ข้ามไปเนื้อหา

วิกิพีเดีย:สภากาแฟ/อภิปราย/เสนอแนวปฏิบัติว่าด้วยการส่งงานบนวิกิพีเดีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

จากที่มีการให้เหตุผลว่ามีการเขียนบทความวิกิพีเดียเพื่อส่งให้กับอาจารย์ ผมคิดว่าน่าจะมีแนวปฏิบัติหรือหน้าอธิบายหลักการของวิกิพีเดียสักหน้าหนึ่งเพื่ออธิบายให้กับครูอาจารย์ที่สั่งงานทำนองนี้ไว้ครับ จะได้ไม่ไปลงที่ลูกศิษย์ ต้องการความเห็นว่า หน้าทำนองนี้จำเป็นหรือไม่ครับ --Horus | พูดคุย 21:39, 17 กันยายน 2553 (ICT)

มีตัวอย่างแนวทางจากภาษาอื่นที่มีแล้วไหมครับ --octahedron80 21:46, 17 กันยายน 2553 (ICT)

เหมือนกับว่าจะมี simple:Wikipedia:Schools/Teachers' Guide#Wikipedia in the classroom ครับ (กำลังดูต่อ) --Horus | พูดคุย 21:54, 17 กันยายน 2553 (ICT)

ดูหน้านั้นแล้วไม่ค่อยมีส่วนของการแก้ปัญหาเท่าไร มีแต่แนวปฏิบัติของอาจารย์ ซึ่งแน่นอนอาจารย์ผู้สั่งการบ้านไม่เข้ามาดูแนวปฏิบัติแน่ สิ่งที่เราอยากได้คือการแก้ปัญหาบทความที่เหมือนโครงงาน รายงาน ซึ่งลักษณะการเขียนไม่เป็นสารานุกรม มากกว่าหรือเปล่า และส่วนมากก็ละเมิดลิขสิทธิ์อีกด้วย เพราะนิสัยเด็กไทยชอบลอกคนอื่น ไม่เข้าใจลิขสิทธิ์ ทำรายงานก็ลอกตัดปะแหล่งข้อมูลอื่นมาส่ง เอาเสร็จไวเข้าว่า (ผมรู้ว่าทุกคนเคยทำ ผมก็เคยทำ) ปัญหานี้จึงสะท้อนมาบนวิกิพีเดียเช่นกัน แต่พอมีคนช่วยปรับแก้ ก็เอาข้อมูลเดิมมาลงอีก พอถูกลบก็สร้างใหม่ เหมือนบอกเป็นนัยว่า อย่ายุ่งกับการบ้านของข้าพเจ้า เพราะมันคือคะแนนของข้าพเจ้า ผมจึงบอกแก้ขัดไปว่าไม่ใช่ที่ส่งการบ้าน และไม่ใช่ที่ฝากเว็บไซต์ เพราะอาจไม่เป็นสารานุกรม ให้ไปเขียนที่วิกิตำราแทน แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ผล ก็ยังมีทยอยมาเรื่อยๆ และอาจารย์ก็คงจะไม่ได้เข้ามาควบคุมเพื่อรับรู้ถึงปัญหานี้

ช่วงนี้บทความการบ้านมักจะมีธีมเดียวกันคือ ก กับกฎหมายไทย ซึ่งเป็นความพยายามนำเอาเรื่อง ก ซึ่งบางครั้งมีบทความของมันอยู่แล้ว มาเขียนใหม่เป็นอีกบทความ (ไม่ยอมเขียนต่อบทความเดิม อยากแยกเป็นเอกเทศ) จากนั้นเพิ่มส่วนกฎหมายไทยลงไป บางอย่างก็มีแล้วที่วิกิซอร์ซ (ก่อนหน้านี้มีความพยายามเอาเรื่อง ก มาผูกกับเรื่อง ข ค ง จ ในบทความเดียวกัน เช่น ประวัติไทย-ขอม-แขก เป็นปัญหาแนว "จับแพะชนแกะ") ทำให้เกิดปัญหาความซ้ำซ้อนของบทความ และความไม่เป็นสากลขึ้นมาอีก ผมจึงค่อนข้างแน่ใจว่าบุคคลที่เข้ามาเขียนเป็นเพื่อนในชั้นเดียวกันทั้งนั้น เนื่องจากผมก็ทราบแล้วอย่างน้อยสองคน

ใครสามารถพาอาจารย์มาช่วยดูหรือร่วมอภิปรายนี้ได้จะยิ่งดีครับ --octahedron80 02:27, 18 กันยายน 2553 (ICT)

  1. ตามไปอ่านลิงก์ของคุณ Horus แล้ว อ่านดูรู้สึกมันแปลกๆ ในที่สุดก็พบว่ามันเป็น simple นี่เอง ผมคิดว่านโยบายเช่นนี้ไม่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปสำหรับวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ เพราะมีกิจกรรมที่เป็นภาระตกแก่ผู้ดูแลระบบพอสมควร เช่น ต้องสร้าง account ให้นักเรียน กรณีต้องการสร้างพร้อมกันมากกว่า 6 accounts ต้องรับแจ้งกิจกรรมที่โรงเรียนจะทำ ซึ่งถ้าจะทำตามนี้จริงๆ ตอนแรกผมคิดอย่างคุณ octahedron80 ว่าครูอาจารย์อาจไม่อ่าน แต่ถ้าครูอาจารย์ท่านอ่านมาจริงๆ ผมว่าจะยิ่งยุ่งเพราะวิกิพีเดียไทย หัวบันไดไม่แห้งแน่
  2. ผมเสนอแก้ปัญหานี้ด้วยการทำป้ายแทน อาจมีถึงสองป้าย คือ ป้ายติดที่บทความ และ ป้ายติดที่หน้าพูดคุยของผู้เขียนบทความ โดยป้ายทั้งสองลิงก์ไปยังหน้านโยบายที่มีอยู่แล้ว (เช่น การตั้งชื่อบทความ การละเมิดลิขสิทธิ์ อะไรเป็นสารานุกรมอะไรไม่ใช่ ความเป็นเจ้าของบทความ ฯลฯ) โดยไม่ต้องร่างหน้านโยบายใหม่เกี่ยวกับการส่งการบ้านโดยเฉพาะ ไม่ทราบว่าจะเห็นด้วยกับแนวทางนี้หรือไม่ครับ

--taweethaも 10:15, 18 กันยายน 2553 (ICT)

