วิทยา มีวุฒิสม
ศาสตราจารย์ วิทยา มีวุฒิสม (22 กันยายน 2492 - ) เกิดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย ที่มีผลงานการวิจัยทางด้านจุลชีววิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพโดยเฉพาะการสร้างองค์ความรู้ใหม่และนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม เป็นที่ปรึกษาหลายบริษัทและนักจัดรายการวิทยุ ร่วมดำเนินรายการ "ตอบปัญหาสุขภาพ" ที่สถานีวิทยุ วพท. AM Stereo 792 MHz เพื่อให้ความรู้ด้านสมุนไพร และการดูแลสุขภาพสำหรับประชาชน ปัจจุบันศาสตราจารย์ วิทยา มีวุฒิสม หรือ ศาสตราจารย์ ดร.วิทยา มีวุฒิสม ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ระดับ 10 ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สมรสกับนางณัฐฐิฌา มีวุฒิสม มีบุตรและธิดา 2 คน
การศึกษา
[แก้]- พ.ศ. 2514 - จบปริญญาตรี สาขาเทคนิคการแพทย์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2516 - จบปริญญาโท สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2521 - จบปริญญาเอก สาขาจุลชีววิทยา จาก มหาวิทยาลัยอินดีแอนา สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์
- พ.ศ. 2527-2528 - ศึกษาหลังปริญญาเอก (Post Doctoral) จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล สหราชอาณาจักร ด้วยทุน The Royal Society, Developing Country Fellowships Scheme
การทำงาน
[แก้]- พ.ศ. 2516-2523 - อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2523-2526 - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2526-2539 - รองศาสตราจารย์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2534-2538 - ผู้อำนวยการ โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2539-ปัจจุบัน - ศาสตราจารย์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2548-2554 - หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่ปรึกษาหน่วยงานของรัฐและเอกชน
- พ.ศ. 2530-2545 - ที่ปรึกษาบริษัท Medegloves Ltd.
- พ.ศ. 2532 - ที่ปรึกษาองค์การ UNESCO เป็น Short-term consultant เรื่องเทคโนโลยีชีวภาพ ที่ประเทศมาเลเซีย
- พ.ศ. 2534-2535 - ที่ปรึกษาบริษัท Hydrodyne Biotechnology
- พ.ศ. 2535-2536 - ที่ปรึกษาปริษัท T.C. Union Agrotech ในโครงการวิจัยการผลิตจุลชีพเพื่อใช้บำบัดน้ำเสีย
- พ.ศ. 2545-2547 - ที่ปรึกษาปริษัท V.C.N. Manufacturing Co.Ltd.
- พ.ศ. 2548-2549 - ที่ปรึกษาบริษัท Thai Hospital Products Co.Ltd.
- พ.ศ. 2541-ปัจจุบัน - ที่ปรึกษาบริษัท กรีนการ์เดียน จำกัด เป็นผู้ร่วมดำเนินรายการ "ตอบปัญหาสุขภาพ" ที่สถานีวิทยุ วพท. AM Stereo 792 MHz เพื่อให้ความรู้ด้านสมุนไพร และการดูแลสุขภาพสำหรับประชาชน
ผลงานวิจัย
[แก้]ศ.ดร.วิทยา มีวุฒิสม มีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ จำนวน 54 เรื่อง และสิทธิบัตร จำนวน 4 เรื่อง เป็นผลงานด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่สร้างองค์ความรู้ใหม่และนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมได้ เช่น การค้นพบเอนไซม์ D-phenylglycine aminotransferase ซึ่งเป็นเอนไซม์สำคัญในการเปลี่ยนโครงสร้างทาง stereo-isomer ของกรดอะมิโนแบบใหม่ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตสาร side chains เพื่อใช้ผลิตยาปฏิชีวนะกึ่งสังเคราะห์ในกลุ่ม beta-lactam ได้ นับได้ว่า ศ.ดร. วิทยา มีวุฒิสม เป็นผู้บุกเบิกงานด้านนี้เป็นคนแรก และได้ทำการศึกษาตั้งแต่ต้น คือการหาเอนไซม์พิเศษนี้ ไปจนถึงการศึกษายีน ตลอดจนโครงสร้างสามมิติของเอนไซม์ตัวนี้ การปรับปรุงสายพันธุ์เชื้อจุลินทรีย์ Bacillus megaterium โดยใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรมเพื่อผลิตเอนไซม์ penicillin acylase ให้ได้ในปริมาณที่สูงกว่าเดิม และการตรึงเอนไซม์ที่เหมาะสมยังเป็นผลงานที่มีคุณค่ายิ่งต่ออุตสาหกรรมการผลิตยาของประเทศ เนื่องจาก penicilline acylase เป็นเอนไซม์สำคัญในการผลิตสารตัวกลางสำหรับการผลิตยา penicillin กึ่งสังเคราะห์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตยาในกลุ่มเพนนิซิลิน และลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้ในอนาคต การวิจัยและพัฒนาการผลิต probiotics และเอนไซม์ช่วยย่อย เพื่อใช้เสริมในอาหารสัตว์ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ อันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สำคัญมากในการแก้ปัญหาการตกค้างของยาปฏิชีวนะในอาหารสัตว์ของประเทศได้เป็นอย่างดี
โครงการวิจัยของ ศ.ดร.วิทยา มีวุฒิสม ที่ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งสนับสนุนทุนวิจัยต่างๆทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่
- การนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มาเพิ่มคุณค่าของโปรตีนเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์
- การค้นหายาปฏิชีวนะใหม่จากเชื้อ Streptomyces ที่แยกได้จากดิน
- การวิจัยและพัฒนาการผลิต 6-aminopenicillanic acid โดยการใช้เอนไซม์เทคโนโลยี
- งานวิจัยด้านพัฒนาการใช้ยีสต์ และ lactic acid bacteria ในอาหารสัตว์
- การวิจัยและพัฒนาการผลิต 7-ACA และ 7-ADCA โดยขบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพ
- การศึกษาเอนไซม์ที่พบใหม่ ซึ่งแสดงคุณสมบัติ D-phenylglycine-L-glutamate aminotransferase
- งานวิจัยและพัฒนาการผลิต probiotics และเอนไซม์ไฟเทสเพื่อใช้เสริมในอาหารไก่
- การศึกษาวิจัยและพัฒนาการใช้ microbial 3-phytase และ 6-phytase ร่วมกันในอุตสาหกรรมสัตว์ปีกในประเทศไทย
- ไฟเทสและพอลิแซกคาไรด์ ไฮโดรเลส จากเมตาจีโนม
เกียรติคุณและรางวัล
[แก้]- พ.ศ. 2527-2528 - Research Fellow of the University of Liverpool
- พ.ศ. 2531 - รับพระราชทานรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการวิจัย
- พ.ศ. 2539 - รางวัลปาฐกถาอายิโน๊ะโม๊ะโต๊ะ
- พ.ศ. 2540 - รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น ของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2546 - รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
- พ.ศ. 2547 - รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2546 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[1]
- พ.ศ. 2541 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[2]
- พ.ศ. 2541 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2015-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๙ ข หน้า ๕, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๑๓, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๓ ข หน้า ๗๔๙, ๒๙ มกราคม ๒๕๔๒
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2492
- บุคคลจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- ศาสตราจารย์
- นักวิทยาศาสตร์ชาวไทย
- อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์
- บุคคลจากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- บุคคลจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล
- บุคคลจากโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย
- ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยอินดีแอนา