วิหารโปกลองการาย
โปกลองการาย | |
---|---|
ศาสนา | |
ศาสนา | ศาสนาฮินดู |
จังหวัด | นิญถ่วน |
เทพ | กษัตริย์โปกลองการาย |
ที่ตั้ง | |
ที่ตั้ง | ฟานซาง |
ประเทศ | เวียดนาม |
พิกัดภูมิศาสตร์ | 11°36′04″N 108°56′49″E / 11.60111°N 108.94694°E |
สถาปัตยกรรม | |
ประเภท | จาม |
วิหารโปกลองการาย[1] หรือ วิหารโปกลองก่าหร่าย[2] (อังกฤษ: Po Klong Garai Temple) เป็นหมู่วิหารในศาสนาฮินดูยุคจามปา ตั้งอยู่ในราชรัฐปาณฑุรังคะ (Panduranga) ของชาวจามปา ที่ซึ่งปัจจุบันคือเมืองฟานซาง จังหวัดนิญถ่วน ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม วิหารนี้สร้างขึ้นโดยกษัตริย์ชัยสิงหาวรมันที่ 3 เพื่อบูชากษัตริย์ในตำนาน โปกลองก่าหร่าย ผู้ครองนครปาณฑุรงค์ระหว่างปี 1151 ถึง 1205[3]: 217 [4]
ตำนาน
[แก้]ตามตำนาน กษัตริย์โปกลองการาย[1] หรือ โปกลองก่าหร่าย[2] (Po Klong Garai, ในภาษาจาม แปลว่า "กษัตริย์มังกรแห่งชาวก่าหร่าย") เริ่มต้นชีวิตโดยการเป็นคนเลี้ยงวัวที่เป็นที่รัก ต่อมาด้วยชะตาฟ้าลิขิตจึงได้กลายมาเป็นกษัตริย์แห่งจามปา ปกครองชาวจามปาด้วยความเฉลียวฉลาดและเพื่อประโยชน์สุขของปวงชน เมื่อครั้นชาวเขมรเข้ารุกรานดินแดน เขาได้ท้าทายให้พวกเขมรประลองสร้างหอคอย (พระปรางค์) แข่งกันเพื่อยุติการรุกรานนี้ โปกลองก่าหร่ายสามารถเอาชนะชาวเขมรและบังคับให้พวกเขมรต้องถอยทัพกลับไป[5] หลังสิ้นชีวิต โปกลองก่าหร่ายกลายมาเป็นเทพเจ้าและเทพารักษ์แก่ผู้คนที่ยังอาศัยอยู่ ว่ากันว่าหอคอยที่สร้างแข่งกับเขมรในเวลานั้นคือหอคอยโปกลองการาย[6]
ประวัติศาสตร์
[แก้]กษัตริย์ชัยสิงหวรมันที่สาม (เวียต: Chê Mân) ได้รับการขึ้นชื่อเป็นผู้ก่อสร้างหอคอยโปกลองการายชึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่กษัตริย์โปกลองก่าหร่าย โดยหอคอยนี้สร้างขึ้นในปลายศตวรรษที่ 13 อย่างไรก็ตาม จารึกจำนวนมากจากสมัยก่อนหน้าเสนอว่ากษัตริย์ชัยสิงหวรมันที่สามน่าจะเพียงแค่ทำนุบำรุงวิหารและก่อสร้างเพิ่มเติมจากโครงสร้างที่มีอยู่แต่เดิม[7]
จารึกหนึ่งจากปี 1050 ที่วิหารโปกลองการายระบุการเฉลิมฉลองชัยชนะในการศึกของเจ้าชายแห่งจามสองคน ซึ่งสันนิษฐานว่าหมายถึงราชวงศ์อินทรปุระ (Indrapura) จากทางเหนือ ซึ่งมีราชธานีใกล้กับหมีเซิน เหนือพวกปาณฑุรงค์แห่งจามปาใต้ เจ้าชายทั้งสองที่มีชัยในการศึกนี้ได้สร้างลึงค์และวิชยสตมภ์ (เสาชัยชนะ) ขึ้น[8]
ลักษณะ
