ข้ามไปเนื้อหา

วัดปูแหล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดปูแหล
แผนที่
ชื่อสามัญวัดสวนแก้ว
ที่ตั้งตำบลบาโร๊ะ อำเภอยะหา จังหวัดยะลา
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายธรรมยุติกนิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดปูแหล หรือ วัดสวนแก้ว เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ในบ้านปูแล ตำบลบาโร๊ะ อำเภอยะหา จังหวัดยะลา วัดแห่งนี้มีลักษณะพิเศษคือรายล้อมด้วยสวนยางพาราของชาวไทยเชื้อสายมลายูซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม[1] กระทั่งวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 กลุ่มขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานีได้ลอบวางระเบิดแสวงเครื่องในขณะที่พระสงฆ์กำลังออกบิณฑบาต ทำให้พระสงฆ์ที่มีเพียงสองรูปมรณภาพไป วัดแห่งนี้จึงปราศจากพระสงฆ์มาจำพรรษาและร้างลง ก่อนได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ. 2563[2]

ประวัติ

[แก้]

ช่วงต้น

[แก้]

วัดปูแหล หรือ วัดสวนแก้ว ก่อตั้งขึ้นโดยพระครูญาณวีรคุณ (ธวัธชัย ญาณสุโข) ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคร้ายด้วยวิธีพื้นบ้าน วัดแห่งนี้จึงมีชื่อเสียงไปยังต่างประเทศอยู่ในช่วงหนึ่ง[1][3] และพระครูญาณวีรคุณยังเป็นผู้ก่อสร้างวัดคชศิลาวนาราม อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง แต่ท่านก็ยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดปูแหลอยู่ดังเดิม[1] กระทั่งพระครูญาณวีรคุณมรณภาพไปด้วยความชรา คณะสงฆ์จึงนิมนต์พระสมุห์ชาตรี กนฺตรโต (ชาตรี ทองราช) หรือ หลวงชา ชาวอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดปูแหล และมีพระวีระพงษ์ เขมวีโร (วีระพงษ์ ดอกมะลิ) หรือ หลวงอ้วน ชาวจังหวัดชุมพร เป็นพระลูกวัด รวมมีพระสงฆ์จำพรรษาในวัดแห่งนี้เพียงสองรูป[1][4] อย่างไรก็ตามพระสงฆ์ในวัดนี้มีศาสนสัมพันธ์อันดีกับชาวมุสลิมมาโดยตลอด[3]

วัดปูแหลมีพื้นที่กว่า 20 ไร่ ประกอบไปด้วย อุโบสถ ศาลาการเปรียญ ห้องปฏิบัติธรรม และกุฎิเจ้าอาวาส ซึ่งถูกสร้างมาตั้งแต่เจ้าอาวาสรูปแรก ซึ่งเป็นยุครุ่งเรือง[3] ตั้งอยู่กลางสวนยางพาราชาวไทยเชื้อสายมลายูมุสลิมที่ค่อนข้างเปลี่ยว[1] ถนนเป็นทางลูกรัง[2] บ้านของชาวไทยพุทธที่ใกล้ที่สุดตั้งอยู่ห่างออกไปสามกิโลเมตร[1] ทั้งยังมีพุทธศาสนิกชนไม่มากนัก ใน พ.ศ. 2563 มีชาวไทยพุทธในตำบลบาโร๊ะเพียง 27 คน[2] กอปรกับเหตุการณ์ไม่สงบทำให้วัดโรยราลงไป ไม่มีชาวบ้านเข้าไปทำบุญในวัดปูแหลอีก[3] ด้วยเหตุนี้พระสงฆ์ทั้งสองรูปต้องออกไปบิณฑบาตในเขตเทศบาลตำบลยะหา ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปอีกสี่กิโลเมตร เพราะไม่ต้องการเว้นกิจของสงฆ์[1][3] โดยทางวัดมีรถกระบะคันหนึ่งที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจยะลา 14 ใช้ขับพาพระทั้งสองรูปออกไปบิณฑบาตนอกพื้นที่[1]

เหตุลอบวางระเบิด

[แก้]

