วัดสรรเพชญ
วัดสรรเพชญ | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดสรรเพชญ, วัดตาเพชร, วัดสามเพชร |
ที่ตั้ง | เลขที่ 1 หมู่ที่ 5 ทางหลวงท้องถิ่นสายวัดสรรเพชญ–โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน ตำบลยายชา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 73110 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
เจ้าอาวาส | พระอธิการสีรมณ์ เขมธมฺโม |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดสรรเพชญ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 5 บ้านสรรเพชญ ตำบลยายชา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม บริเวณวัดยังมีตลาดน้ำวัดสรรเพชญ
วัดสรรเพชญเป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ไม่ทราบประวัติการก่อสร้าง หลักฐานที่ยังคงเหลืออยู่ได้แก่ อุโบสถหลังเก่า ส่วนฐานและหลังคามีลักษณะแอ่นโค้งแบบตกท้องช้าง ด้านหน้ามีเพิงคลุมลงมา เป็นรูปแบบที่นิยมกันมากในสมัยอยุธยาตอนปลาย ตรงฐานชุกชีของพระพุทธรูปในอุโบสถหลังเก่ามีลวดลายปูนปั้นปิดทองประดับกระจกสีเปลือกแมลงทับสวยงามมาก จัดเป็นสกุลศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายที่หลงเหลือเพียงแห่งเดียวเท่านั้นในเขตอำเภอสามพราน อุโบสถหลังนี้ได้รับการซ่อมแซมในสมัยหลวงปู่พัน ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[1] ในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์วัดสรรเพชญที่จัดสร้างขึ้นเพื่ออนุรักษ์ของพื้นบ้าน ชั้นบนจัดแสดงพระพุทธรูปเก่าแก่ของวัด ชั้นล่างจัดแสดงเครื่องใช้ที่ทางวัดได้เก็บสะสมมาตั้งแต่อดีต เช่น ชุดน้ำชา จปร. จุลศักราช 1250 เครื่องถ้วยลายครามจากประเทศจีน ถาดเคลือบและเครื่องแก้วเจียระไนจากยุโรป กาน้ำชาแบบต่าง ๆ เป็นต้น[2]
ข้อมูลจากกรมการศาสนาระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2310[3] เดิมวัดนี้ชื่อว่า วัดตาเพชร ตามชื่อผู้สร้าง ต่อมาตาเพชรได้นำเอาเพชรในตระกูลของตนมาฝังไว้ที่หน้าบันอุโบสถจึงได้ชื่อว่า วัดสามเพชร ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จตรวจเยี่ยมวัดในลุ่มแม่น้ำนครชัยศรี พระองค์ทรงแวะเยี่ยมและถวายรูปถ่าย 1 รูป ไว้แก่พระครูทักษิณานุกิจ (ผัน) เจ้าอาวาสรูปที่ 5 วัดสรรเพชญได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 ปัจจุบันมีพระอธิการสีรมณ์ เขมธมฺโม เป็นเจ้าอาวาส
วัดมีวัตถุมงคลและพระเครื่องของอดีตเจ้าอาวาส 2 รูป คือ พระครูทักษิณานุกิจ (ผัน) และพระครูถาวรวิทยาคม (เพิ่ม ทิฏฺโฐ) เจ้าอาวาสรูปที่ 7 ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านเมตตามหานิยมและคงกระพันชาตรี[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดสรรเพชญ". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ "พิพิธภัณฑ์วัดสรรเพชญ". พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย.
- ↑ "นครปฐม - รายงานทะเบียนวัด" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-01-25. สืบค้นเมื่อ 2021-03-23.
- ↑ "วัดสรรเพชญ". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.