ข้ามไปเนื้อหา

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร
ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ป้ายชื่อเดิมของศูนย์ฯ
ภาพรวมหน่วยงาน
ผู้ก่อตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
หน่วยงานก่อนหน้า
  • ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
สำนักงานใหญ่เลขที่ 59 หมู่ 4 ตำบลช้างใหญ่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13290
คำขวัญหัตถกรรมสืบสาน สรรสร้างอาชีพเสริม เพิ่มพูนรายได้ สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
บุคลากร118 คน
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • นายพิษณุ สำรี, ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร
หน่วยงานแม่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ต้นสังกัดหน่วยงานสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี
เว็บไซต์alro.go.th/th/centre_handcrafts
แผนที่
แผนที่
ส่วนจัดแสดงผลงานศิลปาชีพภายในศาลาพระมิ่งขวัญ

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร (อังกฤษ: Center for the promotion and development of additional careers outside of agriculture) หรือที่รู้จักกันในชื่อของ ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างใหญ่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ปัจจุบันศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตรอยู่ในความดูแลของ สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 เป็นต้นมา

ประวัติ

[แก้]

ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

[แก้]

ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ ดำเนินงานโดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่ก่อตั้งมูลนิธิเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งทรงโปรดให้ศูนย์ฯ เป็นแหล่งสำหรับเรียนรู้ด้านศิลปหัตถกรรมของประเทศไทย ทั้งด้านภูมิปัญญา การฝึกฝน ส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลสำหรับเป็นรายได้เสริมนอกเวลาทำการเกษตร[1] โดยตั้งอยู่ในที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม[2]ที่มาจากที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ประมาณ 700 ไร่ และการจัดซื้อเพิ่มอีก 200 ไร่ ร่วมประมาณ 1,000 ไร่ จากการค้นหาพื้นที่ของ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร รองประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษฯ ในปี พ.ศ. 2523 โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถฯ ได้เสด็จมาเปิดศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2527[3] และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้าง ดูแล และเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการสนับสนุนและดูแลศูนย์ฯ ส.ป.ก. จึงได้จัดตั้ง "ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมศิลปาชีพ" เพื่อมาดูแลศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ และรับสมัครรวมถึงคัดเลือกยุวเกษตรกร บูตรหลานของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน และบุคคลภายนอกที่สนใจเข้ารับการฝึกอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร[4] จากนั้นในปี พ.ศ. 2531 ได้เปลี่ยนชื่อมูลนิธิเป็น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง[3]

พระราชดำรัสส่วนหนึ่งของพระองค์ได้ตรัสว่า[5]

….ข้าพเจ้านั้นภูมิใจเสมอมาว่า คนไทยมีสายเลือดของช่างฝีมืออยู่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา หรืออาชีพใด อยู่สารทิศใด คนไทยมีความละเอียดอ่อนและฉับไวต่อการรับศิลปะทุกชนิดขอเพียงแต่ให้เขาได้มีโอกาสฝึกฝน เขาก็จะแสดงความสามารถออกมาให้เห็น

— สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2532 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา

ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร ได้ปิดให้บริการเยี่ยมชมจากบุคคลภายนอกเนื่องจากเหตุการณ์การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทยช่วงปี พ.ศ. 2563 และปิดให้บริการมาตลอดหลังจากนั้น[6]

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร

[แก้]

ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ โอนคืนพื้นที่ ทรัพย์สิน และภารกิจของศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ ให้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม[7] ตามหนังสือสำนักพระราชวัง ที่ พว. 0202.2/2154 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ โอนคืนพื้นที่ ทรัพย์สิน และภารกิจของศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้แก่ ส.ป.ก.[6]

วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ดำเนินการทำพิธีลงนามรับมอบทรัพย์สิน ผลิตภัณฑ์ และภารกิจของศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ จากศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเมื่อ ณ หอประชุมหม่อมราชวงศ์หญิงรสลินคัดคณางค์ โดยมี นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. พร้อมคณะผู้บริหารเป็นผู้รับมอบจาก พลเอก เธียรศักดิ์ พะลายานนท์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ และนายสมจิตต์ โสมวิเศษ หัวหน้าสำนักผู้อำนวยการ[7]

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตรเปิดให้บริการเยี่ยมชมอีกครั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 โดยปรับรูปแบบเป็นการเปิดให้ชมเป็นคณะซึ่งหน่วยงานที่สนใจสามารถทำหนังสือเพื่อขอเข้าชมมายังเลขาธิการ ส.ป.ก. ได้โดยตรง[6]

โครงสร้าง

[แก้]

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร ประกอบด้วยบุคลากรจำนวน 118 คน มีโครงสร้างการบริหารงาน[8] ดังนี้

  • งานบริหารทั่วไป
  • งานบริหารจัดการทรัพย์สินและผลประโยชน์
  • งานนโยบาย แผนงาน งบประมาณและติดตามประเมินผล
  • งานฝึกอบรมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์
  • งานบำรุงรักษา อาคารสถานที่และยานพาหนะ

การฝึกอบรมศิลปาชีพ

[แก้]
การส่งเสริมพัฒนาอาชีพภายในศูนย์

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร เปิดให้ฝึกอบรมศิลปาชีพในด้านต่าง ๆ รวม 12 แผนก โดยรับสมัครและคัดเลือกนักเรียนผ่านสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดทั้ง 72 จังหวัด แบ่งเป็นการฝึกอบรม 2 รูปแบบ คือ

