วัดนันตาราม
วัดนันตาราม | |
---|---|
การแสดงของชาวลื้อที่วัดนันตาราม | |
ชื่อสามัญ | วัดนันตาราม |
ที่ตั้ง | ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดนันตาราม เดิมเรียก จองม่าน หรือ จองคา (จอง เป็นคำไทใหญ่หมายถึงวัด) เพราะมุงด้วยหญ้าคา บ้างครั้งเรียก จองเหนือ เป็นวัดในตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เป็นวัดศิลปะแบบพม่า ตัววิหารไม้สัก มีลวดลายฉลุไม้ ทั้งหน้าต่าง หน้าบัน ระเบียง ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์ธนบัตรเก่า เครื่องใช้โบราณ ผ้าลายโบราณ ภาพวาดโบราณ
องค์พระประธานในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากไม้สักทองลงรักปิดทอง ทรงเครื่องแบบไทยใหญ่ ข้างองค์ประธานพระพุทธรูปหินขาว และพระพุทธปฏิมาประธาน ภายในวิหารยังมีธรรมาสน์ฉลุลวดลายสีทอง[1]
วัดสร้างในปี พ.ศ 2467[2] โดยพ่อหม่องโพธิ์ชิต อริยภา ร่วมกับ พ่อเฒ่าอุบล บุญเจริญ บริจาคที่ดินเนื้อที่ 3 ไร่เศษ มีฐานะเป็น อาราม (ขึ้นตรงต่อคณธสงฆ์พม่าในขณะนั้น) ต่อมาในปี พ.ศ. 2467 พ่อเฒ่าตะก่าจองนันตา (อู๋) วงศ์อนันต์ คหบดีชาวปะโอ (ตองสู้) ได้ทำนุบำรุงปรับปรุงเสนาสนะ ต่อมาแม่เฒ่าจ๋ามเฮิง ประเสริฐกูล ได้ร่วมบริจาคที่ดินจำนวน 5 ไร่ 1 งาน 72 ตารางวา สร้างวิหารหลังใหม่ โดยพ่อตะก่าจองนันตา(อู๋) รับเป็นเจ้าภาพสร้างวิหารหลังปัจจุบัน ได้จ้างช่างชาวพม่าจากจังหวัดลำปาง มาออกแบบและทำการก่อสร้างวิหารไม้ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมพม่าตอนล่าง อาคารมีหลังคาหน้าจั่วยกเป็นช่อชั้นลดหลั่นกัน มุงด้วยไม้แป้นเกร็ด และได้เปลี่ยนชื่อวัดจาก จองม่าน มาเป็น วัดนันตาราม เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ พ่อเฒ่าตะก่าจองนันตา (อู๋) ต้นตระกูลวงศ์อนันต์[3]
นอกจากวัดแล้วยังเป็นโรงเรียนสอนสามเณร ส่วนอาคารเจาง์ ของวัดนันตารามทำหน้าที่เป็นทั้งวิหารอุโบสถ และศาลาการเปรียญตามรูปแบบของวัดไทย ในวิหารมีประติมากรรมรูปสิงห์ 2 ตัว พร้อมกับเสาสูงสองเสาขนาบข้าง บนยอดสุดมีการประดับประติมากรรมรูปนกยูงส่วนด้านหน้าราวบันไดเป็นประติมากรรมสัตว์ผสม ส่วนถัดไปเป็นโถงเรียกว่า จองตะกา ไว้สำหรับทำบุญไหว้พระ สวดมนต์ฟังธรรม ฯลฯ ส่วนถัดไปเรียก จองพารา เป็นพื้นที่ที่มีการประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนถัดไปคือ จองสังฆะ ใช้เป็นที่จำวัดของเจ้าอาวาส โดยรวมแล้ว วิหารวัดนันตารามมีเสาทั้งหมด 68 ต้น ซึ่งเป็นเสาไม้สักลงทองทุกต้น ส่วนเพดาน ใช้กระจกสีในการประดับตกแต่งลาย ส่วนพระพุทธรูป อัญเชิญมาจากวัดจองเมตตา เป็นพระพุทธรูปไม้สักทองศิลปะมันดาเลย์[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดนันตาราม". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "วัดนันตารามวิหาร ไม้สักทองทั้ง หลังศิลปะพม่าที่ยังคงสวยงาม". คมชัดลึก.
- ↑ "วัดนันตาราม งามล้ำค่าศิลปะพม่า". มิวเซียมไทยแลนด์.
- ↑ "เปิดกรุ 'วัดนันตาราม' ความงดงาม "ไม้สักทองทั้งวิหาร" จากอารยธรรมพม่า". ประชาชาติธุรกิจ. 27 กันยายน 2561.