วัดสมุหนิมิต
วัดสมุหนิมิต | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดสมุหนิมิต, วัดล่าง |
ที่ตั้ง | ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดสมุหนิมิต เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
วัดสมุหนิมิต หรือชาวบ้านเรียกว่า วัดล่าง คล้ายกับเป็นวัดคู่แฝดกับวัดเหนือ (วัดโพธาราม) เพราะเป็นวัดใหญ่ซึ่งในอดีตมีความเจริญรุ่งเรืองและมีขุนนางอุปถัมภ์เหมือนกัน ในศิลาจารึกที่ฝังไว้กับผนังอุโบสถระบุว่า วัดสมุหนิมิตเดิมชื่อ วัดรอ เจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีว่าที่กรมพระกลาโหมซึ่งเป็นต้นตระกูลของพระอภิรมย์สินนารักษ์ บุนนาค ออกมาสักเลกหัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อ พ.ศ. 2392 เห็นว่าเป็นวัดร้างจึงได้สร้างขึ้นใหม่และสร้างเสร็จภายในเวลาเพียง 4 เดือนขนานนามใหม่ว่า "วัดสมุหนิมิต" ตั้งเป็นวัดและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2392[1]
อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถก่ออิฐถือปูนศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น[2] ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วมีบันใดทางขึ้น 2 ทาง ฐานอุโบสถเป็นฐานประทักษิณหรือฐานไพทีสามารถเดินได้รอบ มีเสาสี่เหลี่ยมเรียงรายรอบอุโบสถรองรับปีกนกหลังคา หน้าบันตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปดอกไม้ประดับกระจกสี หน้าต่างและบานประตูเขียนลายดอกไม้ร่วงและผีเสื้อลงรักปิดทอง และเจดีย์ใหญ่ที่น่าประตูนอกวัดหักพังลงมาเหลือแต่ฐาน สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ทิศ มีการประดับด้วยลูกกรงดินเผาเคลือบแบบจีน เจดีย์มีสภาพทรุดโทรมมีต้นโพธิ์ขึ้นปกคลุม ที่ฐานเจดีย์มีหลักศิลาจารึกภาษาจีนตั้งอยู่ 1 หลัก ยังคงตั้งอยู่ ณ ที่เดิม
โบราณวัตถุภายในวัด ได้แก่ ศิลาจารึกจำนวน 2 หลัก อักษรไทย ภาษาไทย สลักบนแผ่นหินชนวน และศิลาจารึก สฎ.6 รูปร่างเหมือนใบเสมา ทำด้วยหินทรายแดง จารึกด้วยอักษรขอม ภาษาไทย ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำศิลปะรัตนโกสินทร์จำนวน 2 ตู้ คัมภีร์ใบลานต่าง ๆ และพระพุทธรูปประทับยืน 2 องค์ ศิลปะรัตนโกสินทร์[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดสมุหนิมิต". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
- ↑ "วัดสมุหนิมิต (วัดล่าง)". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.
- ↑ "วัดสมุหนิมิต".