วัดบูรพารามใต้
วัดบูรพารามใต้ | |
---|---|
ที่ตั้ง | ตำบลทรายมูล อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร 35170 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดบูรพารามใต้ ตั้งอยู่เลขที่ 1/1 หมู่ที่ 4 บ้านทรายมูล ตำบลทรายมูล อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร รหัสไปรษณีย์ 35170 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ 34 ไร่ อาณาเขตของวัด ทิศเหนือ ติดทุ่งนา ทิศใต้ ติดถนนสาธารณประโยชน์และหมู่บ้าน ทิศตะวันออก ติดถนนสาธารณประโยชน์และหมู่บ้าน และทิศตะวันตก ติดถนนสาธารณประโยชน์และหมู่บ้าน
ประวัติ
[แก้]เดิมชื่อ ”วัดใต้” เป็นวัดเก่าแก่ของชาวบ้านทรายมูล สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2350 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2471 ขนาดวิสุงคามสีมา กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร และผูกพัทธสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2503
มีประวัติเล่าไว้ว่า ได้มีพระเถระรูปหนึ่งผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ถือปฏิบัติในธุดงค์ ได้จาริกธุดงค์ไปในหลายประเทศ เช่น พม่า อินเดีย ลาว เป็นต้น พอเมื่อปี พ.ศ. 2350 ได้กลับมายังบ้านทรายมูล ซึ่งเป็นถิ่นมาตุภูมิของท่าน ได้ชักชวนทายกทายิกาชาวทรายมูลสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น และได้สร้างกุฎีทรงไทยประยุกต์พม่าขึ้นหนึ่งหลัง และต่อมาหลังจากนั้น ได้มีพระอาจารย์น้อย สุวโจ ได้ชักชวนญาติโยมสร้างอุโบสถ พร้อมนั้นได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. 2471 จึงได้ดำเนินการก่อสร้างอุโบสถขึ้น ปี พ.ศ. 2491 มีเจ้าอธิการจันดี มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ได้ชักชวนทายกทายิกาดำเนินการก่อสร้างอุโบสถต่อจนแล้วเสร็จ และผูกพัทธสีมาในปี พ.ศ. 2503
ปี พ.ศ. 2518 มีพระวิโรจน์ นำพาพระภิกษุสามเณร ทายกทายิกาสร้างศาลาการเปรียญขึ้น พอดำเนินการสร้างศาลาการเปรียญเสร็จก็ลาสิกขา หลังจากนั้นวัดได้ขาดพระภิกษุที่จะเป็นผู้นำ การพัฒนาวัดวาอารามจึงหยุดลง โดยมีกุฎี อุโบสถ และศาลาการเปรียญอย่างละ 1 หลัง
ปี พ.ศ. 2528 คณะสงฆ์โดยมีพระเดชพระคุณพระธรรมปริยัติโสภณ เจ้าคณะภาค 10 (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรองเจ้าคณะภาค 10 มีพระราชทินนามว่า “พระราชเมธี”) พระครูบริหารวาลุกาเขต (ขณะดำรงตำแหน่งเป็นเจ้า คณะตำบลทรายมูล) และพระครูปลัดวิโรจน์ (ขณะดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดยโสธร ได้มาปรึกษากับทางญาติโยม เพื่อหาพระเถระมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสที่ประชุมได้ตกลงไปกราบนิมนต์พระราชสุตาลงกรณ์ รองเจ้าคณะจังหวัด (ในสมัยนั้นยังเป็น พระมหาเดือน สิริธมฺโม) จากวัดบูรพาภิราม จังหวัดร้อยเอ็ด มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส
หลังจากพระราชสุตาลงกรณ์ ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสแล้ว การพัฒนาวัดได้ขับเคลื่อนใหม่อีกครั้ง พร้อมกับได้จัดตั้งสำนักเรียนขึ้น โดยในปีแรกของการเป็นเจ้าอาวาส มีพระภิกษุสามเณร ร่วมจำพรรษาทั้งหมด 8 รูป ได้ช่วยกันพัฒนาวัดและเรียนธรรมบาลีไปด้วยพร้อมกัน พระภิกษุสามเณรพร้อมด้วยทายกทายิกาได้พร้อมใจกันสร้างกุฎีขึ้นจำนวน 6 หลัง เพื่อรองรับพระภิกษุ สามเณรที่มาศึกษาเล่าเรียนโดยมีจำนวน เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ และได้ปรับปรุงพื้นที่ในบริเวณวัดให้เป็นระเบียบมากขึ้น ตัดถนนในวัดใหม่ พร้อมปลูกต้นไม้เพื่อให้ร่มเย็น เหมาะแก่การ เข้ามาทำบุญและปฏิบัติธรรม ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาวัดของเจ้าอาวาสและพระภิกษุสามเณร ได้มีญาติโยมถวายที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์และขอซื้อจากญาติโยมเพื่อขยายเนื้อที่ของวัด จากเดิม 7 ไร่ เป็น 34 ไร่ โดยได้รับแรงศรัทธาจากญาติโยมในการร่วมเป็นเจ้าภาพบ้าง พอมีอาณาบริเวณวัดที่เหมาะสมจึงได้สร้างอาคารเรียน กุฏิอาคารที่พักพระภิกษุสามเณร ศาลาการเปรียญหลังใหม่ และบูรณปฏิสังขรณ์วัดให้คงสภาพกับกาลเวลา นอกเหนือจากการพัฒนาด้านวัตถุแล้ว ก็ยังมุ่งเน้นไปที่การจัดการศึกษา จนมีผลงานและได้รับการยกย่อง ดังมีปรากฏ ดังนี้
- พ.ศ. 2532 ได้ยกฐานะเป็น "โรงเรียนพระปริยัติธรรมประจำจังหวัดยโสธร จาก กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
- พ.ศ. 2534 ได้ยกฐานะเป็น "อุทยานการศึกษา" จาก กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
- พ.ศ. 2536 ได้ยกฐานะเป็น "วัดพัฒนาตัวอย่าง" จาก กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
- พ.ศ. 2540 ได้ยกฐานะเป็น "วัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น" จาก กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
- พ.ศ. 2542 ได้ยกฐานะเป็น "โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีประจำจังหวัดยโสธรแห่งที่ 1" จากแม่กองบาลีสนามหลวง
อ้างอิง
[แก้]ที่มา หรือเว็บไซต์หลัก www.wattai.org เก็บถาวร 2011-09-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน