ข้ามไปเนื้อหา

วัดสระลงเรือ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดสระลงเรือ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดสระลงเรือ
ที่ตั้งถนนเลาขวัญ-กาญจนบุรี ตำบลสระลงเรือ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี
นิกายเถรวาท มหานิกาย หินยาน
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดสระลงเรือ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา และประมาณ 100 กว่าปีได้มีผู้คนอพยพมาอาศัยบริเวณวัดสระลงเรือ ได้พบวัดเก่าซึ่งมีสิ่งปลูกสร้างที่ยังเหลืออยู่ในขณะนั้น เช่น เจดีย์ และพระปรางค์ 2 องค์ วิหารและอุโบสถ ซากปรักหักพัง ในอุโบสถหลังนี้มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับอยู่ในนั้น และมีต้นโพธิ์ใหญ่ปกคลุมอุโบสถ มีสระน้ำสระเล็กอยู่ด้านหน้าอุโบสถ ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ

ประวัติ

[แก้]

วัดสระลงเรือ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง คือ น่าจะมีอายุประมาณ 350 - 400 ปี หรือมากกว่านั้นเล็กน้อย ไม่ปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรใด ๆ เกี่ยวกับวัด ดังนั้น จึงไม่ทราบชื่อเดิมของวัด ปี และบุคคลที่ก่อสร้าง หลักฐานที่หลงเหลืออยู่ก็ได้แก่ โบราณวัตถุต่าง ๆ อันประกอบด้วย พระเจดีย์และพระปรางค์แบบก่ออิฐถือปูน สูงประมาณ 10 เมตร อย่างละ 1 องค์ ตั้งอยู่คู่กัน พระเจดีย์ด้านทิศใต้และพระปรางค์ด้านทิศเหนือ ด้านหน้าของพระเจดีย์และพระปรางค์ เดิมมีอาคารแบบก่ออิฐถือปูนขนาดประมาณ 6 X 12 เมตร อยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ (ยกเว้นหลังคาที่คงเสื่อมสภาพและอันตรธานไปตามกาลเวลา) อาคารนี้เข้าใจว่าน่าจะเป็นพระวิหารและน่าจะเป็นประธานวัตถุของวัด โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และภายในอาคารเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย และด้านหน้าของอาคารเยื้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อยเป็นที่ตั้งของสระน้ำรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดประมาณ 60 X 60 เมตร

อนึ่ง เป็นที่น่าเสียดายว่าเมื่อประมาณปี 2534 - 35 ทางวัดได้รื้อตัวอาคารโบราณดังกล่าวเสีย นัยว่าเพื่อจะสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ดังนั้น โบราณวัตถุที่เหลือให้คนรุ่นหลังได้เห็นจึงมีเพียงพระเจดีย์ พระปรางค์ และพระประธาน

องค์ประกอบของสิ่งก่อสร้างโบราณดังกล่าวเป็นลักษณะของวัดในสมัยอยุธยาตอนกลางโดยทั่วไป กล่าวคือ ประการแรก มีการผสมผสานระหว่างองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย (อันได้แก่ เจดีย์) เข้ากับองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของเขมร (ได้แก่ พระปรางค์และสระน้ำ) ประการที่สอง พิจารณาจากขนาดของพระปรางค์และเจดีย์ของวัด ซึ่งมีขนาดเล็ก ก็เชื่อว่าประธานวัตถุของวัดน่าจะอยู่ที่อาคารพระวิหารเสียมากกว่า ซึ่งเป็นลักษณะของวัดในสมัยอยุธยาตอนกลาง เพราะวัดสมัยอยุธยาตอนต้นมักยึดถือพระปรางค์แบบเขมรเป็นประธาน

