ข้ามไปเนื้อหา

วิกิพีเดีย:ปุจฉา-วิสัชนา/กรุ/จิปาถะ/มิถุนายน 2553

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


สัญญาจ้างทำของ

ผมสงสัยดังนี้ครับ

ผมกับลูกค้าได้เคยทำสัญญาปากเปล่าต่อกันว่าจะทำของให้ลูกค้า แต่มิได้ระบุกันว่าจะนำเครื่องลงไปที่สเตชันไหน แต่ ณ วันที่ไปตรวจสอบหน้างานนั้น ลูกค้าชี้ให้ผมดูเครื่องที่สเตชั่น ๑ แต่ในวันที่ขึ้นไปทำการติดตั้งจริงนั้น ลูกค้ากลับให้ไปทำการติดตั้งที่สเตชั่น ๕ ซึ่งมีคุณลักษณะที่แตกต่างออกไปจากสเตชั่น ๑ อันเป็นผลให้การทดสอบหลังการติดตั้งนั้นไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย

ในกรณีนี้ ผมจะสามารถถือเอาว่า ผู้ว่าจ้างกระทำการอันผิดข้อตกลงจะได้หรือไม่ ?

และในกรณีนี้ จำเป็นหรือไม่ที่ผมจะต้องแก้ไขงานให้กับผู้ว่าจ้าง ?

นอกจากนี้ ตามมาตรา ๑๙๕ วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ในกรณีที่มิได้มีการกำหนดประเภท ให้ส่งสินค้าชนิดปานกลางไปให้ และตามมาตรา ๑๙๙๕ วรรคสอง กำหนดว่า ในกรนีที่ลูกหนี้ได้ทำการอันจะต้องทำเพื่อการส่งมอบแล้วทุกประการ ให้ถือว่ากรรมสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าหนี้(ลูกค้า) ซึ่งในกรณีนี้ จะถือว่าผมได้ทำตามหน้าที่ที่ได้ตกลงกันเอาไว้แล้วได้หรือไม่ ?

--ไอ้ขี้เมา (หว่อบู้ต่ง-จงเหวิน) : ผู้ดูแลหน้าตาดีแห่งไร้สาระนุกรม : ก๊งเหล้ากันได้ 10:37, 21 มิถุนายน 2553 (ICT)

ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า

  1. ความสัมพันธ์ข้างต้นเป็นประเภทใด
    • พิเคราะห์ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ("ป.พ.พ.")
      • มาตรา ๕๗๕ ว่า "อันว่า 'จ้างแรงงาน' นั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า 'ลูกจ้าง' ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า 'นายจ้าง' และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้"
      • มาตรา ๕๘๗ ว่า "อันว่า 'จ้างทำของ' นั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า 'ผู้รับจ้าง' ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า 'ผู้ว่าจ้าง' และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น"
    • เห็นว่า
      • จ้างทำของ (hire of work) มีลักษณะเป็นการที่ผู้ว่าจ้างจ้างให้ผู้รับจ้างทำการงานสิ่งหนึ่ง ๆ จนสำเร็จ มุ่งประสงค์ที่ผลสำเร็จแห่งงานนั้น เมื่อสำเร็จแล้วผู้ว่าจ้างจะจ่ายสินจ้างให้แก่ผู้รับจ้าง
      • ข้อเท็จจริงข้างต้น ฟังได้แต่เพียงว่า มีการที่ฝ่ายหนึ่งตกลงว่าจะทำของให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ปรากฏว่าเป็นการทำอะไร มุ่งประสงค์ต่อผลสำเร็จของกิจกรรมนั้นหรือไม่ หรือมีการตกลงเรื่องสินจ้างกันหรือไม่ เช่นไร จึงต้องยุติเป็นเบื้่องต้นก่อนว่า ข้อเท็จจริงนิ่งที่การจ้างทำของ ดังนั้น จึงวินิจฉัยว่า นิติสัมพันธ์ของคู่พิพาทเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๘๗ (ถ้ามีรายละเอียดมากกว่านี้ อาจได้ความว่าเป็นการจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๗๕ มิใช่จ้างทำของ หรือเป็นสัญญาอย่างอื่นก็ได้ แม้ข้อความในสัญญาจะเรียก "จ้างทำของ" ก็ตาม)
  2. สัญญาจ้างทำของดังกล่าวใช้บังคับได้หรือไม่
    • เห็นว่า แม้ข้อตกลงข้างต้นจะกระทำเป็นวาจา ทว่า ป.พ.พ. ไม่มีบทบัญญัติบังคับให้การจ้างทำของต้องทำเป็นหนังสือ หรือจดทะเบียนกับเจ้าพนักงาน หรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือให้ทำประการอื่นแต่อย่างใด เมื่อคู่กรณีมีคำเสนอและคำสนองสอดคล้องต้องตรงกัน กับทั้งไม่ปรา่กฏว่าข้อตกลงนั้นขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีข้อขัดข้องอื่น ๆ ตามกฎหมายแต่อย่างใด สัญญาย่อมเกิดและก่อเป็นนิติสัมพันธ์ตามความประสงค์ของคนทั้งคู่ตามหลักอิสระของการแสดงเจตนาและทำสัญญาอย่างสมบูรณ์
  3. ผู้ว่าจ้างผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดหรือไม่ หรือผู้รับจ้างต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่้ เช่นไร
    • พิเคราะห์ ป.พ.พ.
      • มาตรา ๕๙๑ ว่า "ถ้าความชำรุดบกพร่องหรือความชักช้าในการที่ทำนั้น เกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ก็ดี เพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างก็ดี ท่านว่าผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด เว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้วว่าสัมภาระนั้นไม่เหมาะหรือว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้อง และมิได้บอกกล่าวตักเตือน"
      • มาตรา ๕๙๔ ว่า "ถ้าในระหว่างเวลาที่ทำการอยู่นั้นเป็นวิสัยจะคาดหมายล่วงหน้าได้แน่นอนว่า การที่ทำนั้นจะสำเร็จอย่างบกพร่อง หรือจะเป็นไปในทางอันฝ่าฝืนข้อสัญญา เพราะความผิดของผู้รับจ้างไซร้ ผู้ว่าจ้างจะบอกกล่าวให้ผู้รับจ้างแก้ไขสิ่งที่บกพร่องให้คืนดี หรือทำการให้เป็นไปตามสัญญา ภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นก็ได้ ถ้าและคลาดกำหนดนั้นไป ท่านว่าผู้ว่าจ้างชอบที่จะเอาการนั้นให้บุคคลภายนอกซ่อมแซมหรือทำต่อไปได้ ซึ่งผู้รับจ้างจะต้องเสี่ยงความเสียหายและออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น"