อาคารแผนกฝึกอบรมภายในศูนย์ฯ
  • การฝึกอบรมศิลปาชีพเพื่อวิสาหกิจชุมชน คัดเลือกจากวิสาหกิจชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้กับสมาชิกในวิสหากิจนอกเหนือจากรายได้ในภาคการเกษตร ฝึกฝนทักษะเกี่ยวกับศิลปหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชน
  • การฝึกอบรมศิลปาชีพเพื่อบุคคลทั่วไป คัดเลือกจากบุตรหลานของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน แบ่งเป็นปีละ 2 รุ่น รุ่นละ 6 เดือน (เริ่มต้นฝึกในเดือนตุลาคม และเดือนเมษายน)

แผนกฝึกอบรม

[แก้]

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร ประกอบด้วยแผนกฝึกอบรม 12 แผนก 5 ประเภทวิชา[9] ดังนี้

  1. ประเภทวิชาศิลปกรรม
    1. แผนกวิชาช่างวาดภาพสีน้ำมัน
    2. แผนกวิชาช่างเขียนภาพลายไทย
  2. ประเภทวิชาศิลปหัถกรรม
    1. แผนกวิชาช่างเครื่องหนังและผลิตภัณฑ์ผ้า
    2. แผนกวิชาช่างประดิษฐ์หัวโขน
    3. แผนกวิชาช่างเป่าแก้ว
    4. แผนกวิชาช่างปั้นตุ๊กตาชาววังและดอกไม้ดินไทย
    5. แผนกวิชาช่างบาติก
  3. ประเภทวิชาคหกรรม
    1. แผนกวิชาช่างศิลปประดิษฐ์
  4. ประเภทวิชาอุตสาหกรรมศิลป์
    1. แผนกวิชาช่างเครื่องเรือนไม้และบ้านทรงไทย
    2. แผนกวิชาช่างเครื่องเรือนหวายและสานผักตบชวา
    3. แผนกวิชาช่างเครื่องเคลื่อบดินเผา
  5. ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม
    1. แผนกวิชาช่างเครื่องยนต์จักรกลทางการเกษตร

อาคารสถานที่

[แก้]
ป้าหน้าสำนักงานของศูนย์ฯ
หนึ่งในหอพักสำหรับนักเรียนศิลปาชีพที่อยู่ประจำและผู้มารับการฝึกอบรมภายในศูนย์

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร ประกอบด้วยกลุ่มอาคารหลัก[10] ดังนี้

  • ศาลาพระมิ่งขวัญ – เป็นอาคารทรงไทยแบบประยุกต์ มีส่วนนิทรรศการ การจัดแสดงสินค้า และการจำหน่ายสินค้า[10]
  • หมู่บ้านศิลปาชีพ 4 ภาค – จัดแสดงบ้านเรือนไทยในแต่ละภูมิภาคและงานหัตถกรรมของแต่ละภูมิภาค ปัจจุบันมีเพียงการจัดแสดงบ้านเรือนไทย[10] 4 ภาค คือภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้
  • วังปลา – จัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจืดประจำถิ่น ทรัพยากรน้ำ และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุง[10]
  • สวนนก – จัดแสดงนำประจำถิ่นของประเทศไทยทั้งนกทั่วไปและนกหายากภายในกรงแบบเปิดขนาดใหญ่ที่จัดสภาพแวดล้อมเลียนแบบธรรมชาติ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุง[10]
  • หอประชุม หม่อมราชวงศ์หญิงรสลิน คัคณางค์ – หอประชุมสำหรับการจัดฝึกอบรมกิจกรรมต่าง ๆ ภายในศูนย์
  • ท่าชัยยุทธ – ท่าน้ำของศูนย์ฯ สำหรับจัดเลี้ยงและจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา[11]
  • แผนกฝึกอบรม
  • ศาลาอาหาร
  • หอพัก

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ | ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย". db.sac.or.th.
  2. "สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดอยุธยา". www.ayutthaya.go.th.
  3. 3.0 3.1 "Our King". ourkingthai.com.
  4. ""ศูนย์ศิลปาชีพฯ" จากน้ำพระราชหฤทัย สู่คุณค่างานศิลป์ เพื่อคุณภาพชีวิตผองไทย". mgronline.com. 2019-08-11.
  5. "ศูนย์ศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ". สยามรัฐ. 2021-08-12.
  6. 6.0 6.1 6.2 "จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประชุมเตรียมความพร้อมเปิดให้บริการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร (ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร)". ayutthaya.prd.go.th. สืบค้นเมื่อ 2024-08-29.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. 7.0 7.1 "ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ลงนามการส่งมอบและรับมอบทรัพย์สิน ผลิตภัณฑ์ และภารกิจของศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ ณ หอประชุมหม่อมราชวงศ์หญิงรสลินคัคณางค์ ตำบลช้างใหญ่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา". alro.go.th. สืบค้นเมื่อ 2024-08-29.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. รายงานประจำปี 2566 โครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กิจกรรมพัฒนาและส่งเสริมศิลปหัตถกรรม (PDF). ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม. 2566.
  9. "ประชาสัมพันธ์ หลักสูตรและระเบียบการรับเกษตรกรเข้ารับการฝึกอบรมศิลปาชีพ". www.wangyaw.go.th. สืบค้นเมื่อ 2024-08-29.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 "ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร - Go Ayutthaya". go.ayutthaya.go.th. สืบค้นเมื่อ 2025-01-29.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  11. "พิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ จำนวน ๑ ล้านตัว สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา". www.opsmoac.go.th. สืบค้นเมื่อ 2025-01-29.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]