วัดพลับ (จังหวัดจันทบุรี)
วัดพลับ | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดพลับ, วัดพลับสุวรรณพิมพราราม, วัดสุวรรณติมพรุธาราม |
ที่ตั้ง | ตำบลบางกะจะ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดพลับ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบางกะจะ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523
ประวัติ
[แก้]วัดพลับเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมชื่อว่า วัดพลับสุวรรณพิมพราราม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดสุวรรณติมพรุธาราม มีความหมายว่า "วัดพลับทอง" และท้ายสุดเปลี่ยนชื่อมาเป็น "วัดพลับ"
เมื่อ พ.ศ. 2310 ครั้นกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชซึ่งตีฝ่าวงล้อมข้าศึกมาตั้งทัพที่ภาคตะวันออก พระองค์ทรงใช้วัดพลับเป็นที่พักทัพและจัดเตรียมกองทัพก่อนเข้าตีเมืองจันทบุรี ทั้งยังทรงประกอบพิธีบำรุงขวัญทหาร สร้างพระยอดธงแจกจ่าย และนำน้ำในบ่อน้ำมาทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมเหล่าทหารหาญ โดยกระทำพิธีปลุกเสกในอุโบสถหลังเก่า ภายหลังเมื่อพระองค์กอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระองค์พร้อมด้วยแม่ทัพนายกองได้เสด็จกลับมาบูรณะวัดพลับอีกครั้ง และได้นำพระยอดธงที่เหลือจากการแจกจ่ายทหารในครั้งนั้นเข้าบรรจุในพระเจดีย์กลางน้ำถวายเป็นพุทธบูชา[1]
วัดพลับยังได้ให้ทางราชการตั้งโรงเรียน 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนบากะจะ โรงเรียนประถมศึกษาวัดพลับจันทบุรชีบาอุทิศ และศูนย์เด็กเล็กก่อนเกณฑ์ของวัดอีก 1 ศูนย์ และเมื่อ พ.ศ. 2543 กรมการศาสนาได้ประกาศให้วัดพลับเป็นอุทยานการศึกษาในวัด[2]
อาคารและเสนาสนะ
[แก้]อุโบสถหลังเก่าได้รับการปฏิสังขรณ์หลายครั้ง มีหน้าบันเป็นลวดลายปูนปั้นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ หลังคาตกแต่งด้วยเครื่องลำยองปูนปั้น เคยเป็นสถานที่ปลุกเสกมุรธาภิเษกในพระพิธีพระบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ สร้างใหม่ พ.ศ. 2506 ปฏิสังขรณ์ พ.ศ. 2533 ด้านหลังพระประธานภายในพระอุโบสถ มีพระพุทธรูปเก่าแก่ที่เชื่อว่าสร้างตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
เจดีย์ทรงระฆังตั้งอยู่กลางน้ำ ศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลางสูงประมาณ 7 เมตร ตัวองค์ระฆังก่ออิฐถือปูนธรรมดา ไม่ประดับกระเบื้องมีฐานประทักษิณ โดยรอบ 4 ด้าน กรมศิลปากรได้ปฏิสังขรณ์ แล้วเสร็จเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2552 หอไม้ทรงไทยสร้างอยู่กลางสระน้ำ หลังคา 2 ชั้นทรงจั่วโครงสร้างไม้ตกแต่งด้วยเครื่องลำยอง มีระเบียงรอบหอเสารองรับหลังคาเป็นเสาเดิมยังเห็นร่องรอยการตกแต่งด้วยลายรดน้ำลงรักปิดทอง กรมศิลปากรได้ปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2552
พระปรางค์สร้างเมื่อ พ.ศ. 2441 เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ สูง 20 เมตร องค์พระปรางค์ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ 2 ชั้น มีบันไดมีมุขยื่นทั้ง 4 ด้านโดยรอบ ส่วนยอดของพระปรางค์ มีการซ้อนชั้น องค์พระปรางค์เล็กมีชั้นฐานเชิงบาตรรองรับประดับซุ้มด้วยรูปปั้นเศียรช้างทั้ง 4 ทิศ และส่วนยอดสุดตกแต่งด้วยยอดปรางค์ประดับด้วยตรีศูล ได้รับการบูรณะเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550
วิหารไม้รูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส ส่วนยอดของหลังคาเป็นทรงจัตุรมุข มีเจดีย์ขนาดเล็กประดับบนยอดจัตุรมุขมีเครื่องลำยองที่ทำด้วยไม้ แกะสลัก สวยงามตกแต่งจตุรมุขและบริเวณช่องลมทั้ง 4 ด้านประดับด้วยการแกะสลักลวดลายไม้ฉลุที่งดงาม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา กรมศิลปากรได้ปฏิสังขรณ์วิหารไม้แห่งนี้เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2556[3] นอกจากนั้นวัดยังมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์และอนุสรณ์สถานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "9 ของดี "วัดพลับ" เมืองจันท์ วัดสำคัญสมัยพระเจ้าตาก". ผู้จัดการออนไลน์.
- ↑ "วัดพลับ บางกะจะ". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-28. สืบค้นเมื่อ 2021-04-28.
- ↑ "วัดพลับ บางกะจะ". ระบบฐานข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-28. สืบค้นเมื่อ 2021-04-28.