ข้ามไปเนื้อหา

วัดเกาะ (จังหวัดสมุทรสาคร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเกาะ
โบสถ์หลังใหม่
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 1 หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร 74000
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดเกาะ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 2 บ้านวัดเกาะ ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร วัดมีเนื้อที่ 48 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา

ประวัติ

[แก้]

วัดเกาะสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2247 ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง แต่สันนิษฐานว่าผู้สร้างเป็นชาวจีนเนื่องจากมีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ในบริเวณที่ตั้งวัด สถานที่ตั้งวัดเดิมเป็นเกาะมีแม่น้ำล้อมรอบ ต่อมาเส้นทางน้ำได้เปลี่ยน ทำให้บริเวณดังกล่าวตื้นเขินเป็นที่ราบ ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี ชาวรามัญได้อพยพหลบหนีภัยสงครามจากพม่าซึ่งเข้ายึดครองเมืองหงสาวดี ได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณบ้านเกาะและร่วมกันบูรณะวัดในปี พ.ศ. 2365 เพื่อเป็นศูนย์กลางชุมชน วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2385[1]

อาคารเสนาสนะ

[แก้]

อุโบสถหลังเก่าหลังนี้เป็นอุโบสถหลังที่ 2 ได้มีการรื้อแล้วก่อสร้างใหม่ปี พ.ศ. 2459 ในสมัยพระครูกร่าง รมมโณ เป็นเจ้าอาวาส อุโบสถหลังใหม่เป็นอุโบสถก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผาลดชั้น 2 ชั้น ซ้อนกันชั้นละ 2 ตับ เครื่องลำยองช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ไม้แกะสลักประดับกระจก หน้าบันทั้งสองด้านเป็นรูปเทพนม ประดับตกแต่งลายก้านขดด้านล่างมีลายกระจังและประจำยามรองรับ หน้าบันปีกนกเป็นรูปหงส์อัญเชิญฉัตรสามชั้นไว้บนหลังประดับด้วยลายดอกไม้ มีสาหร่ายรวงผึ้งด้านล่าง อุโบสถมีประตูทางเข้า 2 ประตู ซุ้มประตูเป็นรูปสามเหลี่ยม ผนังด้านหลังมีประตูหลอกอยู่ตรงกลาง 1 ประตู ผนังด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ 5 ช่อง บานประตูหน้าต่างเป็นไม้เรียบ[2]

ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลม ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมโดยที่กึ่งกลางฐานแต่ละด้านเป็นซุ้มโค้งภายในมีรูปเทวดาปูนปั้น ที่มุมทั้งสี่มุมเป็นรูปครุฑ บนยอดสุดมีฉัตรโลหะปัก

วัดเกาะมีเสาหงส์แบบวัดมอญ แต่มีความแตกต่างจากวัดมอญอื่นตรงที่เป็นเสาไม้แปดเหลี่ยม หัวเสาตกแต่งเป็นหัวเปิด มีเสาประกบด้านข้างทั้งสองด้าน มีรูปช้างสามเศียรและม้าสามเศียรเป็นยอด มิใช่รูปหงส์[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "วัดเกาะ". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.
  2. "อุโบสถวัดเกาะ". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.
  3. เพชรรัตน์ ตั้งโชคทวีคูณ. "ชุมชนมอญในจังหวัดสมุทรสาคร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-09-21.