เวลาประมาณ 7.00 น. ของวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หรือหนึ่งวันก่อนวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ กลุ่มขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานีก่อเหตุลอบวางระเบิดรถกระบะบนถนนในหมู่บ้านบาโย หมู่ 8 ตำบลบาโร๊ะ อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหาร ร้อย ร. 1511 ฉก.ยะลา 14 กำลังนำพระสมุห์ชาตรี กนฺตรโต และพระวีระพงษ์ เขมวีโร เดินทางออกจากวัดเพื่อไปบิณฑบาต ทำให้รถกระบะกระเด็นและลอยตกลงพื้นห่างจากที่เกิดเหตุ 20 เมตร[5] ทหารซึ่งเป็นพลขับและชุดรักษาความปลอดภัย ได้แก่ พลทหาร พลากร หนูชัยแก้ว พลขับ และพลทหาร ไกรสร มุดคัน นั่งระวังท้ายกระบะ ได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่พระสงฆ์สภาพร่างกายแหลกเหลวมรณภาพทันทีทั้งสองรูป[1][2][5] หลังจากนั้นผู้ร้ายได้ใช้อาวุธปืนยิงซ้ำอีกครั้ง จากนั้นมีทหารซ้อนรถจักรยานยนต์ขับตามมา และกำลังพลอีกสี่นายที่ไม่ได้รับบาดเจ็บใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้กับกลุ่มคนร้าย การประทะกันกินระยะเวลาราว 15 นาที จนผู้ร้ายล่าถอยไป[5] ทว่าผลจากเหตุลอบวางระเบิดทำให้วัดปูแหลแปรสภาพเป็นวัดร้าง[1][2][6] ต่อมาเจ้าหน้าที่เสียชีวิตไปไปอีกสองนาย[3] ร่างของพระสมุห์ชาตรีถูกนำไปบำเพ็ญกุศลที่วัดยะลาธรรมาราม จังหวัดยะลา ส่วนร่างของพระวีระพงษ์ถูกนำไปบำเพ็ญกุศลที่วัดนพวงศาราม จังหวัดปัตตานี[5][7] ร่างของพระทั้งสองรูปไม่ได้มีการขอพระราชทานเพลิงศพ หากแต่จัดพิธีขึ้นอย่างเรียบง่าย ตามความประสงค์ของเจ้าคณะจังหวัดและเครือญาติ[4]

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว กฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบของสำนักนายกรัฐมนตรีแก่ญาติพระสมุห์ชาตรี กนฺตรโต ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ระดับสังฆาธิการ จำนวน 200,000 บาท ส่วนญาติของพระวีระพงษ์ เขมวีโร ได้รับเงินเยียวยา 100,000 บาท และพลโท อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้มอบเงินช่วยบำเพ็ญกุศลศพอีกจำนวนหนึ่ง[5] ส่วนคณะสงฆ์ในอำเภอยะหาและกาบังจำนวนสามวัด ได้แก่ วัดยะหาประชาราม วัดวงกตบรรพต และวัดบาละ ร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางรักษาความปลอดภัยแก่ภิกษุและสามเณรขณะปฏิบัติศาสนกิจนอกวัด โดยตกลงกันว่าจะงดการบิณฑบาตออกไปก่อน เพราะสถานการณ์ยังคงล่อแหลม สุ่มเสี่ยงต่อความอันตรายอย่างยิ่งยวด[8] นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดให้มีการตั้งกองกำลังฝ่ายปกครองในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบคอยคุ้มครองพระสงฆ์บิณฑบาตในเขตเทศบาลนครยะลา ส่วนพระสงฆ์ในเขตอำเภอรอบนอกให้งดบิณฑบาตไปก่อนระยะหนึ่ง[9] ชาวไทยพุทธในพื้นที่รู้สึกเสียขวัญกำลังใจ โดยกล่าวว่า "...หลังเกิดเหตุระเบิด รู้สึกว่ากำลังใจที่มีน้อยอยู่แล้วเหลือน้อยเต็มที เพราะกลัวและตกใจมาก ยิ่งมาทำกับพระยิ่งรับไม่ได้..."[1] พระครูพุทธวีรกร รองเจ้าคณะจังหวัดยะลา ฝ่ายธรรมยุต กล่าวว่า "...เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รู้สึกเศร้าใจ ศาสนาพุทธถูกรังแกมามาก ในหลายจังหวัดพระถูกทำร้ายจำนวนมาก ผู้ที่จะบวชเป็นพระก็ไม่มี ถ้ามาบวชก็จะอยู่แค่ 15 วัน 30 วัน ผู้ที่มาบวชเป็นทายาทของพระพุทธศาสนาลดน้อยลง ส่วนการดูแลคุ้มครองพระ ที่ผ่านมามีทหารมาดูแลแล้ว แต่ก็ดูแลไม่ได้ ทหารระวังตัวเต็มที่ พระก็ระวังตัวแต่ไม่รู้ว่าภัยจะมาเมื่อไร ไม่รู้จะทำอย่างไรเหตุการณ์ก็เกิดขึ้นบ่อย ๆ..."[10] ขณะที่ชาวมุสลิมในพื้นที่ราว 100 คน ร่วมกันละหมาดฮายัตที่มัสยิดนูรุลฮูดา (บ้านปูแล) เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการก่อเหตุร้ายดังกล่าว[5][6] และในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หรือหนึ่งวันหลังเกิดเหตุ ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา อันเป็นเทศกาลสำคัญของชาวพุทธ ก็ไม่มีชาวบ้านมาเวียนเทียนหรือทำบุญตักบาตรแต่อย่างใด[3] ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2554 มีเหตุลอบยิงพระอภิไชย สีลเตโช พระภิกษุจากวัดพระศรีมหาโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี จนมรณภาพขณะกำลังบิณฑบาต[8]

