ข้ามไปเนื้อหา

วัดไผ่โรงวัว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดไผ่โรงวัว
พระกกุสันโธ ปางมารวิชัย
สูง 58 เมตร หน้าตักกว้าง 40 เมตร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดไผ่โรงวัว, วัดโพธาราม
ที่ตั้งตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดไผ่โรงวัว หรือ วัดโพธาราม เป็นวัดที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง วัดมีพื้นที่ทั้งหมด 248 ไร่ พื้นที่ของวัดแต่เดิมเป็นดงป่าไผ่ที่ชาวบ้านนำวัวมาผูกไว้ระหว่างทำนา ปัจจุบันภายในวัดมีสิ่งก่อสร้างต่างๆเป็นจำนวนมาก เช่น พระพุทธรูปต่างๆ รูปหล่อพุทธประวัติ พระโพธิสัตว์ พระวิหารร้อยยอด เจดีย์ร้อยยอด สังเวชนียสถานจำลอง เมืองสวรรค์เมืองนรกจำลอง ซึ่งสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ทำให้มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาอย่างสม่ำเสมอ โดยวัดแห่งนี้ ตั้งอยู่บริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3422 กิโลเมตรที่ 19

ประวัติ

[แก้]

สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2469 เดิมตั้งเป็นสำนักสงฆ์ในพื้นที่ 20 ไร่ ต่อมาชาวบ้านไผ่โรงวัวไปนิมนต์หลวงพ่อขอม จากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุใน อ. เมืองมาเป็นเจ้าอาวาส มีการพัฒนาวัดและขยายพื้นที่ออกไป ในขณะนั้นวัดมีชื่ออย่างเป็นทางการว่าวัดโพธาราม แต่ชาวบ้านยังคงเรียกวัดไผ่โรงวัว ใน พ.ศ. 2533 จึงเปลี่ยนเป็นชื่อวัดไผ่โรงวัวดังเดิม

หลวงพ่อขอมได้ดำเนินการก่อสร้าง “พระพุทธโคดม” เป็นพระพุทธรูปโลหะสำริดองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 17 ปี พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงยกพระเกตุมาลา เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2512 นอกจากพระพุทธโคดมแล้วยังมี "พระกกุสันโธ" สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2518-2523 เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย องค์สีขาว สูง 28 วา 2 ศอก หน้าตักกว้าง 20 วา ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นได้แต่ไกล ประชาชนทั่วไปนิยมมากราบไหว้ สังเวชนียสถาน 4 อยู่บริเวณด้านหน้าองค์พระกกุสันโธ ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างซึ่งจำลองจากสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาสี่แห่งในประเทศอินเดียและเนปาล ได้แก่ สวนลุมพินีสถานที่ประสูติซึ่งปัจจุบันอยู่ในเนปาล เจดีย์พุทธคยาสถานที่ตรัสรู้ สถูปเมืองสารนาถซึ่งเป็นที่ตั้งของป่าอิสิปตนมฤคทายวันสถานที่แสดงปฐมเทศนา โปรดปัญจวัคคีย์ และกุสินาราสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์

แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม

[แก้]

คลังภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]