วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม
วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม, วัดพุทธบาทห้วยต้ม |
ที่ตั้ง | ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอลี้[1]
วัดพระพุทธบาทห้วยต้มประกาศตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2533 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 ความเป็นมาของวัดพระพุทธบาทห้วยต้มซึ่งเรียบเรียงโดย นันทวัน กล่าวถึงเมื่อครั้งพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ในที่ต่าง ๆ พระพุทธองค์เสด็จมาถึงดงไม้ตาลแล้วขึ้นประทับบนจอมดอยแห่งหนึ่ง เรียกว่า ดอยนางพี่ ได้ประทานพระเกศาธาตุ 1 เส้นให้พวกละว้าที่มาเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้นบรรจุไว้ในพระเจดีย์ ต่อมาเรียกว่า ดอยนางนอนจอมแจ้ง (เพราะเสด็จมาถึงที่นั่นตอนรุ่งเช้า) ต่อมามีพญาเมืองเถิน พ่อฤาษีและหมอพรานอีก 8 คนหาบเนื้อสดเดินมาพบเข้า ขณะที่ไม่มีอะไรมาถวาย พระพุทธองค์ก็ยังไม่ได้ฉัน พวกพรานจึงเอาเนื้อไปกองรวมกันไว้ พวกละว้าที่อยู่ในบริเวณนั้นจึงไปต้มข้าวมาถวาย สมเด็จพระจอมไตรจึงทรงรับมาฉันและให้ศีลให้พรพวกละว้า พระพุทธองค์จึงทรงประทับรอยพระบาทไว้และทรงรับสั่งว่า "ถ้าผู้ใดปฏิบัติได้ตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนก็เหมือนอยู่ใกล้ ถ้าไม่ปฏิบัติก็เหมือนอยู่ไกล" และได้พระราชทานนามว่า ห้วยต้มข้าว ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น ห้วยต้ม จึงเป็นที่มาของชื่อวัดพระพุทธบาทห้วยต้มในปัจจุบัน[2]
วัดมีพระธาตุเจดีย์ศิลปะล้านนาผสมพม่า เป็นทรงแหลมเรียวรายล้อมด้วยเจดีย์ขนาดเล็กอีก 16 องค์ ภายในศาลารอบองค์พระธาตุเจดีย์จะมีรูปปั้นของเกจิอาจารย์ชื่อดังของประเทศกว่า 30 องค์ และภายในศาลาหลังใหญ่ยังเป็นที่ตั้งศพของครูบาชัยยะวงศาพัฒนาบรรจุในโลงแก้ว บริเวณด้านเหนือของวัดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระเจ้าเก้าตื้อจำลองซึ่งประดิษฐานอยู่ในมณฑป ได้จัดให้มีพระราชพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไปเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2544 ภายในวัดยังมีสิ่งก่อสร้างทำจากศิลาแลง ขุดได้จากบ่อศิลาแลงด้านหลังของวัด[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดพระบาทห้วยต้ม". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
- ↑ "ตามรอย "ครูบาวงศ์" นักบุญของชาวเขา ที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ลำพูน". เชียงใหม่นิวส์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-31. สืบค้นเมื่อ 2021-07-31.
- ↑ "วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม". มิวเซียมไทยแลนด์.