ในวิกิพีเดียอังกฤษก็มีแบบที่คุณฮอรัสให้มานะครับ อยู่ที่ Wikipedia:School and university projects มี Guideline และ Project Information แต่ผมว่าประเด็นนี้ไม่เหมาะสมกับการนำมาใช้ในวิกิพีเดียไทย เพราะอย่างที่คุณออกตาบอกแล้วว่าใช่ว่าอาจารย์ที่สั่งจะมาอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับแนวปฏิบัติเท่าใดนัก ผมอ่านคำชี้แจงของอาจารย์และคุณทวีธรรม เห็นด้วยกับการใช้ป้ายแจ้งว่า นี่เป็นการบ้านของเด็ก กรุณาช่วย ๆ กันดู อย่าเพิ่งรีบลบหรือแจ้งลบหรืออะไรทำนองนี้ (แต่ไม่ใช่ในประเด็นที่ว่าเราเข้าไป Revamp เนื้อหาของเขาทั้งหมด เพราะนี่เป็นการบ้านเขา ไม่ใช่การบ้านเรา แต่เราช่วยให้เขาทำการบ้านหรือโครงการที่เขากำลังทำอยู่ได้) ทำนองเดียวกับแม่แบบ {{อย่าเพิ่งลบ}} น่ะครับ แต่อาจกำหนดหลักเกณฑ์ให้ Flexible กว่าปกติหน่อย --G(x) (พูดคุย · หน้าที่เขียน) 12:10, 18 กันยายน 2553 (ICT)
* ครับตามเข้าไปดูแล้ว อยู่ที่ Wikipedia:WikiProject Classroom coordination นี่เอง ตอนแรกกดไปที่โครงการสถาบันการศึกษาได้เป็นเรื่องบทความสถาบันการศึกษาไปแทน เลยนึกว่าเขาไม่มีกัน
* ส่วนป้ายที่ผมกล่าวถึงไม่ได้หมายความว่าให้ชะลอการลบ เพียงแต่เป็นคำชี้แจงสำเร็จรูปสำหรับกรณีที่พบบ่อยเท่านั้น ถ้าควรลบทันทีก็ลบทันที ถ้าควรรอ 7 วันก็รอ ถ้าต้องอภิปรายก็ต้องอภิปราย และจะคิดว่าควรติดป้ายนี้เฉพาะกรณีที่เชื่อได้โดยปราศข้อสงสัยว่าเป็นการบ้าน และด้วยเหตุที่เป็นการบ้านทำให้ละเมิดนโยบายวิกิพีเดียไทย (หากเป็นการบ้านอย่างเดียว หรือ ละเมิดนโยบายอย่างเดียว ผมคิดว่าไม่ควรใช้ป้าย) อาจมีหลายคนที่ทำเป็นการบ้านแต่ไม่อยากให้คนอื่นรู้ว่าเป็นการบ้านก็ได้ ซึ่งถ้าเขาเขียนบทความได้ถูกต้อง ไม่ละเมิดนโยบายก็ไม่ควรไป discriminate หรือคนเขียนผิดนโยบาย แต่มาเขียนเองไม่ได้เขียนส่งเป็นการบ้าน ไปติดป้ายก็อาจทำให้เสียน้ำใจเช่นกัน ดังนั้นป้ายการบ้านที่ผมเสนอเป็นเหมือนป้ายเตือนสำหรับกรณีที่ร้ายแรงและพบบ่อยเท่านั้น ไม่ครอบจักรวาลและคิดว่าไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ

--taweethaも 19:19, 18 กันยายน 2553 (ICT)


ความคิดเห็นของอาจารย์ที่เกี่ยวข้อง

ในฐานะอาจารย์ที่สั่งงานให้นิสิตทำรายงานส่งนะคะขออธิบายเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายแก่การทำงานของพวกท่านในที่นี้บ้างดังนี้ค่ะ

  1. ในตอนที่แจกแจงรายละเอียดงานนั้น ได้แจกแจงรายละเอียดหรือการเขียนเรื่องต่างๆลงวิกิเรียบร้อยไปแล้ว อธิบายให้นิสิตทราบแล้วว่า วิกิ เป็นสารานุกรม เพราะฉะนั้นให้ปฏิบัติดังนี้
    • ให้ตั้งชื่อที่เป็นการอธิบายคำ หรือเรื่องราวที่น่าสนใจ หลีกเลี่ยงคำว่า "กฎมายไทย" เพราะอย่างที่พวกท่านแจ้งน่ะค่ะ ว่ามันไม่เป็นสารานุกรม อันนี้ก็แจ้งนิสิตไปแล้วค่ะ
    • เรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ อันนี้ย้ำมากมาย บอกมาตลอด แต่ก็อย่างที่ octahedron80 กล่าวน่ะค่ะ ว่าเด็กไทยยังติดนิสัยในการตัดแปะอยู่มาก
    • ให้พิมพ์เนื้อหาที่จะอัพลงในโปรแกรมอื่นๆก่อน แล้วอาจจะนำมาให้อาจารย์ตรวจดูก่อนที่จะอัพ หรือหากพิจารณาดูแล้วว่าเหมาะสม ก็อัพลง แล้วส่งลิ้งมาให้ตรวจด้วยค่ะ
    • ให้นิสิตทำการตรวจสอบก่อนว่า เรื่องที่จะเขียนนั้น มีบทความของคนอื่นอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ หากซ้ำ ก็ให้เข้าไปดูว่าควรจะมีเรื่องอะไรที่เป็นประโ้ยชน์เพิ่มเติมหรือไม่ ตามนั้นค่ะ
  2. เรื่องที่มีนิสิตบางคนพยายามอัพจนถูกแบน username ไปนั้น จากที่ได้ติดตามอ่านเหตุผลที่พวกท่านได้อภิปรายไว้ "อย่ายุ่งกับการบ้านของข้าพเจ้า เพราะมันคือคะแนนของข้าพเจ้า" หรือเรื่องที่นิสิตพยายามเขียนบทความของตัวเองเป็นเอกเทศนั้น อาจารย์ได้ตำหนิไปตามสมควรแล้วค่ะ เพราะต่อให้ไม่ใช่วิกิ แต่การกระทำเช่นนี้ ก็ไม่สามารถเป็นที่ยอมรับได้
  3. งานชิ้นนี้ อาจารย์ได้มอบหมายให้นิสิตทำกันมาตั้งแต่ต้นเทอม เพื่อให้เป็นผลงานประจำเทอม และมีกำหนดส่งวันที่ 24 กันยายน 2553 แต่อย่างที่ทุกท่านเห็น ว่านิสิตเพิ่งจะมาเร่งทำเอาช่วงใกล้ถึงกำหนดส่ง จึงเป็นเรื่องธรรมดา ที่นิสิตจะไม่ได้เข้ามาอ่าน "นโยบาย" หรือ "สิ่งที่ใช่ หรือสิ่งที่ไม่ใช่วิกิ" เพื่อการทำความเข้าใจก่อนลงมือทำ เพราะมัวแต่เร่งหาข้อมูล และปั่นงานให้ทันกำหนดส่ง อันนี้ต้องขอรับผิดแทนนิสิตแต่เพียงผู้เดียวค่ะ

อนึ่ง ทุกๆครั้งที่นิสิตอัพบทความลงวิกิ อาจารย์อนุญาตให้นิสิตส่งเป็นลิ้งค์มาให้อาจารย์ดู ซึ่งนิสิตก็ปฏิบัติเช่นนั้นกันเป็นส่วนมาก หรืออย่างที่เรียนไปแล้ว บางคนก็ยังได้ส่งบทความที่เป็น word มาให้อ่านก่อน ทุกครั้งที่นิสิตส่งมาให้ดู อาจารย์อ่านเสมอค่ะ และจะมีคอมเม้นท์กลับไปทุกครั้งว่าอะไรที่ควรแก้ไข ซึ่งจะเน้นที่เรื่องหลักๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นน่ะค่ะ ประกอบกับ การเพิ่มเติมลิ้งค์ภายในและลิ้งค์ภายนอกที่น่าเชื่อถือลงไปด้วย แต่ผลลัพธ์ที่ตามกลับมา เป็นไปสองทางค่ะคือ

  1. นิสิตไม่ปฏิบัติตาม และผลคือโดนแก้ไข หรือโดนลบบทความนั้นไปในที่สุด
  2. นิสิตพยายามจะปฏิบัติตาม แต่บทความโดนแก้ไขหรือลบไปก่อนที่นิสิตจะสามารถทำได้ ซึ่งในกรณีนี้ อาจารย์ก็เข้าใจทางวิกิค่ะ ว่าเนื้อหาบนวิกิ ควรจะเป็นบทความที่มีคุณค่า ให้ความรู้ หากไม่ถูกต้องหรือไม่น่าเชื่อถือ ควรถูกลบไปโดยเร็ว และเห็นด้วยกับคำแนะนำของบางท่านที่เสนอว่า ควรจะไปเขียนที่หน้าผู้ใช้ก่อน พอใจแล้วค่อยอัพ อันนี้ ก็ต้องขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำค่ะ

อย่างไรก็ดี การตัดสินใจที่มอบหมายให้นิสิตทำรายงานส่งบนวิกินั้น มีเหตุผลดังนี้ค่ะ (ขอแยกเป็นข้อๆอีกทีนะคะ เพื่อจะได้อ่านสะดวก)