[แก้]วิหารโปกลองก่าหร่ายจัดเป็นศิลปกรรมแบบ Thap Mam ของศิลปกรรมจาม หมู่วิหารประกอบไปด้วยหอคอยอิฐสามหอ ได้แก่หอหลักสูงสามชั้น และหอซุ้มทางเข้าออก (โคปุระ) ที่มีขนาดเล็กลงมา และหอทรงยาวที่มีหลังคาทรงอานม้า หมู่อาคารทั้งหมดได้รับการอนุรักษ์อย่างดี[9] เหนือประตูทางเข้าหลักของหอคอยหลักมีประติมากรรมรูปพระศิวะในปางศิวนาฏราช ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นชิ้นงานที่สำคัญชิ้นหนึ่งของศิลปกรรมแบบ Thap Mam[10] กระนั้น งานศิลปกรรมที่หลงเหลือภายในวิหารนั้นไม่เป็นที่น่าประทับใจนัก มีลักษณะที่บ่งบอกถึง "ศิลปะในยุคเสื่อมถอย อันเนื่องมาจากงานช่างที่ดูแข็งทื่อและจืดชืด"[11] หอคอยที่มีหลังคารูปอานม้านั้นเข้าใจว่ามีไว้บูชาเทพเจ้าแห่งเปลวเพลิงนามว่า Thang Chuh Yang Pui[12]
รูปเคารพหลักของวิหารคือมุขลึงค์ อายุศตวรรษที่ 16 หรือ 17 แม้ปกติลึงค์เช่นนี้จะเป็นสัญลักษณ์แทนพระศิวะ แต่มุขลึงค์นี้ชาวจามเชื่อว่าเป็นรูปแทนของกษัตริย์โปกลองก่าหร่ายมากกว่า จนถึงปัจจุบันยังคงมีการจัดเทศกางเฉลิมฉลองของชาวจามขึ้นที่นี่[13]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล (2022-07-21). "จามปาทาวเวอร์ : ปราสาทโปกลองการาย".
- ↑ 2.0 2.1 ทวี สว่างปัญญางกูร. "ชนชาติจามในปัจจุบัน" (PDF). วารสารดำรงวิชาการ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ Coedès, George (1968). Walter F. Vella (บ.ก.). The Indianized States of Southeast Asia. trans.Susan Brown Cowing. University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-0368-1.
- ↑ Ngô Vǎn Doanh, Champa: Ancient Towers, p.228.
- ↑ Ngô Vǎn Doanh, Champa: Ancient Towers, p.232.
- ↑ Ngô Vǎn Doanh, Champa: Ancient Towers, p.233.
- ↑ Ngô Vǎn Doanh, Champa: Ancient Towers, p.235.
- ↑ Jean Boisselier, La Statuaire du Champa, p.245-246.
- ↑ Emmanuel Guillon, Hindu Buddhist Art of Vietnam, p.60.
- ↑ Ngô Vǎn Doanh, Champa: Ancient Towers, 235-236.
- ↑ Emmanuel Guillon, Hindu Buddhist Art of Vietnam, p.61.
- ↑ Ngô Vǎn Doanh, Champa: Ancient Towers, p.239, 242.
- ↑ Ngô Vǎn Doanh, Champa: Ancient Towers, p.241.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Jean Boisselier, La statuaire du Champa, Paris: École Française d'Extrême-Orient, 1963.
- Emmanuel Guillon, Hindu-Buddhist Art of Vietnam: Treasures from Champa Translated from the French by Tom White. Trumbull, Connecticut: Weatherhill, 1997.
- Ngô Vǎn Doanh, Champa: Ancient Towers. Hanoi: Thế Giới Publishers, 2006. Chapter 16: "Po Klaung Garai and the Legend of Mount Trâu", pp. 228 ff.