ที่ตั้งของวัดอยู่บนที่ดอนสูง ซึ่งพาดยาวมาจากทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ แล้วล้อมรอบด้วยที่ราบลุ่มต่ำ ซึ่งในตอนหลังได้ใช้เป็นที่ทำนาของชาวบ้าน บริเวณใกล้เคียงก็เป็นที่ดอนและที่ราบลุ่มต่ำสลับกันไปเป็นระยะ ๆ และทางทิศตะวันออกของวัดเป็นลำห้วย ซึ่งในช่วงน้ำหลากจะมีน้ำไหลลงลำน้ำจรเข้สามพัน กอรปกับวัดและชุมชนแห่งนี้ห่างจากเมืองโบราณอู่ทองเพียงประมาณ 12 - 13 กิโลเมตรเท่านั้น บริเวณนี้จึงเหมาะที่จะตั้งเป็นชุมชน และด้วยเหตุนี้ บริเวณนี้จึงมีชุมชนตั้งมาแต่โบราณ อย่าน้อยตั้งแต่สมัยในสมัยอยุธยา ดังเห็นได้จากหลักฐานประเภทเครื่องมือ เครื่องใช้ และเครื่องประดับสมัยโบราณที่เมื่อประมาณ 30 - 50 ปีก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้พบเสมอ ๆ เวลาไถไร่ไถนาของตนในบริเวณรอบ ๆ วัด และห่างจากวัดไปทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 1 - 2 กิโลเมตร เคยมีซากเจดีย์และอาคารก่อด้วยอิฐอย่างน้อยอีก 2 จุด ซึ่งตอนหลังได้ถูกชาวบ้านรื้อถอนและไถกลบไป

สันนิษฐานว่า เช่นเดียวกับวัดและชุมชนร่วมสมัยในพื้นที่ใกล้เคียง วัดและชุมชนเหล่านี้คงจะสูญหายไปในคราวที่พม่ายกทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยา เพราะพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีเป็นเส้นทางเดินทัพของพม่าก่อนที่จะเคลื่อนทัพผ่านจังหวัดสุพรรณบุรีไปยังพระนครศรีอยุธยา ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่คงจะหลบหนีการรุกรานของกองทัพพม่า และกระจัดกระจายหรือเคลื่อนย้ายไปอยู่ในที่อื่น วัดสระลงเรือจึงถูกทิ้งร้างไป

วัดสระลงเรือน่าจะถูกทิ้งร้างไปประมาณ 150 ปี จนกระทั่งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2470 ชาวบ้านจากถิ่นใกล้เคียงได้อพยพเข้ามาทำไร่นาและหาของป่าในบริเวณดังกล่าว ได้มาพบซากโบราณวัตถุ ชาวบ้านเห็นที่ตั้งของวัดมีความเหมาะสมที่จะเป็นชุมชน โดยเฉพาะการมีสระน้ำ จึงได้เข้ามาตั้งชุมชนบริเวณนี้อีกครั้ง และได้ช่วยกันหักร้างถางพงบริเวณซากโบราณสถานดังกล่าว เล่ากันว่าในตอนนั้น ตัวอาคารมีต้นไม้ปกคลุมหนาทึบ และต่อมาก็ได้ช่วยกันสร้างวัด นิมนต์พระมาจำพรรษา รวมทั้งได้มีการทำหลังคาใหม่ให้กับพระอุโบสถ และได้ตั้งชื่อวัดขึ้นว่า"วัดสระลองเรือ"เพราะสมัยนั้นบริเวณนี้มีต้นไม้ขนาดอยู่มากจึงมีคนมาตัดต้นไม้ขุดเรือแล้วนำไปทดลองในสระน้ำชาวบ้านจึงเรียกว่าสระลองเรือ แต่ด้วยสำเนียงการพูดที่เหน่อและห้วนสั้นทำให้เพี้ยนเป็น "สระลงเรือ"อย่างในปัจจุบัน

สำหรับพระประธานปูนปั้นนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะจำลองแบบมาจากพระมงคลบพิตร อันเป็นพระพุทธรูปสำคัญในสมัยอยุธยาตอนกลาง ซึ่งนักประวัติศาสตร์เชื่อว่าสมเด็จพระไชยราชาธิราชโปรดให้สร้างขึ้นบริเวณสนามหน้าจักรวรรดิ (ด้านใต้ของพระบรมหาราชวัง)กล่าวคือ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทำด้วยปูนปั้น (องค์จริงมีการลงรักปิดทองทับไว้อีกทีหนึ่ง) มีลักษณะการผสมรูปแบบพระพุทธรูปอู่ทองและสุโขทัยเข้าด้วยกัน เดิมพระประธานวัดสระลงเรือเป็นปูนปั้นแบบปกติ ต่อมาเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ในช่วงที่มีการรื้อพระอุโบสถโบราณ ได้มีการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูป และได้เกิดอุบัติเหตุขึ้น โดยเศียรพระพุทธรูปได้หักหลุดออกมา ต่อมาเมื่อได้มีการบูรณะซ่อมแซมองค์พระพุทธรูป จึงได้ทาสีพระพุทธรูป ดังกล่าวเป็นสีดำและถวายชื่อพระพุทธรูปดังกล่าวว่าหลวงพ่อใหญ่องค์ดำ (พระพุทธอนันตภูมิสุคคุตโต)

และเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา นายจำเนียร ใคร่ครวญ ซึ่งเป็นชาวบ้านสระลงเรือโดยกำเนิดแต่ได้ไปทำธุรกิจในต่างถิ่น ได้เข้ามากราบขอพรจากหลวงพ่อใหญ่องค์ดำ (พระพุทธอนันตภูมิสุคคุตโต) ซึ่งในปัจจุบันประทับอยู่ในวิหารแก้ว หน้าพระอุโบสถวัดสระลงเรือ หลังจากนั้นชีวิตของนายจำเนียร ใคร่ครวญ ก็ได้ประสบความสำเร็จตามที่ได้ตั้งใจไว้ทุกประการ ต่อมานายจำเนียร ใคร่ครวญจึงได้สร้างพระอุโบสถและเรือสุพรรณหงส์ขึ้นภายในวัด (บริเวณสระน้ำโบราณที่ได้รับการขยายให้กว้างขึ้นกว่าเก่าหลายเท่าตัว) โดยให้เหตุผลว่า ตนได้รับพรจากหลวงพ่อใหญ่องค์ดำ (พระพุทธอันตภูมสุคคุตโต) จึงตั้งใจสร้างพระอุโบสถและเรือสุพรรณหงส์ลำนี้ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์และทดแทนบุญคุณหลวงพ่อใหญ่องค์ดำ (พระพุทธอนันตภูมิสุคคุตโต) ที่ประทานมาให้แก่ตัวของนายจำเนียร ใคร่ครวญ และครอบครัว

ทำเนียบเจ้าอาวาส

[แก้]
  1. หลวงปู่ฮวด จนฺทสโร พ.ศ. 2478 - 2485
  2. พระอาจารย์ ทองดำ คุตฺวิโส พ.ศ. 2485 - 2494
  3. พระอาจารย์ จ้อย พุทธฺสโร พ.ศ. 2494 - 2500
  4. พระอาจารย์ แป๊ะ พ.ศ. 2500 - 2501
  5. พระอาจารย์ บุญเกิด ผาสุโก พ.ศ. 2501 - 2505
  6. พระอาจารย์ ภุชงค์ เทวธมฺโม พ.ศ. 2505 - 2507
  7. พระอธิการ องค์ จนฺทโชโต พ.ศ. 2507 - 2512
  8. พระครูอรัญกาญจนเขต (หล่วน กนฺตสีโล) พ.ศ. 2512 - 2524
  9. พระอาจารย์ประเสริฐ พ.ศ. 2524 - 2524
  10. พระอธิการ บุญส่ง ชยธมฺโม พ.ศ. 2524 - 2531
  11. พระอธิการ ชนะ ปภาโต พ.ศ. 2531 - 2536
  12. พระครูเวฬุกาญจนวรรณ พ.ศ. 2536 - ปัจจุบัน

สถานที่สำคัญในวัด

[แก้]
  1. เรือสุพรรณหงส์จำลองที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  2. พระอุโบสถ
  3. มณฑปพระครูอรัญกาญจนเขต (หล่วน กนฺตสีโล)
  4. สวรรค์นรกภายในพระอุโบสถ
  5. ศาลาการเปรียญ
  6. เจ้าแม่กวนอิมกลางสระน้ำ
  7. พิพิธภัณฑ์เรือโบราณ

สิ่งสำคัญในวัด

[แก้]
  1. พระบรมสารีริกธาตุ
  2. พระพุทธรูป อาทิ พระพุทธอนันตภูมิสุคฺคโต (หลวงพ่อใหญ่องค์ดำ) พระประธาน พระนารายณ์ทรงเครื่อง พระพุทธรูปปางลีลา ฯลฯ
  3. พระเกจิ อาทิ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต หลวงปู่ทวช หลวงตามหาบัว หลวงพ่อคูณ ฯลฯ
  4. พระมหากษัตริย์ อาทิ พ่อขุนรามคำแหง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สมเด็จพระปิยะมหาราช
  5. เทพเจ้าไทย อาทิ พระพรหม พระพิรุณ พระแม่โพสพ ฯลฯ
  6. เทพเจ้าจีน อาทิ เจ้าแม่กวนอิม เจ้าแม่เขาสามมุก เปาบุ้นจิ้น ฯลฯ