ข้ามไปเนื้อหา

ลัทธิขงจื๊อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ศาสนาขงจื๊อ)
หอต้าเฉิง (Dàchéng) อาคารหลักของวัดขงจื๊อในชูฟู่

ลัทธิขงจื๊อ หรือ ศาสนาขงจื๊อ[1] (อังกฤษ: Confucianism) หรือ ลัทธิหยู เป็นระบบด้านจริยธรรมและปรัชญาของจีน ซึ่งพัฒนาจากการสอนของขงจื๊อ (551 - 479 ปีก่อน ค.ศ.) นักปรัชญาชาวจีน ลัทธิขงจื๊อถือกำเนิดขึ้นเป็น "งานสอนด้านจริยธรรม-สังคมการเมือง" ในยุคชุนชิว แต่ภายหลังพัฒนาส่วนที่เป็นอภิปรัชญาและจักรวาลวิทยาในสมัยราชวงศ์ฮั่น[2] หลังการละทิ้งลัทธิฟาเฉียในประเทศจีนหลังราชวงศ์ฉิน ลัทธิขงจื๊อได้กลายมาเป็นอุดมการณ์แห่งรัฐอย่างเป็นทางการของจีน กระทั่งถูกแทนที่ด้วย "หลัก 3 ประการแห่งประชาชน" ของนายแพทย์ ซุนจงซาน เมื่อมีการสถาปนาสาธารณรัฐจีน ตามด้วยคอมมิวนิสต์ลัทธิเหมาหลังสาธารณรัฐจีนถูกแทนที่ด้วยสาธารณรัฐประชาชนจีนในจีนแผ่นดินใหญ่

มนุษยนิยมเป็นแก่นของลัทธิขงจื๊อ[3] ซึ่งเป็นความเชื่อที่ว่า มนุษย์สามารถสอน พัฒนาและทำให้สมบูรณ์ได้ผ่านความพยายามส่วนตนและร่วมกับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฝึกตนและการเกิดขึ้นเอง (self-creation) ลัทธิขงจื๊อมุ่งเน้นการพัฒนาคุณธรรมและการธำรงรักษาจริยธรรม โดยมีหลักพื้นฐานที่สุด คือ เหริน (rén) ยี่ () และหลี่ ()[4] เหรินเป็นข้อผูกมัดปรัตถนิยมและความมีมนุษยธรรมแก่ปัจเจกบุคคลอื่นภายในชุมชน ยี่เป็นการค้ำจุนความชอบธรรมและอุปนิสัยทางศีลธรรมในการทำดี และหลี่เป็นระบบจารีตและความเหมาะสมซึ่งตัดสินว่า บุคคลควรปฏิบัติตนอย่างไรให้เหมาะสมภายในชุมชน[4] ลัทธิขงจื๊อถือว่า บุคคลควรยอมถวายชีวิตให้ หากจำเป็น เพื่ออุทิศแก่การค้ำจุนค่านิยมทางศีลธรรมหลัก เหรินและยี่[5] ผู้นับถือลัทธิขงจื๊ออาจเป็นผู้เชื่อในศาสนาพื้นบ้านของจีนด้วยก็ได้ เพราะลัทธิขงจื๊อเป็นอุดมการณ์มนุษยนิยมและอเทวนิยม และไม่ข้องเกี่ยวกับความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติหรือในพระเจ้าที่มีตัวตน[6]

หลายวัฒนธรรมและประเทศได้รับอิทธิพลอย่างมากจากลัทธิขงจื๊อ รวมทั้ง จีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม เช่นเดียวกับอีกหลายดินแดนที่ชาวจีนเข้าไปตั้งรกรากจำนวนมาก เช่น สิงคโปร์ แม้แนวคิดลัทธิขงจื๊อจะแพร่หลายในพื้นที่เหล่านี้ มีคนส่วนน้อยนอกแวดวงวิชาการที่ระบุว่าตนเองเป็นผู้นับถือลัทธิขงจื๊อ[7][8] และกลับเห็นว่าจริยศาสตร์ขงจื๊อเป็นแนวปฏิบัติเติมเต็มสำหรับอุดมการณ์และความเชื่ออื่นมากกว่า ซึ่งมีทั้งประชาธิปไตย มากซิสต์ ทุนนิยม ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนาพุทธ

ประวัติและพัฒนาการ

[แก้]

