ข้ามไปเนื้อหา

วัดโขดทิมทาราม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดโขดทิมทาราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดโขดทิมทาราม, วัดโขด, วัดโขด (ทิมราชธาราม), วัดโขด (ทิม ทราราม)
ที่ตั้งตำบลท่าประดู่ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อขาว
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดโขดทิมทาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลท่าประดู่ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดระยอง[1]

วัดโขดทิมทาราม หรือ วัดโขด มีชื่อเรียกด้วยกันหลายชื่อ อาทิเช่น วัดโขด (ทิมราชธาราม) หรือ วัดโขด (ทิม ทราราม) กล่าวกันว่าที่ได้ชื่อเช่นนี้ เพราะพระยาระยองผู้เป็นเจ้าเมืองนั้นมีนามเดิมหรือนามจริงว่า "ทิม" เป็นผู้สร้างวัดนี้ แต่ชาวบ้านเรียกกันสั้น ๆ ว่า "วัดโขด" อันเนื่องมาจากวัดนี้มีที่มาจากที่ตั้งอยู่บนโขดทรายติดกับแม่น้ำระยอง สำหรับประวัติการสร้างวัด สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2007 แต่กรมศิลปากรแจ้งว่าวัดโขดสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2113 สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หลังจากที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกปีหนึ่ง[2] ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 และประกอบพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528[3]

อุโบสถ (หลังเก่า) ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงโรง ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลังคาเครื่องไม้ เดิมมุงด้วยกระเบื้องหางมนซ้อนกัน เครื่องลำยองปูนปั้น หน้าบันปูนปั้นลวดลายเครือเถาประดับด้วยตุ๊กตาเคลือบรูปสัตว์ อิทธิพลศิลปะจีน ปัจจุบันซ่อมแซมใหม่เป็นหลังคาเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องลอนลูกฟูก สร้างมุข ลดเพิ่มเติมภายหลัง 1 ห้อง ด้านหน้ามีภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปพุทธประวัติตอนมารผจญ ผนังด้านหลังก่อทึบ ด้านข้างมีช่องหน้าต่างด้านละ 5 บาน บานประตูหน้าต่างไม้ โดยรอบอุโบสถมีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีเจดีย์มุมภายในเขตกำแพงแก้ว ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน ปางมารวิชัย มีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างพื้นบ้าน แต่สภาพชำรุดลางเลือนมาก แสดงภาพทศชาติชาดก ภาพกินรี และภาพวิถีชีวิตของผู้คนในยุคนั้น เจดีย์มุมลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง

นอกจากนี้วัดโขดยังคงเก็บรักษา สมุดข่อยโบราณ ไว้จำนวน 7 เล่ม ซึ่งแต่ละเล่มมีภาพลายเส้นรูปพระ นาง ยักษ์ และลิงฝีมือช่างโบราณสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ 

อ้างอิง

[แก้]
  1. "วัดโขดทิมธาราม วัดเก่าแก่ที่สุดในระยอง". องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-02. สืบค้นเมื่อ 2021-05-29.
  2. "วัดโขดทิมธาราม". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.[ลิงก์เสีย]
  3. "วัดโขด". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.