ข้ามไปเนื้อหา

วัดยาง (กรุงเทพมหานคร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดยาง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดยาง
ที่ตั้งเลขที่ 1197 ซอยอ่อนนุช 23 ถนนอ่อนนุช แขวงอ่อนนุช เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร 10250
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อโต
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดยาง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ในแขวงอ่อนนุช เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ทั้งหมดโดยประมาณ 24 ไร่ 2 งาน 31 ตารางวา และที่ธรณีสงฆ์อีก 1 แปลงที่มีเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ 2 งาน 28 ตารางวา

ประวัติ[แก้]

วัดยางตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2384 ไม่มีหลักฐานปรากฏเป็นที่แน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด คาดว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ สาเหตุที่เรียกว่าวัดยางเนื่องจากแต่เดิมมีพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ปางมารวิชัยที่สร้างขึ้นจากไม้แกะสลัก นามว่า หลวงพ่อโต ลอยมาหยุดหรือมายั้งบริเวณท่าน้ำหน้าวัด ชาวบ้านได้อัญเชิญหลวงพ่อโตขึ้นมาตั้งไว้ในวัดเพื่อกราบไหว้บูชา จึงได้ตั้งชื่อวัดว่า วัดยั้ง แต่ต่อมาเรียกเพี้ยนจนมาเป็นชื่อปัจจุบัน[1]

ในปี พ.ศ. 2555 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรโปรดเกล้าฯ ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา[2]

อาคารเสนาสนะ[แก้]

พระอุโบสถสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2394 เดิมเป็นเรือนไม้ เก๋งจีน ก่ออิฐถือปูน ต่อมาสร้างใหม่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มุงหลังคา 2 รดน้ำด้วยกระเบื้องเผาเคลือบสี มีขนาดความกว้าง 6 เมตร ยาว 18 เมตร จนปี พ.ศ. 2536 ได้ขยายพื้นที่เพิ่มเติมเป็นขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 25 เมตร หลังคา 3 รดน้ำ มุงด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบมัน และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537

พระวิหารกว้าง 20 เมตร ยาว 27.20 เมตร หลังคาทรงไทยใบเทศ ตรีมุข (สามมุข) มีช่อฟ้าใบระกา มุงด้วยกระเบื้องเคลือบ ประดิษฐานหลวงพ่อโต พระพุทธรูปปางมารวิชัยที่สร้างจากไม้แกะสลัก

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดยาง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-23. สืบค้นเมื่อ 2020-09-24.
  2. "ยก20 วัดเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี". โพสต์ทูเดย์. 8 มิถุนายน 2555.