ข้ามไปเนื้อหา

วัดพานิชธรรมิการาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพานิชธรรมิการาม
แผนที่
ที่ตั้งตำบลหนองเต่า อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี รหัสไปรษณีย์ 15110
ประเภทวัดราษฏร์
นิกายมหานิกาย
จุดสนใจพระอุโบสถบนหลังเต่ามีความงดงามยิ่งนัก
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดพานิชธรรมิการาม เป็นวัดในตำบลหนองเต่า อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี

ประวัติ

[แก้]

วัดพานิชธรรมิการาม ตั้งอยู่หลังตลาดหนองเต่า ห่างจากตัวเมืองบ้านหมี่ 11 กิโลเมตร ตั้งอยู่ริมถนนสายเลียบคลองชลประทาน ทางทิศตะวันออกของสถานีรถไฟหนองเต่า ตำบลหนองเต่า อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรีเดิมชื่อ วัดเจริญธรรมพานิช สร้างเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2469 พ.ศ. 2483 วัดเจริญธรรมพานิช ได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดพานิชธรรมิการาม เพื่อให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทย พ.ศ. 2500 พระครูธรรมาภิมณฑ์ เจ้าอาวาสวัดพานิชธรรมิการามได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ 2 ชั้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ชั้นล่างก่อสร้างเป็นรูปเต่าโดยพระอุโบสถวางอยู่บนหลังเต่า

ปี พ.ศ. 2513 เดือนพฤศจิกายน พลเอกหลวงกัมปนาท แสนยากร องคมนตรีและประธานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปภัมภ์ ได้เป็นประธานนำผ้ากฐินมาทอด และได้ทำพิธีผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิตในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2514 (ตรงกับวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 4) จนถึงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2514 (ตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือน 4) รวม 7 วัน 7 คืน

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2517 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพร้อมด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทั้ง 4 พระองค์ ได้เสด็จมาทรงร่วมพิธีผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิตของวัด อันเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นแก่พสกนิกรชาวบ้านตลาดหนองเต่า และได้ร่วมทำกุศลกับพระครูธรรมาภิมณฑ์

ประวัติพระอุโบสถ

[แก้]

มีเหตุผลการออกแบบก่อสร้างว่าหลวงปู่เลี้ยงได้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสวยชาติเป็นเต่าตนุใหญ่อยู่กลางทะเลลึก ท่านใช้เวลาสร้างพระอุโบสถหลังนี้นาน 16 ปีตั้งแต่ พ.ศ. 2501 จนถึง พ.ศ. 2517 อุโบสถหลังนี้เป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้านตลาดหนองเต่า เพดานด้านในโบสถ์เป็นดวงดาวสีทอง แท่นพระประธานเป็นรูปชุกชีมีบัวคว่ำบัวหงายเท้าสิงห์ กรุประดับด้วยกระจกสียกกลีบลวดลายสลับซับซ้อน ฐานกว้าง 8 ศอก สูง 8 ศอก หลังคาด้านนอกของอุโบสถหลังนี้เป็นกระเบื้องเคลือบสีทองซึ่งสามารถมองเห็นได้จากทางรถไฟสายเหนือช่วงที่ผ่านตำบลหนองเต่า

อ้างอิง

[แก้]