ข้ามไปเนื้อหา

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง[1] เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อพัฒนาพื้นที่พรุในจังหวัดนราธิวาส โดยมีที่ตั้งโครงการ อยู่ที่ ตำบลกะลุวอ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส[2]

ประวัติ

[แก้]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ในระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม - 3 ตุลาคม พ.ศ. 2524 พระองค์ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรโดยทั่วไปในเขตพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ทอดพระเนตรเห็นสภาพพื้นที่และความจำเป็นที่จะยกระดับความเป็นอยู่ ภาระเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่จังหวัดให้ดีขึ้น จึงมีพระราชดำริและพระราชกระแสรับสั่งต่อเจ้าหน้าที่และผู้ติดตามเสด็จ ให้พิจารณาปรับปรุงกิจการพัฒนาด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่พรุ โดยมีพระราชกระแสรับสั่งต่อ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ องคมนตรี (หม่อมเจ้าพระยศในขณะนั้น) นายชิต นิลพานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส (ในขณะนั้น) นายเล็ก จินดาสงวน ผู้ช่วยอธิบดีกรมชลประทาน (ในขณะนั้น) นายวารินทร์ บุษบรรณ เกษตรจังหวัดนราธิวาส (ในขณะนั้น) นายอำเภอท้องที่ และข้าราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ด้วยพื้นที่จำนวนมากในจังหวัดนราธิวาส เป็นที่ลุ่มต่ำมีน้ำขังตลอดปี ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ซึ่งมีเนื้อที่ ทั้งหมดประมาณ 300,000 ไร่ ประชากรจำนวนมากไม่มีที่ทำกิน แม้เมื่อระบายน้ำออกหมดแล้วยังยากที่จะใช้ประโยชน์ทางการเกษตรให้ได้ผล ทั้งนี้เนื่องจากดินมีสารไพไรท์ทำให้เกิดกรดกำมะถัน เมื่อดินแห้งทำให้ดินเปรี้ยว ควรปรับปรุงดินให้ดีขึ้น ดังนั้นจึงเห็นสมควรที่จะมีการปรับปรุงพัฒนาโดยให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการศึกษา และพัฒนาพื้นที่พรุร่วมกันแบบผสมผสาน และนำผลสำเร็จของโครงการไปเป็นแบบอย่างในการที่จะพัฒนาพื้นที่พรุในโอกาสต่อไป

การสนองพระราชดำริ ได้มีการร่วมประชุมระหว่างจังหวัดนราธิวาส และ สำนักงาน กปร. โดยมีหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ เป็นประธาน เพื่อกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการจัดตั้งโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนา โดยให้ชื่อว่า "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง" สำนักงาน กปร. ได้นำนโยบายดังกล่าวไปประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาปัญหาในพื้นที่ และสรุปเป็นข้อเสนอแนะโครงการ ขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และได้อนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2525

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากรพระราชดำริ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-08. สืบค้นเมื่อ 2018-06-14.
  2. "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-30. สืบค้นเมื่อ 2018-06-15.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]