วัตรนารีวงศ์
วัตรนารีวงศ์ | |
---|---|
ที่ตั้ง | ตำบลบางไผ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี |
ประเภท | สถานพุทธบริษัทของสามเณรี |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัตรนารีวงศ์ คือ สถานพุทธบริษัทของสามเณรี ซึ่งเป็นนิวาสสถานของนรินทร์กลึง ปัจจุบันเป็นบ้านนรินทร์กลึง ตั้งอยู่เชิงสะพานพระราม 5 ในตำบลบางไผ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี[1] วัตรนารีวงศ์ แปลว่าตระกูลของผู้หญิง ใช้คำว่าวัตรที่หมายถึงวัตรปฏิบัติแทนคำว่าวัด กล่าวกันว่าเป็น "วัตรภิกษุณีแห่งแรกในพุทธศาสนา"[2]
ประวัติ
[แก้]นรินทร์กลึงมีแนวคิดรื้อฟื้นการบวชภิกษุณีมาตั้งแต่ก่อตั้งพุทธบริษัทสมาคม เมื่อ พ.ศ. 2455 โดยได้เขียนลงวารสาร สาระธรรม เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2456 "ยั่วหญิงสัมมาทิฐิให้ริคิด ประกอบกิจกู้ชาติศาสนา ตามเยี่ยงอย่างโคตมีมีแบบมา เพื่อพาลาจะได้ว่าน้อยลงเอย" ขณะที่ลูกสาวคนแรกอายุได้ 3 ปี จนเมื่อลูกสาว ชื่อ สาระ วัย 18 ปี กับ จงดี วัย 13 ได้ออกบวชเป็นสามเณรี[3] โดยได้ตั้งวัตร์นารีวงศ์เมื่อ พ.ศ. 2471 นรินทร์กลึงได้นำเงินจากกำไรที่ทำธุรกิจยาดอง "ยานกเขาทั้งคู่" มาสร้างตึกสูง 7 ชั้น คล้ายวัด เริ่มแรกสร้างเป็นสถานที่สำหรับศึกษาธรรมะ ต่อมากลายเป็นที่ตั้งของสถานพุทธบริษัทในนาม "วัตรนารีวงศ์"[4]
ข่าวในหนังสือพิมพ์ บางกอกการเมืองระบุว่า
...นายกลึง (พนม สารนริน) บ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ตำบลบางไผ่ อำเภอนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ได้นำบุตรีสาวไปบวชยังสำนักท้องที่จังหวัดเพ็ชร์บุรีเปนสามเณรี 2 รูป แล้วมาสำนักอยู่ที่บ้านนายกลึงจนบัดนี้[4]
เพียง 2 วันหลังจากนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ออกพระบัญชา ลงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2471 ว่าห้ามมิให้พระสงฆ์ไทยทำการบวชให้ภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี
ต่อมามีสตรีอีก 6 คนออกบวชเพิ่ม นับรวมแล้วขณะนั้นมีสามเณรี 8 รูป แต่ไม่ปรากฏชื่อของอุปัชฌาย์ เนื่องมาจากการป้องกันมิให้รัฐเข้าจัดการกับภิกษุรูปนั้น[5]
ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้จับกุมสามเณรีที่วัตรนารีวงศ์ มาดำเนินคดีสามเณรี 4 รูป และศาลจังหวัดนนทบุรีได้พิพากษาจำคุก แต่สามเณรีไม่ยอม ผู้คุมจึงดึงจับกดพื้นและดึงจีวรออกในที่สาธารณะ แต่จำคุกเพียงรูปเดียวเป็นเวลา 7 วัน ในข้อหาไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่ง ต่อมา พ.ศ. 2478 รัฐสภาได้มีมติให้จับกุมภิกษุณีและสามเณรี โดยให้เจ้าหน้าที่ถอดจีวรสามเณรีออก นายนรินทร์เห็นว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ จึงถวายฎีกาแก่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่พระองค์มีพระบรมราชวินิจฉัยฎีกามีความสรุปว่า เห็นควรให้นายนรินทร์เลิกล้มความคิดเรื่องที่จะฟื้นฟูภิกษุณีเสีย[6]
สิ่งก่อสร้าง
[แก้]ในอดีตวัตรนารีวงศ์ประกอบไปด้วยที่พักสงฆ์รูปทรงตึกสูง 7 ชั้น มีชั้นใต้ดิน 1 ชั้น บนดิน 4 ชั้น ดาดฟ้า 1 ชั้น หอคอย 1 ชั้น ยังมีป้อมซึ่งเป็นบันไดเวียนขึ้นไปบนยอดเสาประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ค่าก่อสร้างในขณะนั้นอยู่หลักแสน อาคารสูง 7 ชั้นทุบทิ้งช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นช่วงเดียวกับที่นรินทร์ติดคุกอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช[7]
ปัจจุบันสิ่งก่อสร้างที่ยังคงหลงเหลืออยู่ คือ ภูเขาจำลอง ซากโบสถ์ และศาลาท่าน้ำ โดยภูเขาจำลองมีความสูงประมาณ 2 เมตร มีต้นไม้ปกคลุมไปทั่ว ภูเขาถูกตกแต่งด้วยไหและโอ่ง บนภูเขามีโบสถ์ขนาดจิ๋วสร้างประดิษฐานไว้ แต่ปัจจุบันโบสถ์จิ๋วได้พังทลายลงมา ซากผนังโบสถ์ เป็นศิลปะปูนปั้นรูปพระพุทธเจ้าปางป่าเลไลยก์ มีรูปช้างกับลิงนั่งหมอบอยู่เคียงข้าง ลายปูนปั้นมีลักษณะสมบูรณ์ ส่วนศาลาท่าน้ำคงอยู่สมบูรณ์ที่สุด เป็นศาลาท่าน้ำสีน้ำตาลทราย ไม่มีการตกแต่งทาสี[2]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "นนทบุรีศรีมหานคร" (PDF). สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-04-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-01.
- ↑ 2.0 2.1 พระชาย วรธัมโม. "'นารีวงศ์ :ปัจจุบันของวัตร์นารีวงศ์". คมชัดลึก.
- ↑ พระชาย วรธัมโม. "'นารีวงศ์ :พาลูกสาวออกบวชเป็นสามเณรี". คมชัดลึก.
- ↑ 4.0 4.1 "ปฐมบทแห่งวาทกรรมภิกษุณีเถรวาทไทย".
- ↑ เจษฎา บัวบาล. "ภิกษุณีไทย: สิทธิสตรี-เสรีนิยม บนย่างก้าวอนุรักษ์นิยม".
- ↑ "การสื่อสารทางการเมืองเพื่อสถานะภิกษุณีในประเทศไทย: ศึกษากรณีภิกษุณีธัมมนันทา". วารสาร มจร สังคมศาสตร์ปริทรรศน์.
- ↑ มติชนสุดสัปดาห์. "ฉัตรสุมาลย์ : ซากที่ไร้เชื้อ".