ข้ามไปเนื้อหา

วารสารเมืองโบราณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วารสารเมืองโบราณ ฉบับปฐมฤกษ์เริ่มวางจำหน่ายในช่วงต้นเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๑๗ ตลอดระยะเวลากว่าสามสิบปีที่ผ่านมา การนำเสนอภาพและบทความใน วารสารเมืองโบราณได้เปลี่ยนแปลงแนวทางหลักไปตามเงื่อนไขบริบทของแต่ละมิติเวลาอยู่เสมอ

ในช่วงสามทศวรรษก่อน ขณะแผ่นดินถิ่นฐานอันกว้างใหญ่ของประเทศถูกบุกเบิกแผ้วถางเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม คณะผู้จัดทำช่วงแรกๆ ได้มุ่งเน้นสำรวจและรายงานเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีที่ค้นพบใหม่ เชื่อมโยงกับการอ่านและอธิบายประวัติศาสตร์จากเอกสารประเภทจารึก ตำนานเป็นหลัก ต่อมา ได้เพิ่มเนื้อหาให้กับการศึกษาเฉพาะเรื่อง โดยเน้นการอธิบายจากมุมมองและทัศนะที่แตกต่างกันของผู้เขียนจำนวนมาก ครั้นในช่วงต้นทศวรรษ ๒๕๓๐ จึงหันมาสนใจที่จะอธิบายและให้ความหมายกับชุมชนจากอดีตจนถึงปัจจุบันในมุมมองของกลุ่มที่ร่วมวัฒนธรรมเดียวกัน อันเป็นความพยายามที่จะนำเสนอความรู้ความเข้าใจที่ละเอียดและลึกลงไปกว่าที่มีอยู่ในกระแสการท่องเที่ยวเชิงปริมาณ ซึ่งเริ่มเฟื่องฟูขึ้นแล้วในเวลานั้น

และก็เป็นเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษแล้ว ที่แนวทางหลักของวารสารเมืองโบราณให้ความสำคัญกับการเฝ้าสังเกต รายงาน และอธิบายการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรมไทยท้องถิ่น ที่แสดงออกผ่านทางประเพณีพิธีกรรม วิธีคิด ตลอดจนการสร้างอัตลักษณ์ใหม่บนพื้นฐานเดิม ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์อันเชี่ยวกรากซึ่งส่งผลสะเทือนไปทั่วถึงทุกแห่งแหล่งที่ในโลก โดยการนำเสนอยังคงยึดแนวทางงานวิชาการเพื่อการค้นคว้าอ้างอิง ทว่าก็มีส่วนคอลัมน์ประจำเล่ม ซึ่งมีความหลากหลายไปตามแต่ความสนใจพิเศษของผู้อ่านทั่วไปที่ยังเป็นนักเรียน นักศึกษา และคนทั่วไปรวมอยู่ด้วย

ปีที่ ๓๐ ของวารสารเมืองโบราณจึงอาจนับว่าเป็นช่วงเวลาที่วารสารฉบับหนึ่ง ซึ่งคลุกคลีกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลป และวัฒนธรรมในทางลึกมานานกว่าสามทศวรรษ จะเริ่มขยายขอบข่ายความสนใจศึกษาเข้าสู่เรื่องราวของผู้คน สังคม และชุมชน ตลอดจนเปิดพื้นที่ให้แก่การเข้ามามีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่มเหล่าอย่างแท้จริง

ปัจจุบัน วารสารเมืองโบราณยังคงเป็นหนังสือขนาด ๘ หน้ายกพิเศษ หนา ๑๖๐ หน้า เนื้อหาในเล่มแบ่งเป็นสามส่วน คือ

ส่วนเรื่องจากปก เป็นกลุ่มบทความหลัก ๓ - ๕ เรื่อง ซึ่งจะกล่าวถึง ตั้งข้อสังเกต และอรรถาธิบายถึงความรู้เกี่ยวกับ “หัวเรื่อง” (theme) นั้นๆ ในเชิงวิชาการทั้งทางลึกและทางกว้าง มีส่วนเชิงอรรถ การขยายความ และการอ้างอิงหนังสือบรรณานุกรมเช่นเดียวกับงานวิชาการทั่วๆ ไป แต่ปรับสำนวนภาษาให้อ่านเข้าใจได้ง่าย นำเสนอข้อสังเกตและแนวคิดรวบรัดชัดเจน ไม่เยิ่นเย้อ ดังเช่นที่เคยนำเสนอเรื่องวัฒนธรรมทุ่งกุลา ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น

ส่วนบทความ เป็นบทความเชิงวิชาการที่เขียนโดยคณาจารย์ในสถานศึกษา ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่จากองค์กรหน่วยงานซึ่งทำการสอน เผยแพร่ หรือรับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับเรื่องราวนั้นๆ โดยตรง และสาระจากการอภิปรายในประเด็นวิชาการที่ยังไม่ยุติ ข้อมูลหลักฐาน หรือแนวคิดใหม่ๆ เช่น เรื่องทวารวดีในสายตานักประวัติศาสตร์ ปัญหาศิลาจารึกหลักที่ ๑ พัฒนาการก่อนยุคสุโขทัย ตลอดจนสกู๊ปพิเศษที่เจาะลึกถึงความเคลื่อนไหวใหม่ๆ เน้นเรื่องเทคโนโลยี วัสดุอุปกรณ์ ขั้นตอนและวิธีการ ตลอดจนความรู้เชิงเทคนิคในระดับปฏิบัติการ ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายทั่วไปนัก เช่น เทคโนโลยีดิจิตอลกับงานอนุรักษ์ภาพถ่ายโบราณ วิธีการกำหนดอายุโบราณวัตถุ เครื่องมือและวิธีการขุดค้นของนักโบราณคดี เป็นต้น

ส่วนคอลัมน์ประจำเล่ม เป็นคอลัมน์ซึ่งมีความสั้นกระชับ มีเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่จิตรกรรมฝาผนัง โบราณสถาน ประติมากรรม ไปจนถึงเภสัชวิทยาโบราณ งานช่างพื้นบ้าน การแปลความศิลาจารึก การวิจารณ์หนังสือ และรายงานข่าวทั่วๆ ไป นำเสนอโดยสำนวนภาษาที่ง่าย เหมาะสำหรับผู้อ่านที่เป็นนักเรียน นักศึกษา และแม้แต่ผู้สนใจเรื่องราวทั่วๆไป

บทความทั้งสามส่วนจะถูกคัดเลือกให้มีความหลากหลายทั้งในแง่ของพื้นที่ที่ศึกษา มิติเวลา และคุณวุฒิวัยวุฒิ ตลอดจนกลุ่มสังกัดของผู้เขียน เพื่อให้ครอบคลุมฐานของผู้อ่านที่มีความสนใจเรื่องทางด้านนี้ทุกเพศทุกวัยด้วย

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]