  1. อาจารย์เห็นตามนโยบายที่สำคัญของวิกิ ทั้งไทย และต่างประเทศว่า เป็นพื้นที่ของการแบ่งปันความรู้ ซึ่งการทำรายงานของนิสิต แล้วส่งมาให้อาจารย์เป็นรูปเล่มในแบบเดิมนั้น ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดแก่สังคม จึงเห็นว่า หากได้นำเอาความรู้ที่นิสิตได้รับจากการเรียนนั้น มาเผยแพร่ให้วิกิมีบทความที่เป็นประโยชน์กว้างขวางขึ้นก็น่าจะดีไม่น้อย (ทั้งนี้ อยู่ภายใต้การดูแลของอาจารย์ดังที่ได้กล่าวไปแล้วค่ะ)
  2. สืบเนื่องมาจากข้อ 1. ค่ะ วิกิ เป็นพื้นที่ๆต้อนรับนักเขียนใหม่ๆ ให้โอกาส และไม่มีการตัดสินด้วยความลำเอียง เพราะฉะนั้น นิสิตจึงน่าจะได้รับโอกาสที่ดีในการช่วยเหลือสังคม อีกทั้งยังสามารถเรียนรู้ข้อผิดพลาดต่างๆ ในการทำงานเขียนได้เป็นอย่างดี (ดังที่ได้เห็นจากที่เรามานั่งอภิปรายอยู่นี่แล้ว)
  3. ความรู้ที่มีอยู่บนวิกินั้น สามารถพัฒนาต่อได้ ไม่ว่าใครหากเห็นว่าเรื่องใดยังไม่ถูกต้องหรือสมบูรณ์ ก็สามารถแก้ไขหรือเพิ่มเติมได้ อาจารย์จึงเห็นว่า การที่นิสิตมาลงบทความในหัวข้อที่ตัวเองสนใจนั้น บางเรื่องยังไม่มีบนวิกิ แล้วก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการที่จะให้บุคคลอื่นๆ เข้ามาร่วมแบ่งปันความรู้ให้มากขึ้นได้ หรือหากเป็นเรื่องที่มีอยู่แล้ว แต่มีเพียงการอธิบายคำ (ซึ่งอาจารย์เข้าใจว่า สารานุกรม ไม่ใช่พจนานุกรม) และนิสิตเข้าไปทำการแก้ไขเพิ่มเติม ย่อมส่งผลดีในการแบ่งปันความรู้มากกว่า ถึงแม้อาจจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะมีแต่ข้อกฎหมายไทย แต่ก็เป็นก้าวย่างที่ดี สำหรับผู้ที่มีความรู้ตามกฎหมายต่างประเทศที่จะเข้ามาเพิ่มเติมได้ค่ะ

หากมีเรื่องใดที่ต้องการอภิปรายอีก อาจารย์ยินดีค่ะ ----ข้อความนี้ไม่ได้ลงชื่อ ซึ่งออกความเห็นโดยผู้ใช้ Papaduncry (พูดคุยหน้าที่เขียน) 10:57, 18 กันยายน 2553 (ICT)

ในความคิดของผมเราควรใช้บอตแนะนำไปก่อนเช่นมีคนสมัครใช้ชื่อ A มาแล้วก็ขอให้ติดป้าย{{นักเรียน}}หรืออะไรสุดแล้วแต่แล้วให้บอตแจ้งแนะนำนโยบายการเขียนเช่นพวกละมิดฯ การอ้างอิง เป็นต้นและที่สำคัญที่บทความควรมีป้ายบอกด้วยว่านี่คือการบ้าย หรือไม่ก็สร้างกระบะทรายการบ้านมาให้ใช้จะได้เก็บกวาดง่ายขึ้นครับ และที่สำคัญอาจารย์ควรติดต่อวิกิก่อนด้วยสักวันสองวันเพื่อรับมือครับ --Jo Shigeru 12:44, 18 กันยายน 2553 (ICT)
เรื่องของบอตไม่น่าจะเข้าข่ายนี้ครับ เพราะเราจะทราบได้อย่างไรว่าคนไหนเป็น Contributor ที่เข้ามาเขียน คนไหนเป็นนักเรียนที่ทำการบ้าน คนไหนไม่ใช่คนไทย (Autocreated account) ประเด็นนี้น่าจะตกไป ส่วนเรื่องการแนะนำนโยบาย ข้อความต้อนรับที่ส่งไปถึงหน้าของนักเรียนก็มีครับ แต่อาจารย์อธิบายไปแล้ว ว่าบางทีเด็กมาทำงานแบบไฟลนก้น ดังนั้นจึงไม่อ่าน อยากให้งานเสร็จเป็นพอ --G(x) (พูดคุย · หน้าที่เขียน) 12:49, 18 กันยายน 2553 (ICT)
เรื่อง welcome บอต ควรจะทำแต่คงไม่เกี่ยวกับกรณีนี้ครับ วิกิพีเดียภาษาญี่ปุ่น ไม่ว่าใครหน้าไหนเข้าไป ขนาดเป็น autocreated account ยังได้รับแจ้งตอนรับเลย เดิมเคยเห็นคุณ Mopza มีบอตเช่นนี้อยู่ อาจพอช่วยได้บ้าง คุณ​ Jo_Shigeru เองก็มีบอตนี้ด้วยเหมือนกันไม่ใช่เหรอครับ ผมว่าแค่การแจ้งต้อนรับก็ช่วยแก้ปัญหาได้บางส่วน แต่คงจะแจ้งต้อนรับอย่าง discriminatory ไม่ได้ เพราะอาจขัดหลักการ privacy --taweethaも 01:54, 20 กันยายน 2553 (ICT)
ครับ นักเรียนก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย ขอสารภาพว่าตอนแรกผมนึกว่าอาจารย์กำหนดให้ใช้ชื่อบทความนั้นบทความนี้โดยตรง ก็ต้องขออภัยที่เข้าใจผิดครับ --Horus | พูดคุย 16:36, 18 กันยายน 2553 (ICT)

เรียนอาจารย์ด้วยครับว่า วิกิพีเดียมีโครงการพี่น้องที่อาจเหมาะสำหรับงานของลูกศิษย์ท่าน เช่น วิกิพจนานุกรม วิกิตำรา ซึ่งเข้าได้จากหน้าหลัก ซึ่งบางทีอาจจะเป็นการดีมากกว่าครับ --Horus | พูดคุย 16:38, 18 กันยายน 2553 (ICT)

ขอขอบพระคุณอาจารย์ที่ไว้วางใจและเห็นความสำคัญของวิกิพีเดียครับ ผมเห็นด้วยกับอาจารย์เรื่องการแบ่งปันความรู้สู่สังคม เป็นประโยชน์กว่าการทำรายงานมากครับ และเป็นการเพิ่มกำลังคนให้กับวิกิพีเดียได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดีมีข้อเสนอแนะบางประการอยากฝากให้นำไปพิจารณาครับ โดยเฉพาะเรื่องการประเมินผลให้สอดคล้องกับพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในวิกิพีเดีย

  1. นิสิต/นักศึกษา/นักเรียน ใช้ชื่อ account เดียวหรือไม่ แจ้งชื่อ account อาจารย์ตั้งแต่เริ่มงานหรือไม่ ป้องกันการโดนบล็อกแล้วเปลี่ยนชื่อ และ privacy ของนักศึกษาถูก compromise หรือไม่ หากใช้รหัสประจำตัวของสถาบันการศึกษา นักศึกษาบางรายอาจไม่ประสงค์ให้คนภายนอกเห็นว่าตนเองมาแก้ไขงานในวิกิพีเดีย และต่อไปอาจเกิดศึกระหว่างสถาบันออนไลน์ก็ได้ ผมจึงเสนอว่าให้นักศึกษาใช้ชื่อ account อะไรก็ได้ของตนเอง แล้วแจ้งอาจารย์ก่อนเริ่มเขียนบทความ
  2. หาก นิสิต/นักศึกษา/นักเรียน ละเมิดนโยบายร้ายแรง ถูกตักเตือนแล้วดื้อดึง หรือ ก่อกวน สร้างภาระแก่ชุมชนวิกิพีเดีย จะมีการตัดคะแนนอย่างไรหรือไม่
  3. หาก นิสิต/นักศึกษา/นักเรียน ช่วยปรับปรุงบทความอื่นในวิกิพีเดียนอกจากที่ได้รับมอบหมาย จะเพิ่มคะแนนอย่างไรหรือไม่
  4. หากบทความที่ นิสิต/นักศึกษา/นักเรียน เขียนถูกคัดเลือกเป็นบทความคัดสรร บทความคุณภาพ หรือ คัดเลือกให้ลงในหน้าแรกวิกิพีเดีย ถูกอ้างอิงจากสื่ออื่น หรือมียอดเข้าชมสูง จะเพิ่มคะแนนอย่างไรหรือไม่

