ข้ามไปเนื้อหา

วัดบ้านเก่า (จังหวัดระยอง)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดบ้านเก่า
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบ้านเก่า, วัดทองธาราม, วัดน้ำวนเวียนตะเคียน 7 ต้น
ที่ตั้งตำบลตาขัน อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดบ้านเก่า เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลตาขัน อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 18 ไร่ 4 งาน 33 ตารางวา

ประวัติ

[แก้]

วัดบ้านเก่า หรือ วัดทองธาราม สันนิษฐานว่าคงมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยต่อมาถูกภัยสงครามจากพวกขอมรุกราน ผู้คนอพยพหรือถูกกวาดต้อน จึงทำให้กลายเป็นวัดร้าง จนประมาณ พ.ศ. 2115 ท่านพ่อครุฑ ได้บูรณะขึ้นใหม่ เรียกในสมัยนั้นว่า วัดน้ำวนเวียนตะเคียน 7 ต้น[1]

เนื่องจากสถานที่ตั้งวัดใกล้กับคุ้งน้ำริมฝั่งด้านทิศใต้ของคลองใหญ่และในบริเวณวัดมีต้นตะเคียนขนาดใหญ่หลายต้น ยังสันนิษฐานว่า พื้นที่บริเวณวัดบ้านเก่าน่าจะเป็นบริเวณที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงหยุดประทับแรม แล้วผู้รั้งเมืองระยอง และกรรมการเมืองได้มาต้อนรับเสด็จ

ยังมีประวัติเล่าว่าสมัยสุนทรภู่เดินทางกับนายแสงเขี้ยวไปเยี่ยมบิดาที่บวชเป็นพระที่บ้านกร่ำ อำเภอแกลง ได้มาพักที่บ้านเก่าหนึ่งคืนที่บ้านนายแดงซึ่งเป็นเพื่อนของนายแสงเขี้ยว นายแดงเป็นคนชอบเสพของเมา พอรุ่งขึ้นนายแสงเขี้ยวไม่ยอมไปส่งสุนทรภู่ สุนทรภู่จึงเอาถ่านไฟเขียนไว้ที่ผนังอุโบสถว่า "ตั้งแต่นี้ต่อไปจะเรียกชื่อนายแสงเทวทัต" แต่ภายหลังไม่เหลือร่องรอย ได้ถูกทาสีทับไปแล้ว[2]

วัดบ้านเก่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2100 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515[3] เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา พ.ศ. 2517

อาคารเสนาสนะ

[แก้]

วัดมีสิ่งก่อสร้างสมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์อยู่ 3 อย่าง ได้แก่ อุโบสถหลังเก่า เจดีย์ฐานสิงห์ หอไตร เป็นต้น

อุโบสถหลังเก่านั้น ทางวัดได้ขุดพื้นเพื่อทำใหม่จึงได้พบว่าใช้ศิลาแลงเป็นฐาน ทั้งยังได้พบแหวนเงิน ทอง เงินพดด้วง กระปุกขนาดเล็ก ลูกปัด ใบเสมาหินแกรนิตและหินทรายแดงด้วย อุโบสถก่ออิฐถือปูน หลังคาครื่องไม้ มุงกระเบื้องลดมุข 2 ชั้น มีช่อฟ้าใบระกาและหางหงส์ทำด้วยไม้ เจดีย์ฐานสิงห์สี่เหลี่ยม สร้างราว พ.ศ. 2127 เมื่อครั้งยอดเจดีย์พังลงมาได้พบพระทองคำและตะลุกพุกภายในเจดีย์ และหอไตรกลางน้ำ เป็นเรือนไทยไม่มีฝากั้น หน้าบันจจำหลักลายเทพพนม น่าจะสร้างราว พ.ศ. 2115[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "วัดบ้านเก่าทองธาราม". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.
  2. "วัดบ้านเก่า". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  3. "วัดบ้านเก่า". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  4. กำพล จำปาพันธ์. "ราย็อง (ระยอง) : เมืองชองบนเส้นทางอารยธรรมฝั่งทะเลตะวันออก". p. 13.