วัดวรจันทร์
วัดวรจันทร์ | |
---|---|
เจดีย์มหาจุฬามณี วัดวรจันทร์ | |
ชื่อสามัญ | วัดวรจันทร์ |
ที่ตั้ง | เลขที่ 41 หมู่ที่ 3 ตำบลโพธิ์พระยา อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
ผู้ก่อตั้ง | ราษฎร |
พระพุทธรูปสำคัญ | - พระประธานอุโบสถ |
เจ้าอาวาส | พระมหาพิชัย จงสุขไกล ปญฺญาวุฑฺโฒ ป.ธ.6 |
ความพิเศษ | สถานที่ท่องเที่ยว |
มหามงคล | - รูปเหมือนหลวงพ่อพริ้ง - รูปเหมือนหลวงพ่อพราหมณ์ |
จุดสนใจ | เจดีย์มหาจุฬามณี |
กิจกรรม | - ปิดทองไหว้พระ - ให้อาหารปลา |
หมายเหตุ | |
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | โบราณสถานวัดวรจันทร์ ตำบลโพธิ์พระยา อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี |
ขึ้นเมื่อ | 10 กันยายน พ.ศ. 2540 |
เป็นส่วนหนึ่งของ | รายชื่อโบราณสถานในจังหวัดสุพรรณบุรี |
เลขอ้างอิง | 0004906 |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดวรจันทร์ ตั้งอยู่เลขที่ 41 ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3558 (ถนนโพธิ์พระยาสายเก่า) หมู่ที่ 3 ตำบลโพธิ์พระยา อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นวัดราษฎร์ คณะสงฆ์มหานิกาย เขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลโพธิ์พระยา อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรณบุรี คณะสงฆ์ ภาค14
ประวัติ
[แก้]วัดสร้างเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน แรกเริ่มเป็นสำนักสงฆ์ชื่อว่า วัดจันทร์ สันนิษฐานว่าเป็นชื่อตั้งตามลักษณะภูมิประเทศ ซึ่งเล่าสืบต่อมาว่าในอดีตมีต้นจันขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก
ต่อมาสมเด็จพระวันรัต (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ขณะมีสมณศักดิ์ที่ พระธรรมปิฎก เจ้าคณะมณฑลราชบุรี (สมัยนั้นคณะสงฆ์จังหวัดสุพรรณบุรีขึ้นอยู่กับมณฑลราชบุรี) เห็นว่าชื่อวัดจันทร์ อำเภอท่าพี่เลี้ยง (อำเภอเมืองสุพรรณบุรีในปัจจุบัน) ตรงกับชื่อวัดจันทร์ อำเภอศรีประจันต์ ในจังหวัดเดียวกัน เป็นเหตุให้ส่งหนังสือราชการผิดพลาดไขว้เขวกันเนืองๆ จึงให้เปลี่ยนชื่อวัดจันทร์ที่อำเภอศรีประจันต์เป็น วัดจรรย์ และวัดจันทร์ที่อำเภอท่าพี่เลี้ยงเป็น วัดวรจันทร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา[1]
ที่ดินตั้งวัดมีพื้นที่จำนวน 25 ไร่ 3 งาน 44 ตารางวา ได้รับอนุญาตตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2337[1][2][3] ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2433 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 8 วา ยาว 16 วา[4] ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งสองเมื่อ พ.ศ. 2452 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 8 เมตร ยาว 30 เมตร[3]
ปัจจุบันเป็นวัดท่องเที่ยว มีอดีตเจ้าอาวาส คือ พระครูธรรมสารรักษา (พริ้ง วชิรสุวณฺโณ) เป็นพระเถราจารย์ที่มีชื่อเสียง เป็นที่เคารพนับถือของประชาชน วัตถุมงคลของท่านได้รับความนิยม[5]
ลำดับเจ้าอาวาส
[แก้]ลำดับเจ้าอาวาส และผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดวรจันทร์ เท่าที่พบข้อมูล[6][7][3][8][1][9]
ลำดับ | รายนาม | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|
1 | หลวงพ่อคำ | ตั้งแต่เริ่มเป็นสำนักสงฆ์ | ไม่พบข้อมูล | เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ไม่น้อยกว่า 10 ปี, ลาออก ย้ายไปอยู่วัดปู่บัว |
2 | หลวงพ่อสา | ไม่พบข้อมูล | ไม่พบข้อมูล | เป็นเจ้าอาวาส ไม่ทราบกี่ปี , มรณภาพอายุราว 90 ปี ไม่ทราบพรรษา |
3 | พระอาจารย์ม่วง | ราว พ.ศ. 2340 | ราว พ.ศ. 2344 | เป็นเจ้าอาวาส 4 - 5 ปี, ลาสิกขาอายุราว 40 ปี |
4 | หลวงพ่อรอด | ราว พ.ศ. 2345 | พ.ศ.2393 | เป็นเจ้าอาวาสราว 49 ปี, บวชตั้งแต่สมัยพระอาจารย์ม่วง, เป็นเจ้าอาวาสเมื่อบวชได้ราว 5 พรรษา, มรณภาพอายุ 75 ปี 54 พรรษา |