--taweethaも 19:34, 18 กันยายน 2553 (ICT)

19 sep

ขอขอบพระคุณที่เข้าใจถึงเจตนาดีในการสร้างสรรค์งาน อาจจะยังมีประเด็นเพิ่มเติมในการอภิปรายตามที่ท่านได้เสนอหรือสอบถามมาค่ะ

  1. ในเรื่อง ของวิกิตำรา หรือพจนานุกรมนั้นอาจารย์อาจจะมีความคิดเห็นต่างจากท่านอยู่เป็นประการสำคัญดังนี้นะคะ ประการที่หนึ่ง จากการที่ได้ศึกษาถึงวัตถุประสงค์ของวิกิตำรานั้น และจากความเข้าใจทั่วไปของคำว่า "ตำรา" อาจารย์เข้าใจว่า น่าจะเป็นที่สำหรับการเผยแพร่ข้อมูล หรือเอกสารทางวิชาการที่อาจจะได้รับการตีพิมพ์จากที่อื่นมาก่อน แล้วเจ้าของผลงานต้องการเผยแพร่งานของตนผ่านวิกิตำรา เพราะหากได้ชื่อว่าตำรา น่าจะต้องเป็นที่น่าเชื่อถือ ได้รับการสร้างสรรค์จากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นจริงๆ และสามารถใช้เป็น primary source ได้ (หากเข้าใจผิดอย่างไรช่วยแนะนำด้วยค่ะ)
  2. ประเด็นเรื่องพฤติกรรมของนิสิตต่อการสร้างสรรค์งานผ่านวิกินั้น อาจจะต้องแยกเป็นสองประเด็นหลัก คือ หากกระทำผิด จะได้รับบทลงโทษหรือไม่นั้น อาจารย์เห็นว่า การโดนตำหนิ ทั้งจากอาจารย์และชุมชนวิกิพีเดียนั้น ค่อนข้างส่งผลกระทบรุนแรงทางจิตใจในการสร้างสรรค์งานของนิสิตมากพอแล้ว เห็นได้จากตลอดเวลาที่นิสิตเริ่มทำการอัพบทความและเริ่มได้รับผลตอบรับในทางลบต่างๆ กำลังใจในการทำงานนั้นลดหายลงไปอย่างมาก เริ่มจากที่อาจารย์ต้องบอกว่าไม่เป็นไร ผิดก็เริ่มใหม่ และต้องแก้ไขอย่างไรจึงจะสมบูรณ์ขึ้น จนตอนนี้เริ่มจะกลายเป็นต้องขู่แกมบังคับว่า ทำซะ แก้ไขซะ ไม่งั้นไม่ต้องเอาคะแนน (ทั้งๆที่ไม่ได้อยากทำแบบนั้น เพราะความตั้งใจแรกคือ อยากให้นิสิตในภาคภูมิใจในความสามารถของตนเองในการสร้างสรรค์ผลงานสักหนึ่งชิ้น) ส่วนประเด็นว่า ถ้านิสิตทำถูกต้อง ได้รับความชื่นชมจากชุมชนฯ จะได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นหรือไม่ อาจารย์ขออธิบายว่า คะแนนของนิสิตจะถูกพิจารณาจากเนื้อหาที่นิสิตทำ และเป็นไปตามเกณฑ์การวัดคะแนนที่อาจารย์ตั้งไว้ ตามกำหนดระยะเวลาส่งงาน (และกำหนดส่งเกรดของมหาวิทยาลัย) ซึ่งอาจารย์สามารถรับผิดชอบได้เฉพาะในระยะเวลาดังกล่าว เรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ถือเป็นความภาคภูมิใจในการได้รับการยอมรับจากสังคมของตัวนิสิตเอง กล่าวคือ อาจารย์ให้คุณค่าทางจิตใจของนิสิตในการสร้างสรรค์งานมากกว่าคะแนนในชั้นเรียนค่ะ
  3. ในเรื่อง privacy ของนิสิตนั้น อาจารย์ไม่เคยก้าวก่ายค่ะ ใครจะใช้ชื่อ username ว่าอย่างไร ไม่เคยกำหนด ซึ่งอาจจะเป็นข้อบกพร่องในการดูแลนิสิตอย่างหนึ่ง ที่เชื่อใจ และมั่นใจว่านิสิตจะสามารถสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่าได้ด้วยตัวเอง โดยลืมคิดไปว่า นิสิตกำลังทำงานที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมสูงถึงเพียงนี้ เพราะคิดแต่ว่า เจตนาในการทำดีก็เพียงพอแล้ว ก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

อนึ่ง อีกประเด็นที่อาจจะขออภิปรายเพิ่มเติมกับทุกท่าน คือเรื่องคำอธิบายกฎหมายที่แทรกมาระหว่างบทความ จากที่ได้ตามอ่านงานของนิสิตหลายคนที่ถูกอภิปรายว่า เนื้อหากฎหมายไม่ควรนำมาใส่ ในบางหัวข้ออาจารย์เห็นด้วยนะคะ แต่ในบางหัวข้อซึ่งชื่อหัวข้อมันเป็นกฎหมายอยู่แล้ว การจะไม่ใส่ข้อกฎหมายเลยคงเป็นไปไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น สิทธิความเป็นส่วนตัว (Privacy Right) ลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ (Software Copyright) เป็นต้น เพราะเป็นเรื่องของกฎหมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการอธิบายข้อกฎหมายในที่นี้ อาจารย์ก็ไม่เห็นว่า ควรจะไปอยู่ที่วิกิตำราหรืออย่างไร และแนวทางของ en.wiki ก็มีการอธิบายข้อกฎหมายเช่นเดียวกัน สิ่งที่เป็นประเด็นใน en.wiki ซึ่งอาจารย์ได้เคยใช้ประโยชน์มาแล้วอย่างมากมายนั้น มีเพียงเรื่องหลักๆคือ ความน่าเชื่อถือ ความสมบูรณ์ของบทความ และการมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับหัวข้อที่กำหนดไว้เท่านั้นเองค่ะ --ผู้ใช้:Papaduncry


