ข้ามไปเนื้อหา

วัดเจ็ดเสมียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเจ็ดเสมียน
แผนที่
ที่ตั้งตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูสีลวิสุทธิคุณ
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดเจ็ดเสมียน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีเนื้อที่ 19 ไร่ 6 ตารางวา

วัดเจ็ดเสมียนประกาศตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2300 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2519[1] ชื่อของวัดปรากฏอยู่ในตำนานพระปฐมเจดีย์ ฉบับพระยาราชสัมภารากรและฉบับตาปะขาวรอด ได้บันทึกเรื่องราวของนิทานพื้นบ้านเรื่องพระยากง พระยาพาน เมื่อครั้งที่พระเจ้าแผ่นดินสุโขทัยให้บุตรบุญธรรมคือพระยาพาน ได้ลงมาซ่องสุมผู้คนตั้งอยู่ที่บ้านเจ็ดเสมียน ยังปรากฏเรื่องเล่าสืบต่อมาว่าในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระเจ้าตากสินมหาราชได้รวบรวมไพร่พลออกจากกรุงศรีอยุธยาเดินทางผ่านมายังเมืองราชบุรี ทรงมีดำริให้ป่าวประกาศรับสมัครชายชาติทหารเพื่อร่วมรบกับข้าศึก ปรากฏว่ามีผู้คนมาสมัครเป็นจำนวนมาก พระองค์จึงโปรดให้รับสมัครผู้รู้หนังสือมาเป็นเสมียนรับลงทะเบียนเพิ่มเติม ปรากฏว่ามีคนมาอาสาทำหน้าที่ดังกล่าวถึง 7 คนละทำการบันทึกรายชื่อทหารได้ทันพลบค่ำพอดี จึงกลายเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน

นอกจากนั้น "เจ็ดเสมียน" ยังปรากฏอยู่ในบทประพันธ์ต่าง ๆ หลายครั้ง เช่น ใน นิราศพระแท่นดงรัง ของสามเณรกลั่น ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2376 ใน นิราศท่าดินแดง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โคลงนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อยแขวงเมืองกาญจนบุรี ของพระยาตรัง โคลงนิราศทวายของพระพิพิธสาลี ลิลิตเสด็จไปขัดทัพพม่าเมืองกาญจนบุรี พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ นิราศไทรโยค พระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และเรื่องเที่ยวไทรโยคคราวสมเด็จพระราชปิตุลา บรมวงศาภิมุข เสด็จประพาสเมื่อ พ.ศ. 2464[2]

พระราชนิพนธ์เสด็จประพาสไทรโยคในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่งว่า "วัดเจ็ดเสมียน ลานวัดกว้างใหญ่ ต้นไม้ร่มดูงามนัก เรือลูกค้าจอดอาศัยอยู่ที่นี้มาก บ้านเจ็ดเสมียนนี้เป็นที่ชอบของนักเลงกลอน พอใจจะอยากไหว้วานให้เสมียนมาจดแทบทุกฉบับ ในนิราศพระพุทธยอดฟ้าก็มีว่าถึงเจ็ดเสมียนนี้เหมือนกัน"

ในวิหารหลวงพ่อดำ มีรูปหล่อหลวงพ่อดำซึ่งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก บริเวณวัดยังเป็นที่ตั้งของตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "วัดเจ็ดเสมียน". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. ""เจ็ดเสมียน" ชื่อนี้มีที่มา". กรมศิลปากร.
  3. ศรัญญา สิงหชาติปรีชากุล. "การเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และการเปลี่ยนแปลงของตลาดเก่า 119 ปีเจ็ดเสมียน" (PDF). กรมศิลปากร.