หลังวัดปูแหลกลายสภาพเป็นวัดร้าง หน่วยเฉพาะกิจยะลา 14 ยังคงต้องปฏิบัติภารกิจรักษาความปลอดภัยภายในวัดและพื้นที่โดยรอบต่อไป เพียงแต่ตัดภารกิจรับพระไปบิณฑบาตเท่านั้น[1] และหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 47 (4704-4705) รับผิดชอบเรื่องการรักษาความปลอดภัย และดูแลเสนาสนะ เพื่อมิให้ถูกบุกรุก และชำรุดทรุดโทรด เพื่อให้วัดมีสภาพสมบูรณ์พร้อมที่สุด[2]

การฟื้นฟู

[แก้]

มกราคม พ.ศ. 2563 ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลเข้าร่วมประชุมเพื่อฟื้นฟูวัดปูแหล[11] กระทั่งวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา ได้มีพระสงฆ์อาสา คือ พระชำนาญ อภิชาโน (ชำนาญ พิรินทรางกูร) เข้ามาสืบพระศาสนาที่วัดปูแหล ถือเป็นพระสงฆ์รูปล่าสุดที่เข้ามาจำพรรษาในวัดดังกล่าว หลังวัดถูกทิ้งร้างไปนานถึงแปดปี[2]

กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ผู้แทนของรัฐบาลได้เข้ามาตรวจสอบการบูรณะพระอุโบสถ และวางแผนที่จะสร้างที่พักอาศัยแก่ชาวไทยพุทธที่มีฐานะยากจนจำนวนสองครอบครัวบริเวณด้านหลังวัด[12]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 ""วัดสวนแก้ว" ที่ยะหา...ในวันร้างผ้าเหลือง". อิศรา. 20 พฤษภาคม 2554. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 "สานต่อภารกิจฟื้น "วัดร้าง" ในชายแดนใต้ คือการสร้าง "ความมั่นคง" ในพื้นที่ปลายด้ามขวาน". ผู้จัดการออนไลน์. 22 กุมภาพันธ์ 2563. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 "วัดสวนแก้วยะลาไม่มีพิธีกรรมทางศาสนาวันวิสาขบูชา หลังเจ้าอาวาสมรณภาพจากเหตุระเบิด". ผู้จัดการออนไลน์. 17 พฤษภาคม 2554. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 "ศิษยานุศิษย์ ร่วมประชุมเพลิง "พระสมุห์ชาตรี กันตรโต" เหยื่อโจรใต้". ผู้จัดการออนไลน์. 22 พฤษภาคม 2554. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 "บึ้มรถพระออกบิณฑบาต มรณ2-ทหารเจ็บ". ผู้จัดการออนไลน์. 17 พฤษภาคม 2554. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.0 6.1 "เผยพระ 2 รูปสุดท้ายของวัดถูกระเบิด". วอยซ์ทีวี. 16 พฤษภาคม 2554. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. "มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 13/2554 มติที่ 320/2554 เรื่อง รายงานพระสงฆ์ถูกลอบวางระเบิดถึงแก่มรณภาพ". มหาเถรสมาคม. 9 มิถุนายน 2554. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. 8.0 8.1 "บิณฑบาตกลางไฟใต้ ธรรมดาวัตรปฏิบัติที่ไม่ธรรมดา". คมชัดลึก. 8 มิถุนายน 2554. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. "ผู้ว่าฯยะลา ร่วมสวดอภิธรรมศพ "พระสมุห์ชาตรี" เหยื่อระเบิดรถยนต์". ผู้จัดการออนไลน์. 20 พฤษภาคม 2554. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. "รองเจ้าคณะฯยะลาชี้พระสงฆ์ 3 จชต.หวาดระแวงปฏิบัติศาสนกิจไม่เต็มที่หลังโดนโจรป่วน". ผู้จัดการออนไลน์. 16 พฤษภาคม 2554. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. "ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ประชุมติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนการฟื้นฟูวัดปูแหล (สวนแก้ว)". สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์. 25 มกราคม 2563. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  12. "ติดตามความคืบหน้าในการปรับปรุงซ่อมแซมบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถของวัดสวนแก้ว (วัดปูแหล) ตำบลบาโร๊ะ อำเภอยะหา จังหวัดยะลา". สำนักสารสนเทศ กอ.รมน.ภาค 4 สน. 5 กรกฎาคม 2565. สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)