ข้ามไปเนื้อหา

วัดมุจลินทวาปีวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดมุจลินทวาปีวิหาร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดมุจลินทวาปีวิหาร, วัดตุยง
ที่ตั้งตำบลตุยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดมุจลินทวาปีวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลตุยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

วัดมุจลินทวาปีวิหารตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2388 เดิมชื่อ วัดตุยง สร้างโดยพระยาวิเชียรสงคราม (เกลี้ยง) เจ้าเมืองหนองจิก แต่เดิมเจ้าเมืองได้สร้างศาลาพักสงฆ์ท่ายะลอ ได้นิมนต์พระอาจารย์พรหม ธมฺมสโรซึ่งเป็นอาจารย์ของท่านสมัยอยู่เมืองยะหริ่งมาจำพรรษา แต่เนื่องจากสถานที่ไม่มีความสะดวกหลายประการจึงย้ายที่ตั้งแห่งใหม่ ตามประวัติเล่ากันว่าท่านได้เดินทางไปพบเนินทรายขาวแห่งหนึ่ง มีต้นชะเมาใหญ่ปกคลุมเงียบสงัดและเห็นเสือใหญ่นอนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก (ตำนานกล่าวว่าต่อมาเสือตัวนั้นได้หายไป) ท่านทั้งสองจึงถือเอานิมิตดังกล่าวเลือกเอาสถานที่นี้เป็นที่สร้างวัด ตั้งชื่อวัดว่า "วัดตุยง" ตามนามของหมู่บ้าน วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2390[1]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้และได้เสด็จมาถึงเมืองหนองจิก เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2433 ได้ทรงทราบว่าวัดตุยงเป็นหนึ่งในวัดที่ใช้ประกอบพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของราชการในสมัยนั้น ทรงทราบว่าพระอุโบสถและเสนาสนะยังทรุดโทรมอยู่หลายหลัง พระองค์จึงมีพระราชศรัทธาบริจาคพระราชทรัพย์เป็นเงินจํานวน 80 ชั่ง ดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถและได้พระราชทานนามชื่อวัดใหม่ว่า "วัดมุจลินทวาปีวิหาร" เพื่อให้สอดคล้องกับนามเมืองหนองจิก (มุจลินท์หมายถึงไม้จิก และวาปีหมายถึงหนองน้ำ)

พ.ศ. 2488 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลปักษ์ได้ ทรงทราบว่าพระอุโบสถยังไม่มีพระประธาน จึงได้อัญเชิญ พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน หน้าตักกว้าง 1 เมตร 4 นิ้ว ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ได้อัญเชิญมาจากสุโขทัยและหัวเมืองฝ่ายเหนือ ลงมาเก็บรักษาไว้ที่ระเบียงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร นำมาประดิษฐานเป็นพระประธานประจําพระอุโบสถ วัดได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520[2]

จุดเด่นของวัดคือวิหารเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของอดีตเจ้าอาวาส 3 องค์ โดยเฉพาะพระราชพุทธรังษีหรือหลวงพ่อดำ เจ้าอาวาสรูปที่ 5 นั้น เป็นที่เลื่องลือถึงคุณความดีของท่าน[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "วัดมุจลินทวาปีวิหาร". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "วัดมุจลินทวาปีวิหาร (Wat Mujjalintawapeeviharn)". ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
  3. "วัดมุจลินทวาปีวิหาร". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).