ไม่มีการอภิปรายต่อ แสดงว่าอาจารย์เข้าใจถูกใช่ไม๊คะ?? --ผู้ใช้:Papaduncry

คิดว่าตอนนี้คงไม่มีอะไรเพิ่มเติมมากแล้วล่ะครับ ผมขอเสนอแนะให้อาจารย์ทดลองใช้วิกิพีเดีย (ถ้าเป็นไปได้) ครับ เพื่อที่ท่านจะได้นำไปสอนหรืออบรมลูกศิษย์ของท่านในการทำงานคราวหน้า จะได้ไม่ประสบปัญหาอีกครับ --Horus | พูดคุย 20:24, 19 กันยายน 2553 (ICT)
  1. วิกิตำรา (ดูเพิ่มที่ en:Wikibooks) ไม่จำเป็นต้องเป็นงานวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์จากที่อื่นมาก่อนครับ ความแตกต่างระหว่าง วิกิพีเดียกับวิกิตำรา ก็แค่ความแตกต่างระหว่างสารานุกรมกับหนังสือครับ หนังสือย่อมมีตัวอย่างและอรรถาธิบายได้ยาวกว่า อีกทั้งใช้ pedagogical technique ในการนำเสนอเรื่อง แต่สารานุกรมเน้นที่ concise และครอบคลุม จะไม่มีตัวอย่างมากเกินจำเป็น และความยาวจำกัดครับ ขณะนี้โครงการที่เป็นที่นิยมสูงสุดคือวิกิพีเดีย ส่วนวิกิตำราและโครงการอื่นๆ ค่อยข้างร้าง หากนักศึกษาทำงานในนั้นก็จะไม่มีใครไปคอยให้คำแนะนำติชมเท่าไหร่ ถ้าอาจารย์มีหลายวิชาหรือมีงานให้ทำหลายชิ้นอาจลองดูก็ได้ การไปสร้างสรรค์งานในโครงการร้างอาจเป็นผลดีสองอย่าง คือ ทำให้โครงการกลับได้รับความสนใจ และระหว่างที่นักศึกษาทำงานก็ไม่มีคนเข้ามาตักเตือนให้เสียกำลังใจ
  2. แน่นอนว่า evaluation มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดตามกำหนดของสถานศึกษาครับ แต่ว่าผมมอง reward & punishment เพื่อเสริมสร้างให้เกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในวิกิพีเดีย บางครั้งคะแนนอาจเป็น reward & punishment ที่ไม่เหมาะสมก็ได้ เพียงคำชม คำตักเดือนก็สมควรแก่เหตุ
  3. ผมเห็นชื่อผู้ใช้จำนวนมากตั้งเป็นรหัสนักศึกษา ถ้าไม่ใช่มาจากวิชาของอาจารย์ ก็คงมาจากวิชาอื่นๆ ปัจจุบันเห็นได้แทบทุกวันเลยครับ

--taweethaも 20:30, 19 กันยายน 2553 (ICT)


ตลกดีนะคะที่เรามานั่งถกเถียง แถมจิกกัด กันเพื่อพัฒนาการของไทยวิกิ แต่อาจารย์ก็เชื่อว่า เราทุกคนในที่นี้อยากให้ไทยวิกิพีเดียเป็นสังคมของการแลกเปลี่ยนความรู้ที่มีบรรยากาศที่ดีในการเข้าร่วมและส่งเสริมให้มีการใช้ไทยวิกิเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาค่ะ

จากคำแนะนำของคุณ taweethaもที่แนะนำให้ไปดูว่าวิกิตำราคืออะไร ได้ข้อสรุปหลักๆที่น่าจะเป็นประเด็นดังนี้นะคะ ซึ่งอาจารย์ก็ยังมีความเห็นว่าวิกิตำราน่าจะเป็นแหล่งรวมข้อมูลที่ solid, trustable, และ referrable ในฐานะงานที่ผู้เชี่ยวชาญสร้างขึ้นค่ะ และก็เห็นว่างานของนิสิตยังไม่มีคุณค่ามากเพียงพอที่จะเป็นตำราได้ค่ะ เพราะนิสิตยังขาดความเชี่ยวชาญที่มากพอ แต่มีความรู้เพียงพอที่จะสามารถอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจอย่างที่ตนเข้าใจได้ จึงน่าจะเหมาะสมกับการเป็นวิกิพีเดีย ซึ่งผู้อื่นสามารถช่วยพัฒนาได้ต่อไปในอนาคต แต่หากเป็นประเด็นที่จะทำให้วิกิตำราของไทยไม่ร้าง หรือป้องกันการที่นิสิตจะหมดกำลังใจเพราะการถูกตำหนิ นั้น อาจารย์คิดว่าเป็นคนละเรื่องกันค่ะ

ส่วนที่คุณ Horus พยายามแนะนำให้อาจารย์ใช้วิกิพีเดีย นั้น ต้องขอขอบพระคุณสำหรับคำแนะนำ แต่อาจารย์ใช้บริการของวิกิพีเดียมานานเกือบสิบปีแล้ว ในการสืบหาเอกสารที่จะนำมาอ้างอิงการทำงานประกอบการเรียนการศึกษา (จากหมวดอ้างอิง) และยังได้มีส่วนช่วยในการแก้ไขงานของ en:wiki บางชิ้นงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ได้ศึกษาในขณะนั้นด้วย แต่คุณหรือผู้ดูแลท่านอื่นอาจจะต้องลองเปิดใจให้กว้างกับการเขียนงานของผู้อื่นบ้าง ตามหลักการ 5 pillars ของวิกิพีเดียน่ะค่ะ เพราะถึงแม้งานนั้นจะไม่สมบูรณ์ ดูเหมือนจะไม่มีคุณค่า (ในสายตาของคุณ) แต่มันอาจจะมีคุณค่า และเหมาะสมกับผู้อื่น ดังเช่นที่ได้อภิปรายในเรื่องของการอธิบายข้อกฎหมายข้างต้นไปแล้ว (ยังไม่เห็นท่านไหนว่าอย่างไรในประเด็นนี้ แต่ไปอภิปรายบ่อยๆในบทความของนิสิตบางคน เชิงว่า ถ้ามีคำอธิบายกฎหมาย เรื่องนั้นจะไม่เป็นสารานุกรมอยู่เรื่อยไป) ความผิดพลาดในการทำงานของนิสิต เป็นเรื่องที่ใครๆก็สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ ในฐานะของอาจารย์ ไม่เคย spoil นิสิตด้วยการไปต่อว่าไทยวิกิพีเดียให้นิสิตฟังอย่างเสียหาย แล้วถือหางลูกศิษย์ตัวเองว่าดีแล้วถูกแล้ว บอกแต่ว่า ที่เค้าอภิปรายมาก็สมควรแล้ว แก้ไขสิ ทำใหม่ให้ถูกต้องสิ ลอกเค้ามาได้ยังไง เอากฎหมายทั้งฉบับมาใส่ทำไม ใส่อ้างอิงเพิ่มเข้าไปสิ ฯลฯ อีกมากมาย อาจารย์เครียด และหนักใจไม่น้อยไปกว่าที่ทุกท่านในที่นี้รู้สึกหรอกค่ะ ยิ่งประสบปัญหาที่ว่า เด็กสมัยนี้เขียนหนังสือไม่เป็น อ่านไม่รู้เรื่อง ในฐานะคนที่จะต้องหล่อหลอมและปั้นพวกเค้าให้ออกไปรับใช้สังคม มันเจ็บปวดนะคะ แต่เมื่อเป็นอาจารย์ ก็ต้องเข้าใจ อดทน ให้อภัย แก้ไขในสิ่งผิด ส่งเสริมในสิ่งที่ถูก ไม่ต่างจากผลงานที่พวกท่านพยายามทำกันหรอกค่ะ และท่านในฐานะที่เป็น editor ในที่นี้ จะไม่สามารถให้โอกาสอนาคตของชาติได้เลยเหรอคะ หรือว่ามันเป็นภาระที่หนักเกินไป สำหรับท่านในฐานะ editor ก็ชี้แจงค่ะ อาจารย์จะได้ลดภาระของท่านลง กลับไปให้เด็กทำรายงานเหมือนเดิม

ขอชี้แจงนะคะ ว่าไม่ได้ประชด หรือน้อยใจ แต่การอ่านคำอภิปรายที่ไม่ได้พูดคุยด้วยเหตุผล และจิกกัดกันนั้น มันไม่น่าเป็นที่ชอบใจเลยสักนิด

ต้องขออภัยท่านที่เข้าใจ ให้โอกาส และไม่เคยคิดว่างานของนิสิตเป็นภาระ และท่านที่อภิปรายด้วยเหตุผล แต่อาจถูกกระทบไปด้วยนะคะ --ผู้ใช้:Papaduncry