      • มาตรา ๕๙๕ ว่า "ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระไซร้ ความรับผิดของผู้รับจ้างในการบกพร่องนั้น ท่านให้บังคับด้วยบทแห่งประมวลกฎหมายนี้ลักษณะซื้อขาย"
      • มาตรา ๔๗๒ ว่า
        • "ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด
        • ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่"
      • มาตรา ๔๗๓ ว่า
        • "ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
        • (๑) ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้น หากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน
        • (๒) ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ และผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน
        • (๓) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด"
      • มาตรา ๕๙๘ ว่า "ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วทั้งชำรุดบกพร่อง มิได้อิดเอื้อนโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยาย ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิด เว้นแต่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นเช่นจะไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบ หรือผู้รับจ้างได้ปิดบังความนั้นเสีย"
    • เห็นว่า
      • คู่สัญญาทำข้อตกลงกัน โดยผู้รับจ้างตกลงจะติดตั้งวัตถุบางอย่าง ณ สถานที่หนึ่งให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะจ่ายสินจ้างให้เมื่อเสร็จงานตามจ้าง ซึ่งเมื่อแรกทำสัญญามิได้ตกลงกันว่าสถานที่ให้ติดตั้งวัตถุดังกล่าวเป็นสถานที่ใด แต่ต่อมา ก็ได้กำหนดเป็น "สเตชัน ๑" ซึ่งย่อมนับรับเข้าเป็นข้อสัญญาข้อหนึ่งโดยปริยาย เพราะสาระสำคัญของสัญญาจ้างทำของย่อมอยู่ที่การจ้าง ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยย่อมตกลงกันภายหลังได้
      • เมื่อได้ความว่า ตกลงกันให้ติดตั้งวัตถุบางอย่าง ณ "สเตชัน ๑" แต่ต่อมาผู้ว่าจ้างกลับให้ไปติดตั้ง ณ "สเตชัน ๕" การเปลี่ยนแปลงคำสั่งเช่้นนี้ย่อมเกิดขึ้นได้ในการจ้างงาน ผู้ว่าจ้างมีอำนาจและสิทธิกระทำได้เสมอ ถ้าผู้รับจ้างตกลงด้วยก็ย่อมกลายเป็นการข้อสัญญาข้อใหม่กันเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงคำสั่งมิใช่การผิดสัญญาแต่ประการใด
      • เมื่อผู้ว่าจ้างเปลี่ยนแปลงคำสั่ง จากให้่ติดตั้ง ณ "สเตชัน ๑" ไปติดตั้ง ณ "สเตชัน ๕" จนส่งผลให้งานไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย เช่นนี้ หากผู้รับจ้างเล็งเห็นได้ว่า ความเสียหายของผู้ว่าจ้างจะเกิืดเพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างเอง เพราะผู้รับจ้างย่อมมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการงานที่รับจ้าง ผู้รับจ้างก็มีหน้าที่ต้องบอกกล่าวหรือตักเตือน ถ้าผู้ว่าจ้างยันยืนกรานให้ติดตั้ง ณ สถานที่นั้นต่อไป และเกิดความเสียหายเช่นว่า ผู้รับจ้างจึงพ้นจากความรับผิดเพื่อความเสียหายนั้น ทว่า จากข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏว่าผู้รับจ้างได้บอกกล่าวหรือตักเตือนผู้ว่าจ้างแต่ประการใด ผู้รับจ้างจึงยังต้องรับผิดเพื่อความเสียหายของผู้ว่าจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๙๑
      • โดยปรกติ ถ้าส่งมอบงานแล้ว และผู้ว่าจ้างพบความเสียหาย ด้วยตนเองก็ดี หรือเพราะผู้รับจ้างแจ้งให้ทราบก็ดี ถ้าทั้งสองตกลงกันได้ว่า ให้ผู้ว่าจ้างแก้ไขให้ถูกต้องก็เป็นไปตามนั้น ซึ่งถ้าความเสียหายในงานมิใช่เพราะความผิดของผู้รับจ้างแล้ว ก็ต้องมีการจ่ายสินจ้างกันโดยเกิดเป็นสัญญาใหม่ ทว่า เมื่อวินิจฉัยแล้วว่า ผู้รับจ้างมีส่วนต้องรับผิดในความเสียหายเช่นว่า ผู้รับจ้างอาจต้องรับผิดชดใช้ให้ ไม่ว่าจะด้วยการที่ซ่อมแซมการงานให้ดี ทำการงานให้่ใหม่ หรือรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ผู้ว่าจ้างเสียไปเพราะการนำงานจ้างไปให้ผู้อื่นปรับปรุงให้ดี เป็นต้น แต่ถ้ายังไม่มีการส่งมอบงาน การจะเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๙๔
