วัดสวัสดิ์วารีสีมาราม
วัดสวัสดิ์วารีสีมาราม | |
---|---|
![]() อุโบสถ | |
![]() | |
ชื่อสามัญ | วัดสวัสดิ์วารีสีมาราม, วัดสวัสดิวารีสีมาราม, วัดแคสามเสน, วัดแค |
ที่ตั้ง | เลขที่ 994 ถนนนครไชยศรี แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
เจ้าอาวาส | พระมหาพิทักษ์ จิตฺตโสภโณ, น.ธ.เอก, ป.ธ.๘, พธ.ด. |
![]() |
วัดสวัสดิ์วารีสีมาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ติดคลองสามเสน ในแขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน
ประวัติ
[แก้]วัดสวัสดิ์วารีสีมารามสร้างเมื่อ พ.ศ. 2375 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างโดยพระยาสวัสดิ์วารี (เจ๊สัวฉิม) และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปีเดียวกัน ชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า "วัดแคสามเสน" หลังจากสร้างวัดได้มีการสร้างและบูรณะเสนาสนะต่าง ๆ เป็นระยะ ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงหลัง พ.ศ. 2510 และมีการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2539 นอกจากนี้วัดยังได้สร้างโรงเรียนประชาบาลในพื้นที่วัด โดยเปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2475[1]

อาคารเสนาสนะ
[แก้]อุโบสถมีรูปแบบตามพระราชนิยมพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ เป็นทรงโรงมีระเบียงและพาไลรอบ มีเสารองรับพาไลเป็นเสาสี่เหลี่ยมเรียบไม่ประดับบัวหัวเสา ระหว่างช่องเสาเชื่อมต่อด้วยพนักระเบียง เครื่องบนเป็นหลังคาซ้อน 2 ชั้น หน้าบันตกแต่งลวดลายดอกไม้และสัตว์มงคล ไม่ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แต่แทนที่ด้วยปูนปั้นหัวนาค บันไดทางขึ้นมีพนักโค้ง ปลายบันไดประดับสิงโตจีนศิลา[2] ภายในอุโบสถไม่มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง มีแต่จิตรกรรมบนเพดานซึ่งของเดิมชำรุดและได้ทำการบูรณะใหม่เมื่อ พ.ศ. 2539 โดยพยายามคงสภาพเดิมไว้ พื้นเพดานทาสีแดง มีรูปลายจีนในวงกลมเสมือนเป็นดาวเพดาน ล้อมด้วยตัวค้างคาว มีขื่อประดับลายมังกร 2 ตัว หันเข้าด้วยกัน พระพุทธรูปจัดเป็นหมู่บนฐานชุกชี พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยมีเครื่องพระพักตร์ ด้านหน้าบนสุดบนฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่อง 2 องค์
หน้าอุโบสถนอกกำแพงแก้ว มีเจดีย์ทรงระฆังสีขาว เจดีย์รายทั้ง 4 กล่าวกันว่าเจ้าจอมท่านหนึ่งสร้างไว้เพื่อบรรจุอัฐิบุคคลในวงศ์ตระกูล มีป้ายจารึกชื่ออยู่ที่เจดีย์ว่า เจ้าจอมแก้วในรัชกาลที่ 5 และป้ายสกุลปาลกะวงศ์ ซึ่งคงเป็นตระกูลที่เคยอยู่หรือมีที่ดินอยู่ตรงข้ามวัด[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ กองพุทธศาสนสถาน, ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. หน้า 296.
- ↑ ไขแสง ศุขวัฒนะ. วัดพุทธศาสนาที่ได้รับอิทธิพลจีนในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2526), หน้า 60–62.
- ↑ ภัทราวรรณ บุญจันทร์. "ความสัมพันธ์ของชุมชนกับศิลปกรรมในวัดราษฎร์ริมคลองสามเสน" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 47–52.