วัดเขียน (จังหวัดอ่างทอง)
วัดเขียน | |
---|---|
ที่ตั้ง | ตำบลศาลเจ้าโรงทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดเขียน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย ในตำบลศาลเจ้าโรงทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง
วัดเขียนสร้างขึ้นสมัยใดไม่ปรากฎ แต่มีข้อมูลว่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2270 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สันนิษฐานว่าวัดเขียนได้ถูกปล่อยทิ้งร้างไปนานก่อนจะมีการบูรณะขึ้นใหม่ แต่จากหลักฐานทางด้านโบราณวัตถุสถาน เช่น อุโบสถ ใบเสมา เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง พออนุมานได้ว่าสร้าง ขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย รวมถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถก็เป็นภาพที่เขียนขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายเช่นเดียวกัน
อุโบสถหลังเดิมมีขนาดย่อมก่ออิฐถือปูน มีประตูทางเข้าทางเดียว ทางด้านหน้าพระประธาน ผนังด้านข้างมีหน้าต่างข้างละ 3 บาน เสาภายในอาคารเป็นเสาเหลี่ยมติดผนัง บัวหัวเสาเป็นหัวกลีบยาว หน้าบันเป็นไม้ขนาดเล็กแกะสลักลวดลายเป็นลายเทพนมและลายกระจังรวน ได้รับการบูรณะ โดยได้สร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กครอบอุโบสถหลังเดิม แต่ยังคงลักษณะของอาคารเดิมคือมีทางเข้าทางเดียว และเปลี่ยนโครงเครื่องบนใหม่ทั้งหมด ทำเป็นหลังคาชั้นเดียวแต่มีชั้นลดเพิ่มเป็น 2 ชั้น มุงหลังคาด้วยกระเบื้องแผ่นตามแบบปัจจุบัน จิตรกรรมฝาผนัง สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสกุลเมืองวิเศษชัยชาญสมัยอยุธยาตอนปลาย[1] มีภาพทศชาติชาดกเรียงกันมาตั้งแต่เตมีย์ชาดก มหาชนกชาดก สุวรรณสามชาดก เป็นต้น ด้านข้างเหนือหน้าต่างขึ้นไปเป็นภาพเทพชุมนุม ข้างบนเหนือเส้นสินเทาขึ้นไปเป็นรูปฤาษี วิทยาธรชาติต่าง ๆ รูปนางมักกะลีผล ผนังด้านทิศใต้เขียนรูปมโนราห์หรือสุธนชาดกจากปัญญาสชาดก ผนังด้านหลังพระประธานเขียนเป็นภาพดอกไม้ และลายเฟื่องอุบะโดยภาพส่วนใหญ่ใช้สีแดงสดเป็นพื้น[2]
เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง อยู่ด้านหน้าอุโบสถทางทิศตะวันออก ใบเสมา ตั้งอยู่รอบอุโบสถทั้ง 8 ทิศ เป็นหินทรายสีขาวทั้งหมด เป็นชนิดใบเสมานั่งแท่นตั้งอยู่บนฐานสิงห์และฐานบัวกลุ่ม ตรงกลางแถบจะมีนมเสมาซึ่งเป็นลายประจำยามลักษณะคล้ายทับทรวง ส่วนอกเสมาเหมือนนมเสมาเป็นรูปดอกไม้กลมทั้งสองข้าง เรียกว่า ตาเสมา ยอดเสมาเป็นรูปมงกุฎครอบท้องเสมาและมีกระหนกตัวเหงาอยู่ที่เอวเสมา[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดเขียน". สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอ่างทอง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-09. สืบค้นเมื่อ 2021-07-08.
- ↑ "วอนช่วยอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังวัดดังอ่างทองอายุหลายร้อยปีกำลังทรุดโทรม". มติชน.
- ↑ "วัดเขียน". กลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด สำนักงานจังหวัดอ่างทอง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-09. สืบค้นเมื่อ 2021-07-08.