      • แต่ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดอีกต่อไป ถ้าปรากฏว่าเมื่อส่งมอบงาน และผู้ว่าจ้างทราบถึงความเสียหายในงานเช่นนั้น กับทั้งยอมรับงานไปโดยดีมิได้อิดเอื้อนแต่ประการใด หรือผู้ว่าจ้างไม่ทราบเองเพราะความประมาทเลินเล่อ ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๙๕ ประกอบมาตรา ๔๗๓ (๑) หรือ (๒) หรือมาตรา ๕๙๘ แล้วแต่กรณี
  4. ผู้รับจ้างถือว่าได้ทำหน้าที่ครบถ้วนตามสัญญาแล้วหรือไม่ เมื่อมีการปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๕
    • พิเคราะห์ ป.พ.พ.
      • มาตรา ๑๙๕ ว่า
        • "เมื่อทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้น ได้ระบุไว้แต่เพียงเป็นประเภท และถ้าตามสภาพแห่งนิติกรรม หรือตามเจตนาของคู่กรณี ไม่อาจจะกำหนดได้ว่าทรัพย์นั้นจะพึงเป็นชนิดอย่างไรไซร้ ท่านว่าลูกหนี้จะต้องส่งมอบทรัพย์ชนิดปานกลาง
        • ถ้าลูกหนี้ได้กระทำการอันตนจะพึงต้องทำเพื่อส่งมอบทรัพย์สิ่งนั้นทุกประการแล้วก็ดี หรือถ้าลูกหนี้ได้เลือกกำหนดทรัพย์ที่จะส่งมอบแล้วด้วยความยินยอมของเจ้าหนี้ก็ดี ท่านว่าทรัพย์นั้นจึงเป็นวัตถุแห่งหนี้จำเดิมแต่เวลานั้นไป"
      • มาตรา ๒๐๗ ว่า "ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด"
    • เห็นว่า
      • บทบัญญัติมาตรา ๑๙๕ นั้น เป็นกรณีที่คู่กรณีมีความสัมพันธ์ต้องส่งมอบทรัพย์สินให้แก่กัน แต่ทรัพย์สินอันนั้นระบุไว้เพียงประเภท มิได้ระบุชนิด ทั้งไม่สามารถหยั่งทราบด้วยว่าคู่กรณีอีกฝ่ายประสงค์ชนิดเช่นไร เช่น ผู้ซื้อสั่งซื้อน้ำตาลทรายจากผู้ขาย ๒๐ กิโลกรัม โดยมิได้ระบุว่าต้องการน้ำตาลทรายคุณภาพระดับใด ประกอบกับทั้งสองไม่เคยติดต่อซื้อขายกันมาก่อน จึงไม่ทราบว่าผู้ซื้อประสงค์เช่นไร เช่นนี้ ผู้ขายเพียงแต่จัดน้ำตาลทราบคุณภาพปานกลางเช่นที่ทั่ว ๆ ไปใช้สอยกันให้แก่ผู้ซื้อ
      • อนึ่ง มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง เป็นเหตุการณ์ถ้าคู่กรณีฝ่ายลูกหนี้ได้ "กระทำการอันตนจะพึงต้องทำเพื่อส่งมอบทรัพย์" ก็ถือว่าทรัพย์นั้นกลายเป็นวัตถุแห่งหนี้ คือ สิ่งที่จะต้องส่งมอบให้แก่เจ้าหนี้ นับแต่เวลาที่กระทำการนั้น เช่น ผู้ซื้อสั่งซื้อน้ำตาลทราย ๒๐ กิโลกรัม จากผู้ขาย โดยมิได้ระบุว่าต้องการน้ำตาลทรายคุณภาพระดับใด กล่าวว่า จะไปทำธุระก่อน เดี๋ยวกลับมาเอา ผู้ขายตักข้าวสารมาตวง ๒๐ กิโลกรัม นับแต่วินาทีนั้น ถือว่า ข้าวสารที่ตวงไว้นั้นเป็นสิ่งที่ต้องส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อตามสั่ง หากผู้ขายไปขายให้แก่ผู้อื่นเสียก่อนผู้ซื้อจะกลับมาเอา ทำให้ไม่มีข้าวสารขายให้แก่ผู้ซื้ออีกต่อไป ผู้ขายจะต้องรับผิดเพราะผิดสัญญา
      • ดังนั้น มาตรา ๑๙๕ ทั้งสองวรรค จึงมิอาจปรับใช้แก่กรณีนี้ได้ เพราะเป็นคนละกรณีกัน โดยกรณีตามมาตรา ๑๙๕ วัตถุแห่งหนี้ (object of obligation) ยังมิได้รับการกำหนดแน่ชัด จึงต้องถือเหตุการณ์ต่าง ๆ มากำหนดความแน่ชัด แต่กรณีนี้ วัตถุแห่งหนี้กำหนดแน่ชัดไว้แต่แรกเริ่มทำสัญญาแล้ว คือ การงานตามที่จ้างให้ทำ ดังนั้น ผู้รับจ้างในฐานะลูกหนี้ต้องส่งมอบการงานนั้นให้แก่ผู้ว่าจ้าง ไม่ว่าที่สุดแล้วการงานนั้นจะดีจะเลวเพียงใด ซึ่งอาจเป็นเรื่องต้องตกลงกันภายหลัง
      • ทั้งนี้ มาตรา ๑๙๕ ไม่มีที่ใดระบุว่า เมื่อปฏิบัติตามมาตรานี้แล้ว กรรมสิทธิ์ในวัตถุแห่งหนี้จะโอนไปแก่คู่กรณีอีกฝ่ายทันที การโอนกรรมสิทธิ์ในการงานที่จ้างทำย่อมเกิดขึ้นเมื่อผู้รับจ้างส่งมอบให้แก่ผู้ว่าจ้าง ซึ่งถ้าผู้ว่าจ้างไม่รับโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จึงจะถือว่าเจ้าหนี้ผิดนัดรับชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๕ ซึ่งจะเกิดผลต่าง ๆ ตามกฎหมายต่อไป
—— Clumsy  • พูดคุย | ๒๕๕๓.๐๖.๒๓, ๑๔:๐๐ นาฬิกา (ICT)

