหมุนเขตร้อน อย่างไรก็ตาม การตั้งชื่อกับระบบพายุหมุนเขตร้อนนั้นถูกโอนไปเป็นหน้าที่ของศูนย์บริการสภาพอากาศของมอริเชียสและมาดากัสการ์
- ภายในภูมิภาคออสเตรเลีย มีศูนย์เตือนภัยพายุหมุนเขตร้อน 5 ศูนย์เป็นผู้รับผิดชอบการตั้งชื่อและการติดตามการเคลื่อนที่ของพายุหมุนเขตร้อน โดยศูนย์ 3 ศูนย์ในจำนวนนี้ดำเนินงานและตั้งอยู่ในสำนักงานสาขาของ สำนักอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลีย (Bureau of Meteorology) ที่เมืองเพิร์ท, ดาร์วิน และบริสเบน และใช้รายชื่อพายุระดับชาติรายชื่อเดียวกัน ส่วนอีก 2 ศูนย์ตั้งอยู่ที่กรุงพอร์ตมอร์สบีของปาปัวนิวกินี และกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย
- ภายในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ กรมอุตุนิยมวิทยาฟีจี (Fiji Meteorological Service, FMS) เป็น ศูนย์อุตุนิยมวิทยาชำนัญพิเศษประจำภูมิภาค นันจี รับผิดชอบการตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อนในแอ่งนี้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม สำนักงานบริการอุตุนิยมวิทยานิวซีแลนด์ (Meteorological Service of New Zealand, MetService) ซึ่งเป็น ศูนย์เตือนภัยพายุหมุนเขตร้อน เวลลิงตัน ทำหน้าที่ออกพยากรณ์อากาศในพื้นที่ใต้ละติจูดที่ 25 องศาใต้ลงไป
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 RA V Tropical Cyclone Committee for the South Pacific and the South-East Indian Ocean. Fact-Finding Mission to Fiji, Nadi and Suva, Fiji, 9-13 July 2007 (Mission Report). World Meteorological Organization.
- ↑ "Latest Advisories on Current Tropical Cyclones Hurricanes Typhoons". World Meteorological Organization. สืบค้นเมื่อ 1 April 2015.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ศูนย์เฮอร์ริเคนแห่งชาติสหรัฐอเมริกา - มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือและแปซิฟิกตะวันออก
- ศูนย์เฮอร์ริเคนแปซิฟิกกลาง เก็บถาวร 2011-09-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - มหาสมุทรแปซิฟิกกลาง
- สำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น - มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ
- กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย - อ่าวเบงกอลและทะเลอาหรับ
- เมเตโอ-ฟร็องส์ ลาเรอูว์นียง - มหาสมุทรอินเดียใต้จากแอฟริกาถึงเส้นเมริเดียนที่ 90 องศาตะวันออก
- กรมอุตุนิยมวิทยาฟีจี - มหาสมุทรแปซิฟิกใต้ทางตะวันออกของเส้นเมริเดียนที่ 160 องศาตะวันออก, ทางเหนือของเส้นขนานที่ 25 องศาใต้