วัดท่าข้าม (กรุงเทพมหานคร)
วัดท่าข้าม | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดท่าข้าม |
ที่ตั้ง | เลขที่ 1 ถนนอนามัยงามเจริญ แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร 10150 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดท่าข้าม เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ในแขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ริมคลองสนามชัย ตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. 2375 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2559[1]
แต่เดิมบริเวณรอบวัดท่าข้ามเป็นชุมชนชาวมอญ แต่ปัจจุบันวิถีชีวิตคนมอญดั้งเดิมแทบสูญหายไปหมดแล้ว[2] เหลือเพียงคนเก่าแก่ที่มีเชื้อสายมอญเพียงไม่กี่คนเท่านั้น คนมอญที่ยังหลงเหลือมักรวมตัวกันที่วัดท่าข้ามเพื่อประกอบศาสนพิธีในวันพระและวันสำคัญทางศาสนา ทั้งนี้วิถีชีวิตชาวมอญสามารถพบเห็นได้จากงานจิตรกรรมที่ศาลาการเปรียญวัด รวมถึงภาพจิตรกรรมทศชาติชาดก
ศาลาการเปรียญวัดเป็นอาคารไม้สักขนาดใหญ่ ขนาดกว้าง 11.14 เมตร ยาว 17.90 เมตร มีเสาประกอบอาคารจำนวน 8 ต้น ระหว่างเสาบริเวณคอสอ ปรากฏภาพจิตรกรรม ซึ่งสันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในช่วงราวรัชกาลที่ 4–5 เป็นเรื่องทศชาติชาดก ช่องละ 1 พระชาติ แบ่งเป็นด้านข้างซ้ายขวาจำนวน 8 ช่อง และด้านสกัดคือด้านทิศตะวันตก-ตะวันออกอีก 2 ช่อง รวมเป็น 10 ช่อง แสดงเป็นสิบพระชาติของพระพุทธเจ้า บริเวณท้องจันทันเป็นภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับวิถีชีวิตและพิธีกรรมของชาวมอญในอดีต อย่างเช่น ภาพพ่อลูกถือคันไถเทียมควายกำลังไถนาเพื่อเตรียมการปักดำ ภาพผู้หญิงสองคนกำลังปักดำ ภาพการลงแขกเกี่ยวข้าว ภาพประเพณีและพิธีกรรมการปลงศพของชาวมอญ เป็นต้น[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดท่าข้าม". พระสังฆาธิการ.
- ↑ "มองมอญวัดท่าข้าม". เมืองโบราณ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-13. สืบค้นเมื่อ 2020-07-13.
- ↑ "มอญเมืองหลวง ภาพสะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นมอญในสังคมเมือง". สารคดี.