นับตั้งแต่ขงจื๊อเริ่มรวบรวมตำราและคัมภีร์โบราณได้ห้าเล่ม คือ ซือจิง หรือคัมภีร์กวีนิพนธ์ ซูจิงหรือประวัติศาสตร์โบราณ หลี่จี้ หรือบันทึกว่าด้วยธรรมเนียมประเพณี อี้จิงหรือคัมภีร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงและชุนชิว หรือประวัติศาสตร์สมัยชุนชิว แล้วได้ตั้งสำนักวิชาให้การศึกษาแก่ประชาชน หลังขงจื๊อเสียชีวิตไปแล้ว เม่งจื๊อหรือเมิ่งจื่อ กลายเป็นนักคิดคนสำคัญของสำนักวิชาขงจื๊อหรือหยู เม่งจื๊อได้สังเคราะห์แนวคิดจากคัมภีร์ทั้งห้า ที่เน้นเสนอแนะให้ผู้ปกครองยึดมั่นคุณธรรมและสันติวิธี ยุติศึกสงครามที่กำลังดำเนินอยู่และเดินทางไปเสนอความเห็นแก่ผู้ปกครองในอาณาจักรต่าง ๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก ความคิดสำคัญของเม่งจื๊อคือความเชื่อในความดีงามตามธรรมชาติของมนุษย์ การส่งเสริมการศึกษาและยังเสนอว่าผู้ปกครองต้องมีคุณธรรมเหนือกว่าประชาชน อีกทั้งประชาชนพึงเคารพนับถือผู้ปกครองที่มีคุณธรรม หากผู้ปกครองไร้คุณธรรม การล้มล้างเป็นสิ่งที่ชอบธรรม

นักคิดคนสำคัญอีกคนของสำนักขงจื๊อคือซุนจื๊อหรือสวินจื่อ ซึ่งเสนอให้อบรมสั่งสอนผู้คนให้มีคุณธรรมเคร่งครัด โดยเห็นว่าธรรมเนียมประเพณีเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้มนุษย์มีคุณธรรมมากขึ้น ซุนจื๊อเชื่อว่า "มนุษย์มีธรรมชาติที่ชั่วร้ายเป็นพื้นฐาน" ทำให้ต้องมีการควบคุมและอบรมสั่งสอนให้ยึดมั่นคุณธรรมอย่างจริงจัง

นักคิดและปัญญาชนสำนักวิชาขงจื๊อกลับถูกปราบปรามกวาดล้างครั้งใหญ่ในสมัยราชวงศ์ฉินหรือจักรพรรดิจิ๋นซี ในเหตุการณ์ "เผาตำรา ฝังบัณฑิต" เพราะเห็นว่าปัญญาชนขงจื๊อต่อต้านการปกครองและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่าไร้คุณธรรม อย่างไรก็ตาม ลัทธิขงจื๊อได้รับการฟื้นฟูและมีบทบาทอีกครั้งในสมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อน ค.ศ.- ค.ศ. 220) และกลายเป็นลัทธิคำสอนที่มีอิทธิพลต่อการเมืองการปกครองของจีนมากที่สุด รวมถึงได้รับการส่งเสริมให้แพร่หลายในสังคมในฐานะหลักในการดำเนินชีวิตของผู้คน คัมภีร์และตำราของสำนักวิชาขงจื๊อกลายเป็นตำราเรียนและวิชาหลักของชาวจีนตั้งแต่โบราณจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ฟื้น ดอกบัว (2555). ศาสนาเปรียบเทียบ. กรุงเทพ : ศิลปบรรณาคาร.
  2. Craig 1998, p. 550.
  3. Juergensmeyer, Mark (2005). Religion in global civil society. Oxford University Press. p. 70. ISBN 9780195188356.
  4. 4.0 4.1 Craig 1998, p. 536.
  5. Lo, Ping-cheung (1999), Confucian Ethic of Death with Dignity and Its Contemporary Relevance (PDF), Society of Christian Ethics, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-07-16, สืบค้นเมื่อ 2012-01-31
  6. Yang 1961, p. 26.
  7. Juergensmeyer, Mark (2006). The Oxford handbook of global religions. Oxford Handbooks. Oxford University Press. p. 116. ISBN 9780195137989. Few people self-identify as Confucian, yet fewer still will deny the vital importance of promoting filiality and family cohesion
  8. Education About Asia. Vol. 6–7. Association for Asian Studies. 2001. p. 75.