5 | หลวงพ่อเกิด | พ.ศ. 2394 | พ.ศ. 2401 | เป็นเจ้าอาวาส 8 ปี, ลาออก ย้ายไปอยู่วัดอื่นเมื่ออายุ 65 ปี |
6 | พระอาจารย์ฉี่ | พ.ศ. 2402 | พ.ศ. 2403 | เป็นเจ้าอาวาส 2 ปี, มรณภาพอายุ 30 ปี 6 พรรษา |
- | ไม่ปรากฏชื่อ | พ.ศ. 2404 | พ.ศ. 2418 | ช่วงเวลาเสื่อมโทรม 15 ปี |
7 | หลวงพ่อบัว | พ.ศ. 2419 | พ.ศ. 2433 | เป็นเจ้าอาวาสราว 15 ปี, มรณภาพอายุ 74 ปี 27 พรรษา |
- | ไม่ปรากฏชื่อ | พ.ศ. 2434 | พ.ศ. 2439 | ช่วงเวลาเสื่อมโทรม ราว 6 ปี |
8 | พระอาจารย์ดิศ (ดิษฐ์) | พ.ศ. 2439 | พ.ศ. 2447 | เป็นเจ้าอาวาส 7 ปี (สันนิษฐานว่าเป็นรักษาการมาก่อนราว 1 ปี), บวชตั้งแต่สมัยหลวงพ่อบัว, ลาสิกขาเมื่ออายุ 39 ปี |
9 | พระครูธรรมสารรักษา (พริ้ง เตียบฉายพันธุ์ วชิรสุวณฺโณ) | พ.ศ. 2447 | 13 ตุลาคม พ.ศ. 2483 | เป็นเจ้าอาวาส 36 ปี, มรณภาพ อายุ 73 ปี 52 พรรษา |
10 | พระครูวรกิจวินิจฉัย (พราหมณ์ สมใจเพ็ง ธมฺมกถิโก) | พ.ศ. 2483 | 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 | เป็นเจ้าอาวาส 40 ปี, มรณภาพอายุ 71 ปี 48 พรรษา |
ว่าง | พระครูสุวรรณกิตติคุณ (ฟ้อน มีสกุล สุเมโธ) วัดลาวทอง | พ.ศ. 2524 | พ.ศ. 2525 | ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส |
11 | พระอธิการหนุ่ย อภิสมาจาโร | 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 | 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 | เป็นเจ้าอาวาส 4 เดือน, มรณภาพอายุ 72 ปี 49 พรรษา |
ว่าง | พระครูหวล ปิ่นวิเศษ กนฺตผโล วัดมงคลธรรมนิมิต (ดอนรัก) | ไม่พบข้อมูล | ไม่พบข้อมูล | ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส |
12 | พระปลัดบุญล้อม สำราญมาก ถาวโร | 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 | ไม่พบข้อมูล | เจ้าอาวาส |
13 | พระอธิการประสิทธิ์ สนฺตจิตฺโต | ไม่พบข้อมูล | ไม่พบข้อมูล | เจ้าอาวาส |
14 | พระมหาอัมพร วรเมธี ป.ธ.7 | ไม่พบข้อมูล | ไม่พบข้อมูล | เจ้าอาวาส, ลาออก ย้ายไปอยู่วัดอื่น |
15 | พระมหาพิชัย จงสุขไกล ปญฺญาวุฑฺโฒ ป.ธ.6 | พ.ศ. 2564 | - | เจ้าอาวาส, ปัจจุบัน |
อาคาร เสนาสนะ
[แก้]- อุโบสถ เป็นอาคารคอนกรีต ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 25 เมตร เริ่มสร้างเมื่อปีวอก พ.ศ. 2451 แล้วเสร็จและทำพิธีฉลองเมื่อวันขึ้น 8 - 10 ค่ำ เดือน 6 ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 9 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2459
- ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารไม้ กว้าง 14 เมตร ยาว 26 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2471
- หอสวดมนต์ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 12 เมตร ยาว 16 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2537
- กุฎิสงฆ์ จำนวน 8 หลัง เป็นอาคารไม้ 1 หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ 6 หลัง และตึก 1 หลัง
- ศาลาอเนกประสงค์ เป็นอาคารไม้ กว้าง 16 เมตร ยาว 24 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2534
- ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 1 หลัง
ปูชนียวัตถุ ปูชนียสถาน
[แก้]ปูชนียวัตถุ และปูชนียสถาน อาทิ[8][6]
- เจดีย์มหาจุฬามณี เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ สร้างด้วยกรรมวิธีก่ออิฐฉาบปูน องค์เจดีย์ลักษณะย่อมุมไม้สิบสอง มีลานประทักษิณขนาดใหญ่ซ้อนกัน 2 ชั้น ที่มุมของฐานลานประทักษิณทั้ง 2 ชั้น ประดับด้วยเจดีย์ย่อมุมขนาดย่อม และเจดีย์ราย ทั้ง 4 ทิศ ภายในเจดีย์องค์ใหญ่ (องค์ประธาน) ประดิษฐานจุฬามณีเจดีย์สร้างด้วยโลหะ ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับถวายมาจากเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เจดีย์เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2456 นำโดย พระครูธรรมสารรักษา (พริ้ง วชิรสุวณฺโณ) พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์และประชาชนร่วมกันสร้าง กระทั่งแล้วเสร็จ พ.ศ. 2468 มีพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ ติสฺสเทโว) (ขณะมีสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์) วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นประธานฝ่ายฆราวาส เมื่อ พ.ศ. 2469
- พระประธานอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 3 ศอก 2 นิ้ว สูง 4 ศอกเศษ สร้างด้วยโลหะทองเหลืองเรี่ยไรหนัก 8 หาบ ซึ่งแม่เอม พันตรีหลวงเทพฯ แม่เกิด และพระยามนธาตุราชศรีพิจิตร์ (สุดใจ จูฑะวิภาต) บ้านถนนตีทอง (ข้างวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร) เป็นเจ้าภาพสร้างถวาย เมื่อ พ.ศ. 2459
- รูปเหมือนพระครูธรรมสารรักษา (หลวงพ่อพริ้ง วชิรสุวณฺโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดวรจันทร์ องค์หนึ่งประดิษฐานภายในเจดีย์มหาจุฬามณี และอีกองค์หนึ่งประดิษฐานที่ศาลาหลวงพ่อพริ้ง
- รูปเหมือนพระครูวรกิจวินิจฉัย (หลวงพ่อพราหมณ์ ธมฺมกถิโก) อดีตเจ้าอาวาสวัดวรจันทร์ ประดิษฐานที่ศาลาหลวงพ่อพริ้ง
- ศาลแม่ชี เจ้าพ่อหัวหน้า เป็นศาลเทพารักษ์ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ให้ความนับถือ ตามประวัติว่ามาประทับร่างทรงชาวบ้านในหมู่บ้านโพธิ์พระยา โดยบอกว่าจะมาอยู่ที่นี่เพื่อดูแลรักษาผู้คนในพื้นที่ และขอให้ชาวบ้านตั้งศาลให้สิงสถิต ชาวบ้านจึงขออนุญาตพระครูวรกิจวินิจฉัย (หลวงพ่อพราหมณ์ ธมฺมกถิโก) เจ้าอาวาสขณะนั้น เพื่อขอใช้พื้นที่ในวัดวรจันทร์บริเวณใกล้เจดีย์มหาจุฬามณีตั้งศาลดังกล่าว
เทศกาล และงานประจำปี
[แก้]- งานประจำปี ปิดทองไหว้พระ เจดีย์มหาจุฬามณี หลวงพ่อพริ้ง หลวงพ่อพราหมณ์ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 (กลางเดือน 5)
- งานประจำปี ขึ้นศาลแม่ชี เจ้าพ่อหัวหน้า วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 6
- งานประจำปี ปิดทองไหว้พระ เจดีย์มหาจุฬามณี หลวงพ่อพริ้ง หลวงพ่อพราหมณ์ และประเพณีลอยกระทง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (วันลอยกระทง)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 พันตรีสมพงษ์ โลหะสุต. (2532). ประวัติวัดวรจันทร์. กรุงเทพฯ: เทพพิทักษ์การพิมพ์.
- ↑ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุพรรณบุรี. (2535). ทำเนียบวัดและโบราณสถานจังหวัดสุพรรณบุรี. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. (2545). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา.
- ↑ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระฯ, 2396-2453 (2514). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2433. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ตีรณสาร.
- ↑ มติชนสุดสัปดาห์ (2021-08-08). "โฟกัสพระเครื่อง : เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก หลวงพ่อพริ้ง วชิรสุวัณโณ วัดวรจันทร์ จ.สุพรรณบุรี - มติชนสุดสัปดาห์".
- ↑ 6.0 6.1 6.2 หลวงอัฎกิจวิจารณ์ (บุญ ศาลยาชีวิน). (2459). ประวัติวัดจันทร์ บ้านโพเจ้าพระยา เมืองสุพรรณ์บุรี หลวงอัฎกิจวิจารณ์พิมพ์แจกในงานฉลองอุโบสถวัดจันทร์ เมื่อพุทธศักราช 2459. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ.
- ↑ กระทรวงธรรมการ. (2447). ทำเนียบคณะสงฆ์ ลงพิมพ์โดยอนุญาตของเสนาบดีกระทรวงธรรมการ รัตนโกสินทร์ศก 123. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ.
- ↑ 8.0 8.1 คณะกรรมการวัดวรจันทร์. (2546). ประวัติวัดวรจันทร์ เนื่องในงานฉลองเจดีย์มหาจุฬามณี และบรรจุวัตถุมงคลหลวงพ่อพริ้ง วชิรสุวณฺโณ 17 เมษายน 2543. พิมพ์เพิ่มครั้งที่ 1. นครปฐม: โรงพิมพ์มิตรเจริญการพิมพ์.
- ↑ พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). (2532). ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระครูสุวรรณกิตติคุณ (ฟ้อน สุเมโธ) 10 มิถุนายน 2532. กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ จำกัด.