วัดบุญศรีมุนีกรณ์
วัดบุญศรีมุนีกรณ์ | |
---|---|
ที่ตั้ง | เลขที่ 232 ซอยรามอินทรา 46 ถนนรามอินทรา แขวงรามอินทรา เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร 10230 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
พระประธาน | พระพุทธมหามณีนพรัตน์ |
เจ้าอาวาส | พระอธิการฉลาด ฉนฺทธมฺโม |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดบุญศรีมุนีกรณ์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่บนพื้นที่ 26 ไร่ 99 ตารางวา อยู่ใน 2 เขตการปกครอง คือ ครึ่งหน้าตั้งอยู่ในพื้นที่เขตคันนายาว ส่วนครึ่งหลังอยู่เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร และที่ดินด้านหน้าจำนวน 13 ไร่ 1 งาน 78 ตารางวา คุณเสถียรและคุณสายหยุด บุญศรี ได้ถวายให้สร้างวัดสำหรับเป็นที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2516 ที่ดินส่วนที่เหลือ พระครูภาวนานุสิฐ (ขาว ฐิตวณฺโณ) อดีตเจ้าอาวาส ได้จัดซื้อเพิ่มเติมในเวลาต่อมา
วัดบุญศรีมุนีกรณ์ได้รับการประกาศตั้งให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาจากกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2528 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2529 มหาเถรสมาคมได้ประกาศให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำกรุงเทพมหานคร แห่งที่ 24 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550
ชื่อของวัดบุญศรีมุนีกรณ์มาจากคำว่า บุญศรี ซึ่งเป็นนามสกุลของผู้ถวายที่ดินสร้างวัด กับคำว่า มุนีกรณ์ แปลว่า "เป็นที่สร้างพระมุนี" เมื่อนำคำทั้งสองมารวมกันจึงได้ความว่า "วัดอันเป็นสถานที่สร้างพระมุนีของตระกูลบุญศรี" ชื่อนี้ตั้งโดยพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร[1]
ภายในวัดมีพระพุทธรูปสำคัญแสดงพุทธประวัติ ปางบำเพ็ญทุกรกิริยา อุโบสถประดิษฐานพระประธานชื่อ พระพุทธมหามณีนพรัตน์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างด้วยทองเหลือง ประดับอัญมณีแท้ทั้งหมดที่ได้รับการร่วมใจสร้างจากประชาชนในท้องที่เมื่อปี พ.ศ. 2558 ขนาดหน้าตัก 3 เมตร สูง 4 เมตร แต่วัดแห่งนี้มักถูกโจรกรรมอยู่บ่อยครั้ง[2] บรรยากาศในวัดเป็นธรรมชาติเหมาะแก่การนั่งวิปัสสนา เปิดให้ประชาชนได้ทำบุญตักบาตรและถวายสังฆทานเป็นประจำทุกวัน[3]
รายนามเจ้าอาวาส
[แก้]- พระครูภาวนานุสิฐ (ขาว บัวเพ็ชร ฐิตวณฺโณ)
- พระมหาชานนท์ กุสลจิตฺโต
- พระอธิการฉลาด ฉนฺทธมฺโม (ดิษจำรัส)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ประวัติย่อ วัดบุญศรีมุนีกรณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-23. สืบค้นเมื่อ 2021-01-14.
- ↑ "โจรขอขมาก่อนฉก "แก้วขนเหล็ก" วัดบุญศรีมุนีกรณ์ เจ้าอาวาสสุดช้ำ 4 ปี พระพุทธรูปหายกว่า 100 องค์(มีคลิป)". ผู้จัดการออนไลน์. 16 เมษายน 2560.
- ↑ "ศาสนสถานที่สำคัญ". สำนักงานเขตคันนายาว. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-14. สืบค้นเมื่อ 2021-01-14.