วัดป่าแดงบุญนาค
วัดป่าแดงบุญนาค | |
---|---|
![]() | |
![]() | |
ชื่อสามัญ | วัดป่าแดงบุญนาค, วัดป่าแดง, วัดบุญนาค, วัดพญาร่วง |
ที่ตั้ง | ตำบลท่าวังทอง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
![]() |
วัดป่าแดงบุญนาค เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลท่าวังทอง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
ประวัติ
[แก้]วัดป่าแดงบุญนาค เดิมชื่อ วัดบุญนาค ภายหลังมีการสร้างวัดใหม่เพิ่มขึ้นข้างกันชื่อว่า วัดป่าแดง ปัจจุบันจึงรวมเป็นวัดเดียวกันชื่อว่า "วัดป่าแดงบุญนาค" มีร่องรอยของแนวกำแพงกั้นระหว่าง 2 วัด ปัจจุบันด้านข้างวัดในส่วนที่เป็นป่าเป็นวัดบุญนาค เมื่อเดินเข้าไปในป่าจะพบโบราณสถานที่แต่เดิมเป็นวัดบุญนาค มีองค์เจดีย์เก่าศิลปะสุโขทัย ฐานพระ พระอุโบสถ ซากแนวกำแพงโบราณ และซากโบราณสถานอีกจำนวน 25 แห่ง[1]
ประวีติการสร้าง พระยายุทธิษเฐียร เจ้าเมืองสองแคว ช่วยพระเจ้าติโลกราชทำสงครามกับพระบรมไตรโลกนาถ จึงมีความชอบ พระเจ้าติโลกราชจึงให้ครองเมืองพะเยา และได้สร้างวัดป่าแดง (บุนนาค) ได้สร้างเจดีย์ วิหาร และที่สำคัญได้สร้างพระพุทธรูป หลวงพ่อนาค ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2019[2] และจากศิลาจารึก 2 หลักในบริเวณวัด จารึกหลักที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2047 เรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดพญาร่วง จารึกหลักที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2078 กล่าวถึงเจ้าอยู่หัว พระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์เชียงใหม่ มีราชโองการให้เจ้าเมืองพะเยาสร้างมหามณฑปขึ้นในเมืองพะเยา จึงสันนิษฐานได้ว่า วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยพระยายุทธิษเฐียร เจ้าเมืองพิษณุโลก เมื่อครั้งอพยพมาอยู่ล้านนา ตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 21
ส่วนอีกแหล่งข้อมูลระบุว่า มีสองพี่น้องผู้เป็นเจ้าเมืองปกครองเมืองพะเยา องค์พี่นามว่าเจ้าอาทิจจราช องค์น้องนามว่าเจ้าจันทราช ทั้งสองพระองค์ได้ชักชวนกันสร้างพระเจดีย์ เจ้าอาทิจจราชสร้างพระเจดีย์วัดป่าแดง เจ้าจันทราช สร้างพระเจดีย์วัดบุญนาค ได้ก่อสร้างพระเจดีย์ 2 องค์นี้ในวันเดียวกัน[3]
โบราณสถาน
[แก้]มูลดินซากโบราณสถานซึ่งอาจเป็นเจดีย์หรืออาคารโบราณที่สำรวจพบ 25 ตำแหน่ง เจดีย์ทรงระฆังซึ่งมีองค์ประกอบแบบศิลปะสุโขทัย 1 องค์ ซากวิหาร 1 หลัง และซากแนวกำแพงโบราณ เท่าที่สำรวจพบ 4 แนว
เจดีย์ศิลปะสุโขทัย ประกอบด้วยฐานเขียง 3 ชั้น ต่อด้วยฐานแปดเหลี่ยมส่วนเรือนธาตุทรงกลมขึ้นไปจนถึงชั้นรองรับองค์ระฆังทรงกลม ก่อด้วยอิฐซ้อนกันขึ้นไป ส่วนกลางองค์ระฆังขึ้นไปได้พังทลายหายไป วิหารพระร่วง เป็นวิหารแบบสุโขทัย กว้าง 25 เมตร ยาว 42 เมตร สูง 1.80 เมตร เป็นวิหารขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นวิหารที่ได้รับอิทธิพลสุโขทัย[2] ยังพบพระพุทธรูปหินทรายเก่าแก่มากมายประดิษฐานอยู่ ซึ่งพระพุทธรูปหินทรายทั้งหมดแกะสลักด้วยช่างที่มีฝีมือชั้นเยี่ยม คือ หลวงพ่อนาคและพระพุทธรูปไม้แก่นจันทร์ ปัจจุบันประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดป่าแดงบุญนาค (วัดบุญนาค)". องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน).
- ↑ 2.0 2.1 "วัดป่าแดง(บุนนาค)". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ "วัดป่าแดงบุญนาค". มิวเซียมไทยแลนด์.