วัดบ้านโป่ง
วัดบ้านโป่ง | |
---|---|
อุโบสถจัตุรมุข (ซ้าย) และเจดีย์ 5 ยอด (ขวา) | |
ชื่อสามัญ | วัดบ้านโป่ง |
ที่ตั้ง | เลขที่ 1 ถนนวิจิตรธรรมรส หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | เถรวาท |
เจ้าอาวาส | พระครูสุธีปริยัติวิธาน (สุภาพ อาตาปโก ป.ธ.6) |
กิจกรรม | ศาสนสถานในพระพุทธศาสนาที่มีกิจกรรมเชิงพุทธตลอดปี/ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดบ้านโป่ง ตั้งอยู่เลขที่ 1 ตำบลบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี อยู่ในเขตเทศบาลเมืองบ้านโป่ง สังกัดมหานิกาย เป็นวัดราษฏร์ อยู่ในเขตปกครองของคณะสงฆ์ตำบลปากแรต อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ภาค 15
วัดบ้านโป่ง มีอาณาเขต ทิศเหนือติดต่อกับโรงเรียนรัตนราษฎร์บำรุง ทิศใต้จดถนนสายบ้านไร่ห้วยลึก ทิศตะวันออกจดถนนเทศบาลและหมู่บ้านหลังวัด ทิศตะวันตกจดถนนริมทางรถไฟและหมู่บ้านหน้าวัดชายฝั่งแม่น้ำแม่กล มีเนื้อที่ธรณีสงฆ์ 3 แปลง มีเนื้อที่ทั้งสิ้นจำนวน 68 ไร่ 4 งาน วัดบ้านโป่งสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2345 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2444 เนื้อที่กว้าง 16 เมตร ยาว 26 เมตร ได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาแล้ว
ประวัติ
[แก้]วัดบ้านโป่ง คำว่า “โป่ง” มาจากคำว่า “ดินโป่ง” ซึ่งเป็นดินที่มีรสเค็มและเป็นอาหารมีรสอันโอชะของสัตว์นานาชนิด เดิมเขตอำเภอบ้านโป่งนี้เป็นป่าใหญ่เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด เป็นที่อยู่ของสัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลายและยังมีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน จึงนับได้ว่าดินแดนแถบนี้อุดมสมบูรณ์ เมื่อมีคนมาอาศัยดินแดนแถบนี้ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยเป็นหมู่บ้าน หมู่บ้านนี้จึงเรียกชื่อตามลักษณะดินในแถบนี้ว่า “บ้านโป่ง” และเมื่อมีวัดเกิดขึ้นก็เรียกชื่อวัดตามหมู่บ้านนั้นว่า “วัดบ้านโป่ง”
วัดบ้านโป่ง เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง ซึ่งมีอายุนานเกือบ 200 ปี ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งไม่ห่างจากสถานีรถไฟเท่าใดนัก เนื้อที่รอบๆ บริเวณวัดประมาณ 50 กว่าไร่ มีประวัติความเป็นมาตามที่ผู้เฒ่าได้เล่าสืบต่อๆ กันมาพอจะจับใจความได้ดังนี้ เดิมทีได้มีพระภิกษุลาวรูปหนึ่ง ได้มาสร้างกระท่อมมุงด้วยแฝกและได้จัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นหากแต่ที่วัดบ้านโป่ง นั้นเต็มไปด้วยป่าไม้ใบหนา เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด เต็มไปด้วยภัยอันตรายมาก จึงไม่มีผู้ใดอาศัยอยู่ ต่อมาจึงเสื่อมโทรมลงและไม่มีผู้ใดทราบว่าพระภิกษุลาวรูปนั้นไปไหนและที่ใด
ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 23 เมืองหงสาวดีเกิดความปั่นป่วนขึ้น เนื่องจากภัยทางสงคราม ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างพม่ากับอังกฤษ เป็นเหตุให้ชาวรามัญพากันอพยพหลบภัยแล้วข้ามมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระมหากษัตริย์ไทย โดยเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์บ้าง ด่านสิงขรบ้าง และได้เข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินกันเป็นหมู่ๆ ตามแถบฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ในครั้งกระนั้นก็ได้มีพระภิกษุชาวรามัญรูปหนึ่งที่ได้อพยพหลบภัยสงครามเข้ามาในเมืองไทยด้วย พระภิกษุรามัญรูปนั้นชื่อว่า “พระภิกษุด่าง” หลวงพ่อด่างได้เข้ามาในสภาพที่เป็นพระสงฆ์ จึงไม่อาจจะอยู่ในหมู่บ้านรามัญร่วมกับเขาได้ จึงได้มาหาที่พำนักใหม่และได้มาปลูกกระท่อมมุงแฝก ณ ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งเดิมเป็นสำนักสงฆ์เก่าที่รกร้างไปแล้วนั้น หลวงพ่อด่างได้นำพระธาตุจากเมืองย่างกุ้งติดตัวมาด้วย และเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความหลังให้ระลึกถึงมาตุภูมิเดิม หลวงพ่อด่างจึงได้สร้างเจดีย์ขึ้นองค์หนึ่งมี 5 ยอด คล้ายกับเจดีย์ชะเวดากองที่เมืองย่างกุ้ง เจดีย์องค์นี้ประชาชนทั่ว ๆ ไปเรียกกันว่า“เจดีย์ 5 ยอด” อันเป็นปูชนีสถานอันศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่ของวัดบ้านโป่งนี้ด้วย
ศาสนสถานในวัด
[แก้]- อุโบสถจัตุรมุข 2 ชั้น ภายในประดิษฐาน พระพุทธเกษี ( พระประธานในอุโบสถ ) หลวงพ่อ 5 พี่น้อง ได้แก่ หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อวัดไร่ขิง หลวงพ่อวัดบ้านแหลม หลวงพ่อโตวัดบางพลี และหลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา และรูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาส
- อุโบสถหลังเก่า
- เจดีย์ 5 ยอด (ศิลปะมอญ)
- ศาลาการเปรียญ
- ศาลเจ้าพ่อพระกาฬ
ลำดับเจ้าอาวาส
[แก้]- พระอาจารย์เบอร์
- พระอาจารย์เดิ่ง
- พระอาจารย์เกลี้ยง
- พระอาจารย์สังข์
- พระอาจารย์ดี
- พระอาจารย์คลี่
- พระอาจารย์เดช
- พระครูสังฆกิจบริหาร (ฟัก อุตฺตโม)
- พระครูโยคาภิรมย์ (ชื่น ชินอักษร)
- พระครูขันตยาภิรัติ (เลื่อน จุโลทัย)
- พระมหาสนิธ เขมจารี ป.ธ.8 (ต่อมาคือ สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สนิธ เขมจารี))
- พระครูวิจิตรธรรมรส (สุดใจ รุจิธมฺโม ป.ธ.3) มรณภาพเมื่อ 17 พฤษภาคม 2529
- พระพิศาลพัฒนโสภณ (ทอง วิโรจโน ป.ธ.5) มรณภาพ วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม 2558
- พระครูสุธีปริยัติวิธาน (สุภาพ อาตาปโก ป.ธ.6) ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2558-ปัจจุบัน
อ้างอิง
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ วัดบ้านโป่ง
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์