วัดน้อยใน
วัดน้อยใน | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดน้อยใน, วัดน้อย |
ที่ตั้ง | เลขที่ 48 ซอยชัยพฤกษ์ 22 ถนนชัยพฤกษ์ แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดน้อยใน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร งานประจำปีที่สำคัญคืองานเทศน์มหาชาติในปลายเดือน 10 เริ่มจัดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2520 วัดมีโรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดน้อยใน) ในพระราชูปถัมภ์ฯ ตั้งอยู่ในที่ดินวัด
ประวัติ
[แก้]วัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2305 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2525[1] สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ครอบครัวของนางน้อยซึ่งเป็นหญิงหม้าย มีบุตรสาว 2 คน คือ ผึ้งและจีด พร้อมด้วยพระสงฆ์รูปหนึ่งคือ พระอาจารย์หน่าย ซึ่งเป็นพระวิปัสสนา และข้าทาสบริวารของนางน้อยได้อพยพโดยทางเรือจากบ้านป่าถ่าน เกาะเมืองอยุธยา จนมาถึงบริเวณนี้ นางน้อยเห็นว่าบริเวณนี้เป็นป่ารกปราศจากผู้คน จึงจับจองที่ทำมาหากิน และทางตอนใต้ที่ดินมีวัดร้างตั้งอยู่ มีโบสถ์เก่าและวิหารรูปเรือสำเภา
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่บ้านเมืองสงบแล้ว มีผู้คนมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มากขึ้น นางน้อยกับพระอาจารย์หน่ายและชาวบ้านได้ร่วมกันบูรณะวัดร้าง มีพระอาจารย์หน่ายเป็นสมภาร มีพระสงฆ์มาสมัครเป็นศิษย์เพื่อเรียนวิปัสสนากรรมฐานกันมากมาย จนเมื่อสิ้นพระอาจารย์หน่ายกับนางน้อย นางผึ้งบุตรสาวคนโตผู้ไปได้สามีอยู่ที่บางเขนก็ได้สร้างวัดหนึ่ง แล้วจะตั้งชื่อวัดว่า "วัดน้อย" ตามชื่อมารดา แต่นางจีดผู้เป็นน้องไม่ยินยอม เพราะอยากจะให้วัดที่มารดาบูรณะมีชื่อว่าวัดน้อยเช่นกัน ทั้งสองคนตกลงกันไม่ได้ พระอาจารย์จีนผู้เป็นสมภารต่อจากพระอาจารย์หน่าย ได้ตัดสินใจให้วัดที่นางผึ้งสร้างใหม่มีชื่อว่า "วัดน้อยนอก" ส่วนวัดที่นางน้อยผู้เป็นมารดาได้บูรณะมีชื่อว่า "วัดน้อยใน"[2]
อาคารเสนาสนะ
[แก้]อุโบสถหลังเก่ารื้อถอนเมื่อปี พ.ศ. 2524 แล้วสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น ณ ตำแหน่งเดิม มีพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2525 เป็นอุโบสถทรงไทย มุงกระเบื้องดินเผาเคลือบ มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลังประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นต่าง ๆ มีเครื่องหมาย "พร" ประดับมงกุฎอันเป็นพระนามย่อของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระประธานในอุโบสถหล่อขึ้นใหม่ตามแบบพระพุทธรูปสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 3 ศอก 9 นิ้ว ลงรักปิดทอง ประดิษฐานบนฐานชุกชีปิดทองประดับกระจก มีนามว่า พระพุทธวชิรสุวัทนาสิริโสภาบพิตร
เจดีย์ตั้งอยู่ด้านหลังอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบอยุธยาขนาดใหญ่ทาสีทองทั้งองค์ ศาลาการเปรียญเป็นอาคารไม้ทรงไทยยกพื้น ศาลาบำเพ็ญกุศลตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมรุ ศาลาริมน้ำอยู่ริมคลองบางกอกน้อย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2533 ประดิษฐานรูปเหมือนของอดีตเจ้าอาวาส 2 รูป คือ พระครูวิทยานุกูล (มั่ง อินฺทสโร) และพระอธิการนิ่ม โกวิโท[3]
รายนามเจ้าอาวาส
[แก้]- หลวงตาบุญมา
- พระครูวิทยานุกูล (มั่ง อินฺทสโร)
- พระอธิการนิ่ม โกวิโท, หลวงตาขัณท์ (รักษาการ 2 ปี)
- พระมหาวิรัต จนฺทเทโว
- พระครูอดุลย์สาธุวัฒน์ (ชื้น ธมฺมสาโร)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "รายงานทะเบียนวัด" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-13. สืบค้นเมื่อ 2020-10-21.
- ↑ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552.
- ↑ "วัดน้อยใน". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.