ข้ามไปเนื้อหา

วัดวรโพธิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดวรโพธิ์
แผนที่
ที่ตั้งตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระอธิการสุเจริญ ธัมมรโต
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดวรโพธิ์ โบราณสถานประเภทวัดในสังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย ตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ตรงข้ามกับ วัดโลกยสุธาราม และ วัดวรเชษฐาราม

ประวัติ

[แก้]

วัดวรโพธิ์สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นไม่ปรากฏนามผู้สร้าง มีชื่อเดิมว่า วัดระฆัง เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาวัดระฆังได้ปรากฏชื่อในพระราชพงศาวดารว่า พระศรีศิลป์ ได้ผนวชอยู่ที่วัดระฆังแห่งนี้จนได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระพิมลธรรมอนันตปรีชา ในภายหลังได้ลาผนวชมาขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

ต่อมาในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดระฆังได้ปรากฏชื่อในพระราชพงศาวดารอีกครั้งในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ประมาณ พ.ศ. 2295–2296 เมื่อคณะสมณทูตที่เดินทางไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่ลังกาได้นำต้นพระศรีมหาโพธิ์กลับมาปลูกที่วัดระฆังพร้อมกับได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดวรโพธิ์ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2300 สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระปรางค์มหาธาตุวัดวรโพธิ์หักลง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นแม่กองในการบูรณะพระมหาธาตุ[1]

โบราณสถาน

[แก้]

โบราณสถานภายในวัดประกอบด้วยพระปรางค์ประธาน ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงแต่ซากฐาน ปรางค์ล้อมรอบด้วยระเบียงคดรูปสี่เหลี่ยม มีบันไดขึ้นสู่องค์เรือนธาตุทั้งสี่ด้าน ลักษณะการก่อบัวของฐานปรางค์มีการเล่นระดับแบบที่ปรากฏในแถบล้านนา ปรางค์องค์นี้น่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ศิลปะล้านนาได้แพร่หลายเข้ามาสู่อยุธยามากขึ้น และน่าจะเป็นเวลาเดียวกับการสร้างวิหารสมัยแรก ที่อยู่ภายใต้วิหารสมัยอยุธยาตอนปลายในปัจจุบัน[2]

พระวิหารและพระเจดีย์เหลี่ยม ซึ่งเหลือแต่ซาก พระวิหารที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง พระพุทธรูปปางมารวิชัยกลางแจ้ง[3] ทางด้านทิศเหนือของวัดนี้เป็นที่ตั้งของแท่นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเพื่อทรงปลูกพระศรีมหาโพธิ์ที่นำมาจากลังกา

อ้างอิง

[แก้]
  1. ศานติ ภักดีคำ. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561, หน้า 22
  2. "วัดวรโพธิ์ (วัดระฆัง)". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  3. เที่ยว 3 วัด รับปีใหม่