ข้ามไปเนื้อหา

จารึกวัดศรีชุม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จารึกวัดศรีชุม
ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2
วัสดุหินดินดาน
ความสูง275 เซนติเมตร (108 นิ้ว)
ความกว้าง67 เซนติเมตร (26 นิ้ว)
ตัวหนังสืออักษรสุโขทัย
สร้างราว พ.ศ. 1884-1910
ช่วงเวลา/วัฒนธรรมสุโขทัย
ค้นพบพ.ศ. 2430 ในวัดศรีชุม ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
ค้นพบโดยหลวงสโมสรพลการ
ที่อยู่ปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
จารึกวัดศรีชุม
มณฑปวัดศรีชุม สุโขทัย

จารึกวัดศรีชุม หรือ ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 เป็นศิลาจารึกภาษาไทยสมัยสุโขทัยที่สำคัญ ที่เล่าเรื่องราวการสถาปนากรุงสุโขทัย และ วีรกรรมของกษัตริย์ราชวงศ์นำถุม โดยสันนิษฐานว่าผู้สร้างศิลาจารึกหลักนี้คือ พระมหาเถรศรีศรัทธา ผู้เป็นเชื้อสายของพ่อขุนศรีนาวนำถุม ผู้สถาปนาแคว้นสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย

ในจารึกยังปรากฎคำว่า ขอม ครั้งแรก หลังยุคอาณาจักรพระนครได้ล่มสลายลง

รูปลักษณ์

[แก้]

จารึกสลักตัวอักษรไทย ภาษาไทย บนแผ่นหินดินดาน รูปใบเสมา เรียวบาง (ชำรุดบางแห่ง) มี 2 ด้าน 212 บรรทัด กว้าง 2 ศอก สูง 9 ศอก หนา 3 ถึง 4 นิ้วโดยประมาณ

การค้นพบ

[แก้]

ตามประวัติ ใน พ.ศ. 2430 หลวงสโมสรพลการได้ค้นพบจารึกนี้อยู่ในอุโมงค์มณฑปวัดศรีชุม และได้ขนย้ายนำมารวบรวมไว้ในกรุงเทพฯ ผู้ศึกษาจารึกนี้เป็นคนแรกคือ ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ผู้เป็นบรรณารักษ์ใหญ่หอพระสมุดวชิรญาณในขณะนั้น ข้อความจารึกได้รับการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน พ.ศ. 2467 ปัจจุบันจารึกนี้เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

เนื้อหาในจารึก

[แก้]

สันนิษฐานว่าศิลาจารึกวัดศรีชุมนี้อาจสร้างขึ้นราว พ.ศ. 1884-1910[1] ในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไทย)

เรื่องราวที่ปรากฏในจารึกกล่าวถึง

  • การสถาปนาแคว้นสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย รวบรวมหัวเมืองเหนือโดยพ่อขุนศรีนาวนำถุม
  • ขอมสบาดโขลญลำพงเป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัยในเวลาต่อมา
  • พ่อขุนผาเมืองเป็นบุตรของพ่อขุนศรีนาวนำถุม และ เป็นบุตรเขยของกษัตริย์กัมพูชา (ผีฟ้าเจ้าเมืองศรียโสธรปุระ) ทรงพระนาม กัมรเตงอัญศรีอิทรบดินทราทิตย์ และ ได้รับมอบ พระขรรค์ชัยศรี
  • พ่อขุนผาเมือง ร่วมกับพระสหาย คือ พ่อขุนบางกลางหาว ร่วมทำการรบขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพง ออกจากเมืองสุโขทัย โดยกำลังทหารของพ่อขุนผาเมืองสามารถยึดเมืองได้ แต่พ่อขุนผาเมืองได้มอบการปกครองแด่พ่อขุนบางกลางหาว พร้อมทั้งเฉลิมพระนาม ศรีอินทราทิตย์ หลังจากนั้นไม่ปรากฏพระนามของพ่อขุนผาเมืองในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีก
  • เรียกพ่อขุนรามคำแหง บุตรของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ว่า พ่อขุนรามราช เป็นนักปราชญ์ผู้รู้ธรรม ผู้สร้างพระศรีรัตนธาตุในเมืองศรีสัชนาลัย
  • พระยาคำแหงพระราม เชื้อสายตระกูลพ่อขุนศรีนาวนำถุม มีบุตรผู้หนึ่งเกิดใน สรลวง-สองแคว ซึ่งต่อมาคือ มหาเถรศรีศรัทธา และมีเรื่องราวอยู่ในจารึกนี้
  • จารึกนี้บอกเป็นนัยว่า สรลวง-สองแคว คือเมืองเดียวกัน ซึ่งต่อมาคือเมืองพิษณุโลก
  • มหาเถรศรีศรัทธาในวัยหนุ่มเคยช่วยบิดารบกับ ท้าวอีจาน และ ช่วยพระยาเลอไทยชนช้างกับ ขุนจัง จนได้รับชัยชนะ
  • ภายหลัง มหาเถรศรีศรัทธาได้ออกบวช ออกจากเมืองทาง รัตภูมิ และ เดินทางจาริกแสวงบุญไปตามเมืองต่าง ๆ กระทั่งได้ไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุถึงเกาะลังกา จากนั้นได้มีการนำเรื่องราวการชีวประวัติและเดินทางจาริกแสวงบุญมาสร้างเป็นจารึกนี้ในที่สุด
  • นครปฐม อาจมีชื่อเรียกในภาษาขอมว่า นครพระธม

ชื่อสถานที่เช่น อีจาน และ รัตภูมิ อาจบอกถึงสถานที่ตั้งเมืองของมหาเถรศรีศรัทธา หากมีการศึกษาต่อไปในอนาคต

เนื่องจากมีการเล่าเรื่องราวข้อมูลเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญ และ ข้อมูลหลายอย่างไม่พบในศิลาจารึกหลักอื่น ๆ ศิลาจารึกหลักนี้จึงเป็นที่สนใจของนักประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ใจความโดยรวมของศิลาจารึกนี้ยังสอดคล้องกับศิลาจารึกหลักที่ 1

อ้างอิง

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]