ข้ามไปเนื้อหา

วัดเขียนเขต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเขียนเขต
แผนที่
ชื่อสามัญวัดเขียนเขต (พระอารามหลวง)
ที่ตั้งตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี รหัสไปรษณีย์ 12130
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายเถรวาท มหานิกาย
เจ้าอาวาสพระธรรมรัตนาภรณ์ (สมศักดิ์ โชตินฺธโร ป.ธ.5,น.ธ.เอก)
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดเขียนเขต หรือ ที่ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกกันว่า วัดเขียน ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ริมฝั่งคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ติดถนนรังสิต-นครนายก

ประวัติ

[แก้]

วัดเขียนเขต สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2439 โดยหม่อมเขียน หม่อมในพระเจ้าวรวงศ์เธอเจ้าสายสนิทวงศ์เป็นผู้ถวายที่ดินเพื่อสร้างวัด แรกเริ่มนั้นวัดนี้เป็นเพียงสำนักสงฆ์ มีหลวงพ่อดำเป็นเจ้าสำนักโดยใช้วัสดุหาง่ายมาใช้ในการสร้างสำนัก เช่น นำเอาไม้ไผ่มาขัดเป็นพื้นหลังคา และฝาผนังทำด้วยหญ้า หม่อมเขียนพร้อมด้วยเครือญาติและประชาชนในท้องถิ่นเห็นความลำบากของพระเณรที่จำพรรษาอยู่ จึงได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างกุฏิเป็นทรงไทยขึ้นใหม่รวม 6 หลัง เพื่อเป็นพุทธศาสนาสมบัติเป็นวัดชื่อ "วัดสาลีเขตาราม" ซึ่งมีความหมายว่า "อารามอันเป็นเนื้อนาบุญแห่งข้าว" (โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้พระราชทานหรือให้นามวัดไว้) เนื่องจากวัดนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุ่งหลวงรังสิต ซึ่งเต็มไปด้วยข้าวกล้าและธัญญาหาร หลวงพ่อดำจึงเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัด

ในปี พ.ศ. 2445 หม่อมเขียนได้ทูลขอพระบรมราชานุญาต ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา และได้รับพระบรมราชานุญาตเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2445 (ร.ศ.121) และในปี พ.ศ. 2460 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สกลมหาสังฆปรินายก ได้เสด็จมาพักที่วัดนี้ในคราวเสด็จตรวจการคณะสงฆ์จังหวัดธัญบุรี (สมัยนั้น) พันตรี ม.ร.ว. สุวพรรณ (ใหญ่) สนิทวงศ์ และพลเอกเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (ม.ร.ว. สท้าน สนิทวงศ์) ได้ทูลขอเปลี่ยนนามวัดใหม่ให้เหมาะสมกับผู้ที่ริเริ่มสร้างวัด คือ หม่อมเขียนซึ่งเป็นมารดา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้พิจารณาเห็นว่าหม่อมเขียนเป็นผู้ริเริ่มสร้างวัดโดยบริจาคทรัพย์ส่วนตัวกับทั้งได้บริจาคที่ดินของตนให้สร้างเป็นวัด พระองค์ทรงเปลี่ยนนาม "วัดสาลีเขตาราม" ให้ใหม่ว่า “วัดเขียนเขต” ความหมาย คือ "อารามอันเป็นเนื้อนาบุญของหม่อมเขียน" วัดเขียนเขต (พระอารามหลวง) เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอำเภอธัญบุรี ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชกล่าวคือเป็นสถานที่ประกอบพิธีพิพัฒน์สัตยาญาณ โดยเจ้าเมืองธัญบุรีได้นำข้าราชการของ อำเภอรังสิต อำเภอคลอง อำเภอหนองเสือ และอำเภอลำลูกกา ดื่มน้ำสาบานที่อุโบสถวัดเขียนเขต โดยมีพระครูธัญญาเขตเขมากร (หลวงปู่ช้าง) เจ้าอาวาสวัดเขียนเขตขณะนั้นเป็นประธาน

วัดเขียนเขตถือว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญกล่าวคือราชสกุลสนิทวงศ์ได้สร้างขึ้นและบริจาคทรัพย์ในบูรณปฏิสังขรเรื่อยมา และกาลต่อมาพระบรมวงศานุวงศ์ในรัชกาลปัจจุบันได้เสด็จมาในการถวายผ้าพระกฐินให้แก่วัดเขียนเขต

ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง

[แก้]

พระครูศรีธัญญาภรณ์ เจ้าคณะตำบลลำผักกูด (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันได้ปรึกษาพุทธศาสนิกชน มีความเห็นชอบร่วมกันในอันที่จะยกฐานะวัดเขียนเขตขึ้นเป็นพระอารามหลวง เพื่อถวายพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงมีพระราชศรัทธาพระราชทานพระนามาภิไธยย่อ สธ. ประดับหน้าบันพระอุโบสถหลังใหม่ ในวโรกาสที่เฉลิมพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา ในปี พ.ศ. 2534 ความทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาท และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดเขียนเขตขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2534 เป็นต้นไป

รายนามเจ้าอาวาส

[แก้]

นับตั้งแต่ก่อตั้งวัดสาลีเขตารามจนกระทั่งยกฐานะเป็นวัดเขียนเขต (พระอารามหลวง) มีเจ้าอาวาสทั้งหมด 6 รูป ดังต่อไปนี้

ที่ ชื่อ ตำแหน่ง ปีที่ดำรงตำแหน่ง
1. หลวงพ่อดำ เจ้าอาวาส พ.ศ. 2439-2444
2. พระครูธัญญาเขตเขมากร บวรสมณาจารย์ สังฆวาหะ (ช้าง) เจ้าคณะ จ.ธัญญบุรี, เจ้าอาวาส พ.ศ. 2445-2481
3. พระครูธัญญวิจิตรเขมคุณ (เปลื้อง มาควิโก) เจ้าคณะ อ.ธัญบุรี, เจ้าอาวาส พ.ศ. 2482-2512
4. พระครูอดุลธัญญาสาร (จู ฐานงฺกโร) เจ้าอาวาส พ.ศ. 2513-2515
5. พระปลัดคุ่ย ธมมฺสีโล เจ้าอาวาส พ.ศ. 2516-2521
6. พระธรรมรัตนาภรณ์ (สมศักดิ์ โชตินฺธโร) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 1, เจ้าอาวาสพระอารามหลวง พ.ศ. 2522-ปัจจุบัน

อ้างอิง

[แก้]
  • วัดเขียนเขต, แถลงเรื่องวัดเขียนเขต พระอารามหลวง, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, 2540
  • http://www.m-culture.in.th/album/view/113968/