ใจเย็นๆ นะครับ ตอบแต่ละประเด็นดังนี้

  1. วิกิตำรา ผมยังยืนยันเหมือนเดิมว่าไม่จำเป็นต้องเป็นงานวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์จากที่อื่นมาก่อนครับ ความแตกต่างระหว่าง วิกิพีเดียกับวิกิตำรา ก็แค่ความแตกต่างระหว่างสารานุกรมกับหนังสือครับ และขอไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า "งานของนิสิตยังไม่มีคุณค่ามากเพียงพอที่จะเป็นตำรา" ผมเชื่อว่าถ้าเขียนสารานุกรมได้ก็เขียนหนังสือได้ ในทางกลับกันสารานุกรมอาจมีบางแง่มุมที่เขียนยากกว่าหนังสือเสียอีก นอกจากนี้สำหรับสารานุกรมที่นี่เราก็ไม่กีดกันผู้ใช้ที่เป็นนักเรียนนักศึกษาแต่อย่างใด วิกิตำราก็ใช้หลักการเดียวกัน (สำหรับเรื่องโครงการร้าง อาจเป็นคนละเรื่องกันอย่างที่อาจารย์บอก แต่ผมอยากแสดงให้เห็นถึงเหตุผลที่มีคนแนะนำไปวิกิตำรา)
  2. ส่วนงานของนิสิตอาจารย์จะเหมาะสมกับโครงการใด ก็แล้วแต่อาจารย์พิจารณาครับ ความจริงแล้วยังมีเว็บอื่นๆ อีก เช่น คลังปัญญาไทย หรือ จะให้นักศึกษาสร้างเว็บของตัวเองเลยก็ได้ การที่อาจารย์เลือกใช้วิกิพีเดียไทย ผมคิดว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่เราได้รับความไว้วางใจจากสถาบันการศึกษา ความจริงแล้วอาจารย์อาจเปิดโอกาสให้นิสิตเลือกเว็บไซต์/วิธีนำเสนอเองก็ได้ อาจลดแรงกดดันได้อีกทางหนึ่ง นิสิตท่านใดชอบวิกิพีเดียก็จะได้มาใช้ ท่านใดไม่ชอบก็จะได้มีทางเลือกอื่น เพราะว่านอกจากการคัดลอกตัดแปะแล้ว ในสังคมไทยยังมีการใช้เพื่อนทำงานแทนอีกด้วย ถ้าเปิดโอกาสให้นักศึกษาทำสิ่งที่ตนเองเลือกและมีความรักในสิ่งนั้นแล้ว คงทำด้วยตัวเองและทำอย่างเต็มความสามารถ
  3. ลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ และ สิทธิในความเป็นส่วนตัว อาจขาดมุมมองสากล และยังต้องปรับปรุงอีก ลองเปรียบเทียบดูกับ en:Privacy en:Privacy_law และ en:Software_license รูปแบบการเขียนจำแนกประเภทสิ่งที่กล่าวถึงอย่างเฉพาะเจาะจง เหมือนกับระบบการเรียนของไทยที่ต้องท่องจำ (learn by rote) ว่าอะไรประกอบไปด้วยอะไรบ้าง แต่เมื่อดูบทความภาษาอังกฤษ มุมมองเป็น pluralistic มากกว่า อย่างเรื่อง software กฎหมายต่างประเทศเขาให้จด patent ได้ แต่เราก็อาจมิได้คำนึงถึง ดังนั้นจึงมิใช่ว่าใส่ข้อกฎหมายลงไปในบทความไม่ได้ แต่ถ้าจะใส่ก็อย่าทำให้ tone ของบทความเปลี่ยนจากสากลเป็นเรื่องราวแบบไทยๆ
  4. ในฐานะผู้ดูแลระบบวิกิพีเดีย ขอรับประกันว่าจะให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียมกันครับ ส่วนประเด็นขัดแย้งอื่นๆ มีอยู่ทั่วไปในวิกิพีเดียอยู่แล้ว ต้องขอความร่วมมืออยู่กันอย่าง tolerant และเชื่อว่าทุกคนมีเจตนาดี เพราะอาจารย์ใส่ใจนักศึกษา อยากฟูมฟักให้อนาคตของชาติให้มีความรู้ความสามารถจึงสละเวลามาตอบในนี้ เพราะคุณ​ Horus ขยันดูแลวิกิพีเดีย และไม่ยอมให้มีสิ่งใดผิดจากนโยบายหรือมาตรฐานของวิกิพีเดียไทย คุณ Horus จึงได้เป็นตัวตั้งตัวตีเสนอหัวข้ออภิปรายนี้ขึ้นมา จึงขอเรียนอีกครั้งว่า ใจเย็นๆ ครับ

--taweethaも 01:24, 20 กันยายน 2553 (ICT)

ตามความเข้าใจของผม วิกิตำรา (Wikibooks) เป็นแหล่งรวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับการสอนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน วิธีทำ คู่มือการใช้งาน หนังสือเรียน แบบฝึกหัด ตำรา how-to หรือแม้แต่ตำราอาหาร เท่าที่พบก็มีสิ่งเหล่านี้ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นโปรก็ได้ แต่แนวคิดอย่างที่ท่านอาจารย์นึกถึงนั้นเช่นเอกสารวิชาการ เอกสารวิจัย จากผู้เชี่ยวชาญ หรือวิทยานิพนธ์ เป็นนโยบายหลักของโครงการ วิกิวิทยาลัย (Wikiversity) ซึ่งภาษาไทยยังไม่มีครับ ต้องขออภัยว่า เรื่องที่บอกให้ขอไปเขียนที่วิกิตำราก็อาจจะถือว่าผิด เพราะมันก็ไม่เข้าเรื่องเหล่านั้น แต่อย่างที่เรียนไปคือ ลักษณะของการเขียนในวิกิพีเดียก็ไม่เป็นสารานุกรมเช่นกัน เนื้อหาที่นิสิตเขียนมาจึงไม่มีที่ลงอย่างเหมาะสม หากต้องการเขียนลงวิกิพีเดียต้องมีการปรับปรุง เพิ่มเข้าหรือตัดออกก็ตาม เรื่องที่ว่ามีการแทรกกฎหมายก็ไม่ได้ห้ามแต่ (1) ไม่ควรคัดลอกตัวบทกฎหมายมาลงไว้เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการอธิบายเพิ่มเติม หากเป็นเช่นนี้เราจะทำลิงก์ให้ไปดูที่วิกิซอร์ซแทน (2) การลงเนื้อหากฎหมายไทยอย่างเดียวจะเกิดความไม่เป็นสากล เพราะกฎหมายลักษณะเดียวกันก็มีอยู่ในประเทศอื่น เพราะวิกิพีเดียภาษาไทยเป็นแหล่งข้อมูลในภาษาไทย ไม่ใช่ของประเทศไทยเท่านั้น ลองดูตัวอย่างบทความเกี่ยวกับกฎหมายได้ที่ ยืมใช้คงรูป ยืมใช้สิ้นเปลือง ซึ่งไม่ได้กล่าวเฉพาะประเทศไทย (ถึงแม้จะอ้างถึงฎีกาไทยมากไปหน่อย) และมีการอธิบายหรือยกตัวอย่างประกอบเพิ่มเติม ผมอยากให้เขียนในแนวทางแบบนี้มากกว่าครับ (3) ไม่ควรตั้งชื่อบทความว่า ก กับกฎหมายไทย เพราะจะทำให้ขอบเขตของเนื้อหาถูกจำกัดอยู่แค่เรื่อง ก กับเรื่องกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ขยายความเรื่องอื่นที่เกี่ยวกับ ก เพิ่มเติมไม่ได้ (ในขณะเดียวกันก็ไม่ตั้งชื่อว่า ก กับการเมือง, ก กับเทคโนโลยี, ก กับวิถีชุมชน ด้วยเหตุผลเดียวกัน) ดังนั้นเราควรตั้งชื่อให้ generic ที่สุดเกี่ยวกับ ก เพื่อให้คนอื่นสามารถขยายขอบเขตของเนื้อหาของ ก ได้ครับ --octahedron80 14:20, 20 กันยายน 2553 (ICT)