ยาไอซ์ทำเองได้ด้วยเหรอ แล้วมันทำยังไงสงสัย เพราะน้องมีอะไรแปลกๆในห้องอุปกรณ์เพียบ

ยาไอซ์ทำเองได้ด้วยเหรอ แล้วมันทำยังไงสงสัย เพราะน้องมีอะไรแปลกๆในห้องอุปกรณ์เพียบ -- 180.183.155.5 12:36, 27 มิถุนายน 2553

ถ้าคุณสืบค้นดี ๆ คุณก็จะรู้เองแหละ แต่ในนี้ไม่มีใครยอมบอกคุณหรอก เพราะการทำเช่นนั้นในทางกฎหมายถือว่ามีเจตนายั่วยุให้เกิดการกระทำความผิดทางกฎหมาย และผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือผู้ดูแลเว็บนี้และผู้ที่บอกคุณนั่นแหละครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเชื่อเถอะ ยาคูลต์ดีกว่าเยอะ--ไอ้ขี้เมา (หว่อบู้ต่ง-จงเหวิน) : ผู้ดูแลหน้าตาดีแห่งไร้สาระนุกรม : ก๊งเหล้ากันได้ 17:28, 28 มิถุนายน 2553 (ICT)
แต่ถ้าทำยาหม่องก็พอบอกได้นะอิอิ --octahedron80 11:56, 1 กรกฎาคม 2553 (ICT)
หันไปทำยาราไนก้าซะ แล้วจะติดใจจนเลิกยาไอซ์ Choosing between Truth and safety of Lies... 18:11, 10 สิงหาคม 2553 (ICT)