สั้นๆ ครับ เสริมคุณ octahedron80 วิกิพีเดียทุกภาษาเขียนให้คนทั้งโลกอ่าน เพียงแต่ว่าวิกิพีเดีย X ก็เขียนเป็นภาษา X เท่านั้น - ถ้าเรื่องมันจำเพาะกับประเทศใดประเทศหนึ่งเกินไป อาจมีทางออกคือเปลี่ยนชื่อบทความให้มีชื่อประเทศนั้นไปด้วยเลย แต่กระนั้นวิธีการนำเสนอก็นำเสนอเรื่องราวในประเทศนั้นสู่ผู้อ่านสากลอยู่ดี วิธีการนำเสนอไม่เป็นต้องจำกัดอยู่ใต้กรอบความคิดของประเทศนั้นๆ --taweethaも 14:58, 20 กันยายน 2553 (ICT)


เข้าใจไม่ต่างไปจากที่ทั้งสองท่านอธิบายมาหรอกค่ะ แล้วก็เข้าใจด้วยว่าเอกสารวิชาการ เอกสารวิจัย จากผู้เชี่ยวชาญ หรือวิทยานิพนธ์นั้น ถูกต้องห้ามไม่ให้อัพลง en:wikibooks ด้วยซ้ำ และที่น่าจะเหมาะสมกับไทยวิกิพีเดีย ณ เวลานี้ น่าจะเป็นวิกิซอร์สมากกว่า แต่โดยส่วนตัว ก็ยังคิดว่า ถ้าใช้คำว่าตำรา ก็น่าจะมีความหมายเช่นเดียวกับตำรา (Textbook) ที่เคยได้อ่านมาตอนสมัยเรียน ซึ่ง wikibooks เปิดโอกาสให้เจ้าของลิขสิทธิ์บางท่านที่ใจกว้างได้ share ความรู้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาน่ะค่ะ เพียงแต่ข้อจำกัดของ Wikibooks อาจจะมีตรงที่ว่า คงจะยาวเป็นเล่มไม่ได้ เพราะจำกัดด้วยขนาดของข้อมูล แต่เอาเป็นว่าในประเด็นนี้ เราเข้าใจในหัวใจสำคัญไม่ต่างกัน แต่อาจจะมองต่างกันก็ได้ค่ะ

ในเรื่องการบรรจุเนื้อหากฎหมาย และหัวเรื่องของบทความนั้น เมื่อนิสิตส่งงานมาให้อ่าน อาจารย์ตำหนิกลับไป ให้รีบดำเนินการแก้ไขก่อนที่จะโดน Tag หรือ ลบไปทุกครั้ง แต่อย่างที่เคยชี้แจงไว้น่ะค่ะ ว่า เมื่อนิสิตเพิกเฉย ซึ่งอาจจะชะล่าใจ ไม่ปฏิบัติตาม ภาระย่อมตกแก่ท่าน หรือในบางกรณี นิสิตต้องการแก้ไข แต่เนื่องจาก เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหา นิสิตอาจจะต้องทำการค้นคว้าเพิ่มเติม (ทั้งนี้ไม่ได้หมายความรวมถึงการแจ้งให้เปลี่ยนหัวเรื่องนะคะ) แล้วก็ไม่ทันจะได้แก้ไข ก็โดนลบหรือ แก้ไขบทความไปเป็นอย่างอื่นก่อนแล้ว แล้วก็อย่างที่เคยเรียนไปแล้วว่า ในเรื่องนี้ขอรับผิดแต่เพียงผู้เดียว และอาจจะต้องขอร้องให้ท่านอดทนต่อไปอีกจนกระทั่งถึงเพียงวันศุกร์นี้เท่านั้น เพราะอาจารย์อยากขอดูศักยภาพของนิสิตจนถึงที่สุดเมื่อถึงกำหนดส่งงานแล้ว แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความให้ท่านชะลอการลบ หรือการแก้ไขบทความของนิสิตนะคะ ทำไปเถอะค่ะ เพียงแต่ขอให้อดทนกับความยุ่งยากใจในความพยายามอัพบทความของนิสิตในช่วงนี้น่ะค่ะ ในช่วงระหว่างนี้ อาจารย์ไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงการทำงานของนิสิตได้ค่ะ แต่หลังจากนี้ไปแล้ว อาจารย์จะเข้าไปแก้ไขเพิ่มเติมบทความเหล่านี้ด้วยตัวเองค่ะ คงจะเพิ่มเติมความเป็นสากล (นิสิตอาจมีข้อจำกัดในมุมมองของต่างประเทศอยู่บ้าง ก็ต้องเข้าใจนะคะว่าเป็นนิสิตระดับปริญญาตรีเท่านั้น และความรู้ของนิสิตในระดับนี้ก็เพียงพอกับการประเมินผลของอาจารย์แล้วค่ะ) และสามารถทำให้บทความสมบูรณ์ขึ้นได้ ถึงแม้อาจจะไม่สมบูรณ์แบบก็ตาม --ผู้ใช้:Papaduncry

ผมขอโทษที่ทำให้อาจารย์คิดเลยเถิดไปถึงเพียงนั้น ที่ผมแนะนำไปก็มาจากข้อความจากหน้าในวิกิพีเดียภาษาอื่น (ซึ่งตรงกับแนวปฏิบัติที่กำลังเสนออยู่ตอนนี้) หวังว่าท่านคงจะไม่เสียน้ำใจ --Horus | พูดคุย 21:38, 20 กันยายน 2553 (ICT)

22 sep

ขอแสดงความเห็นบ้าง.. ในฐานะที่ก็อยู่กับ วกพด มานาน (แต่ช่วงหลังห่างหาย) ขอแสดงความเห็นต่อกรณีนี้ ดังนี้

  1. ที่ว่า โครงการไหนเหมาะกับงาน นศ. ส่วนตัว คิดว่า พีเดีย เป็นโครงการที่เหมาะสมที่สุดอยู่แล้ว ตามสาเหตุที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวมา กลับยินดีด้วยซ้ำที่สถาบันการศึกษาเห็นเช่นนี้ เพราะก็เป็นอีกทางที่จะช่วยพัฒนา วกพด ได้ไม่มากก็น้อย
  2. เรื่องที่เกิดขึ้นปัจจุบัน ขอเสนอว่า ให้หาวิธีเฉพาะหน้าไปก่อน อาจารย์อาจจะให้ i (incomplete) ไว้ก่อนกรณี น.ศ. ที่มีปัญหาสาหัสจริงๆ (เพราะ i เป็นเกรดที่สามารถแก้เป็น A B C D E F ฯลฯ ได้ และมีระยะเวลาแก้ถึง 1 ภาคเรียน) ส่วนที่มีปัญหาเล็กน้อยก็ให้แก้ไขไปตามที่ท่านๆเสนอกันไป เพื่อจะได้ตัดเกรดได้ทันเวลา
  3. ในภาคเรียนต่อๆไป ผมเสนอแบบนี้ เมื่อเป็นวิชาชิ้นงานประจำภาคเรียน จริงอยู่มันควรจะรวบรวมส่งทีเดียวและให้ได้ (ถ้า นศ. เทพจริง) แต่ขอเสนออย่างนี้
    1. เนื่องจาก สิ่งที่ นศ. กำลังจะทำต่อไปนี้ กำลังจะทำในสังคมเปิด ในคนหมู่มาก และมีผลกระทบต่อคนหมู่มาก ไม่ใช่งานที่อยู่ในคลาส ดังนั้น ให้ชี้แจง นศ. ภาคเรียนต่อๆไป ว่า โครงการนี้ให้ผลจริง กับสังคมจริง นศ.ควรจะต้องมีความรับผิดชอบ และระมัดระวังในระดับหนึ่ง (ซึ่งก็อยู่ในระดับที่บัณฑิตควรจะมี) -- เหมือนก่อนการฝึกงานที่จะแจ้งว่า นศ.ออกไปทำงานกับโลกจริง ไม่ใช่ในมหาวิทยาลัย
    2. การเสนอ อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นบทความใหม่อย่างเดียว ทุกวันนี้ วกพด มีบทความที่ "สั้นมาก" และ "มีแต่กล่องข้อความ" อยู่มาก อาจให้ นศ. เสนอแก้ไขปรับปรุงบทความเหล่านี้ได้ / หรือ นศ. ส่วนน้อยบางคน ที่มีความสามารถด้านการเขียนเป็นพิเศษ อาจจะให้เสนอปรับปรุงบทความโครง ให้ผ่านเกณฑ์บทความคุณภาพ ก็ได้ -- นศ.ในเอกเดียวกัน อาจจะไม่ได้ฝึกงานตำแหน่งเดียวกัน ขึ้นอยู่กับศักยภาพ
    3. เมื่อให้ระยะเวลา นศ. ในการเลือกและเสนอบทความที่ตนจะเขียนแล้ว ในวันที่สรุปว่าใครจะทำอะไร (อาจจะเป็นประมาณคลาสที่ 4 ของการเรียน) ก็ให้อาจารย์ ซึ่งเป็นผู้สอน มาลิสต์รายชื่อบทความในหน้าผู้ใช้อาจารย์ สักเล็กน้อยก็ได้ว่า รายชื่อ ก ข ค ง นี้ จะให้ นศ. พัฒนาบทความ - ตรงนี้ ชาวชุมชน วกพด จะได้รู้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับบทความไหน คนที่จะให้ความช่วยเหลือ ก็อาจจะให้ได้ (เหมือนเป็นพี่เลี้ยง และพี่เลี้ยงจำเป็น ในเวลา นศ. ฝึกงาน) อาจจะจับคู่ว่า ทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก - User:thanyakij / ภาษาซี - User:octahedron80 ก็ได้ เป็นต้น -- เหมือนว่าต้องมีรายชื่อให้หน่วยงานทราบ ว่า นศ.คนไหน ฝึกงานแผนกใด
    4. กำหนดให้ นศ. เขียนระบุในหน้าผู้ใช้ของตน สักเล็กน้อยว่าจะพัฒนาบทความใด (โดยมาก ชาวชุมชนวกพด ก็มักมีรายชื่อสิ่งที่จะทำ อยู่ในหน้าผู้ใช้แต่ละคนอยู่แล้ว) แต่ไม่จำเป็นจะต้องบอกว่า เป็นนายนั่น น.ส.นี่ รหัสนู้นนั้นนี้ อันนี้ไม่จำเป็น เช่น สวัสดีครับ ผมAqua มีโครงการจะพัฒนาบทความ ทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ครับ ขอคำแนะนำด้วยนะครับ -- เหมือนให้ นศ.รู้จักฝากเนื้อฝากตัว เข้าสังคมในการทำงานจริง ไม่ใช่เรื่องของข้า คะแนนข้า รถไฟสายชาเขียวของข้า ข้าจะสร้างใครห้ามแตะ -- ข้อนี้จริงๆอยากให้ทำมากกว่านี้ เช่น กล่องผู้ใช้ ฯลฯ ตามแบบที่ วกพด แนะนำ ให้เป็นลักษณะคล้ายเรซูเม่ ของ นศ. เวลาเข้าทำงาน แต่ เอาเบื้องต้นเท่านั้นก็ได้
    5. กำหนดในการได้บทความและ นศ.เข้าพื้นที่ วกพด ควรให้เสร็จก่อน Mid-Term เพราะการเขียนต้องใช้เวลา (ใครเข้างานสาย ขาดงานบ่อยก็ปล่อยไป งานเหมานี้อยู่ที่ผลสำเร็จของงานเป็นพอ)
    6. เมื่อ นศ.เข้าพื้นที่แล้ว ผมว่า ชาว วกพด เอง ควรต้อนรับด้วย เพราะเขาเหล่านั้นหากประทับใจ ก็อาจจะมาร่วมเขียนโดยตลอด -- เหมือนการฝึกาน ที่ นศ.ฝึกงาน อาจขอสมัครเข้าทำงานจริงภายหลัง ขึ้นอยู่กับความประทับใจในองค์กร
    7. ไม่ทราบว่ามีหรือเปล่า อยากให้วิชานี้มีรูปเล่มรายงานด้วย (ถ้าจะให้ นศ. ทำเป็น pdf ก็ได้ ลดโลกร้อน :P ) จะได้ระบุรายละเอียดการทำงานด้วย
    8. ถ้ามีรูปเล่ม อยากให้เพิ่มกระบวนการให้ นศ. ทำการศึกษา และเสนอ อ. ก่อนว่า บทความที่จะทำนั้น วกพด มีนโยบายโดยเฉพาะหรือไม่ อย่างไร เช่น บทความรถไฟ ยังไม่มีนโยบายเฉพาะ (ผมกำลังร่าง) ก็ไม่เป็นไร ใช้มาตรฐานกลาง วกพด ไปเลย แต่หาก นศ.จะเขียน รองเท้านารีคางกบ หรือ นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า หรือ อาณาจักรสุโขทัย บทวามพวกนี้มีข้อกำหนดเฉพาะอยู่ ให้ นศ. นำไปใส่ในรูปเล่มด้วย ก็จะดี ตรงนี้ "แค่หา" คิดว่าใช้เวลาอย่างมาก 2 week พอ
    9. บทความใน วกพด ไม่จำเป็นต้องเขียนเสร็จทีเดียว ดังนั้น สามารถให้นศ. มาเขียนทีละย่อหน้า ก็ได้ อาจารย์อาจจะตรวจ word แล้วพบว่า พอได้สักสองย่อหน้าจากสิบ ก็ให้นำมาลงก่อนได้ หรือขาดอ้างอิง ก็ให้ลงก่อนได้ เพราะถ้ามันไม่ make sense ชาว วกพด ก็ไปติดป้าย {{ต้องการอ้างอิง}} ให้อยู่แล้ว ทั้งนี้จะต้องแจ้งด้วยว่า หากเกิดการติดป้าย อย่าตกใจ ให้ดูว่าผลงานขาดเหลืออะไรให้ปฏิบัติตาม
    10. เมื่อกำหนดส่งผลงาน อยากให้มี "แบบประเมิน" อย่างน้อยก็มี อาจารย์ฝ่ายหนึ่ง สมาชิกวกพด อีกฝ่ายหนึ่ง ก็พอ ดูผลงานว่า ควรได้สักเท่าไร -- เหมือนการประเมินผลงานจากการฝึกงาน
    11. เรื่องสมาชิกในการประเมิน ผมว่าที่เจอหน้าขาประจำนี่ ทุกท่านน่าจะพอประเมินได้ หรืออาจเลือกเฉพาะผู้ที่มี score เกิน 10000 edit ก็ได้ (ดูจาก หน้านี้ วิกิพีเดีย:รายชื่อชาววิกิพีเดียที่แก้ไขมากที่สุด 500 อันดับ)
  4. สุดท้ายก็ บ่นมาเสียยาว แต่เห็นด้วยและยินดี ที่จะให้ นศ. พัฒนาบทความตามที่ความสามารถเขาจะมี เพราะ วกพด รับเนื้อหา(ที่เป็นสารานุกรม) ทุกขนาด แม้แต่การแก้ไขประโยคเดียว ก็ทำได้ในวกพด (แต่ไม่ได้คะแนนจากอาจารย์ ฮา :D ) และก็ขอเป็นผู้ร่วมให้การประเมินทุกบทความในครั้งนี้ และยินดีให้คำปรึกษากับ นศ. ผ่านระบบพูดคุยของ วกพด และที่เว็บ วิกิไทยฟอรั่ม(มันยังมีอยู่ไหม? ไม่ได้ใช้นานมากแล้ว)
  5. เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้ ......
  6. -- m̈assgo AquaCS4 22:06, 22 กันยายน 2553 (ICT)

การสอน

ควรให้นักเรียนสรุปนโยบายก่อนนะครับถึงจะให้เขียน --Jo Shigeru 15:35, 26 กันยายน 2553 (ICT)