วัดดุสิดารามวรวิหาร
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
วัดดุสิดาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร[1] ตั้งอยู่เลขที่ 176 ซอยสมเด็จพระปิ่นเกล้า 1 ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 10700 ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เหนือปากคลองบางกอกน้อย ปัจจุบันมีพระเทพสิทธิมุนี (บุญสิน อุตฺตมชาโต) เป็นเจ้าอาวาส
ประวัติ
[แก้]พระอารามนี้เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อว่าวัดเสาประโคน ส่วนเรื่องที่จะมีมูลเหตุเป็นมาอย่างไรจึงมีชื่อดังนั้น ไม่ทราบแน่นอน เพราะยังไม่พบหลักฐานยืนยัน มีเพียงแต่เรื่องเล่าว่าเมื่อท่านสุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองในราว พ.ศ. 2371 ก็ได้กล่าวถึงวัดนี้ไว้ว่า
ถึงอารามนามวัดประโคนปัก
ไม่เห็นหลักลือเล่าว่าเสาหิน
เป็นสำคัญปันแดนในแผ่นดิน
มิรู้สิ้นสุดชื่อที่ฦาชา
แต่โดยอาศัยตามคำบอกเล่าของท่านผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน และมีชาติภูมิอยู่ในถิ่นนี้มาเป็นเครื่องอนุมานในการสันนิษฐาน คงได้เค้าเรื่อง ดังนี้
ในสมัยที่ล่วงมาแล้วประมาณ 60 ปีเศษ ขณะที่ท่านผู้เล่ายังเยาว์อยู่ได้เคยเห็นเสาหินต้นหนึ่ง ขนาดโตประมาณเท่าเสา 4 กำ หรือ 5 กำ สูง 2 ศอกเศษ ปักอยู่ที่มุมภายในพระระเบียงรายรอบพระอุโบสถ ใกล้กับพระเจดีย์ที่ตั้งอยู่ในทิศเหนือด้านหลังพระอุโบสถที่ยังปรากฏอยู่ ณ บัดนี้ ซึ่งในขณะนั้นสถานที่นั้นยังรกเป็นป่าหญ้าคาเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในสมัยนั้น ( นัยว่า ผู้ที่มาดูบางคนก็เห็น แต่บางคนไม่เห็น ) ต่อภายหลังผู้บอกเล่าได้มาดูอีกแต่ไม่เห็น และไม่ทราบว่าเสาหินนั้นสูญหายไปอย่างไร เมื่อไร ดังนั้น เรื่องนี้จึงน่าจะลงมติสันนิษฐานได้ว่าการขนานนามวัดนี้ว่า “เสาประโคน” อาจถือเอาเสาหินนั้นเป็นนิมิตก็ได้ ทั้งตรงกับความหมายของคำว่า “ประโคน” ซึ่งใช้เป็นชื่อเรียกเสาใหญ่ที่ปักหมายเขตแดนอีกด้วย พิจารณาดูก็พอสมเหตุสมผล แต่จะรับรองว่ายุติแน่นอนก็ไม่ได้
อนึ่ง คำว่า “ประโคน” ซึ่งเป็นชื่อของพระอารามนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงนิยามไว้ดังนี้ว่า “โคน เห็นจะแปลว่า เสา ว่า หลัก ตัวอย่างเช่นคำ เสาประโคน ประ เป็นคำนำเข้าไปให้ผังพริ้งเพริศ เช่น จบ เป็นประจบ จวบเป็นประจวบ ชุมเป็นประชุม”
ส่วนหลักฐานที่จะแสดงให้รู้ ว่าวัดนี้ได้สร้างขึ้นในปีไหน ใครเป็นผู้สร้าง และได้สร้างถาวรวัตถุหรือปูชนียวัตถุอะไรไว้บ้างในยุคแรก ก็ไม่มีปรากฏ จึงทราบไม่ได้
หากจะหาแหล่งอ้างอิงที่เป็นเอกสาร ก็มีบันทึกไว้หลายแห่ง ที่จะยกมา ณ ตอนนี้คือจากหนังสือ “ประวัติวัดดุสิดารามวรวิหาร”(ฉบับตรวจสอบชำระ) โดยกรมศิลปากรเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ปี 2502 ซึ่งได้ระบุไว้ว่า วัดดุสิดารามนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าแจ่ม กรมหลวงศรีสุนทรเทพ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงสถาปนาขึ้นแต่ทราบไม่ได้ว่าทรงสร้างหรือทรงปฏิสังขรณ์ปูชนียวัดถุหรือถาวรวัตถุสิ่งใดไว้บ้าง เข้าใจว่าคงจะทรงสร้างพระอุโบสถ พร้อมทั้งพระระเบียง หอระฆังและกุฏิ 2 คณะ คือด้านเหนือพระอุโบสถคณะ 1 ด้านใต้พระอุโบสถคณะ ๑ ส่วนศาลาเก๋งและวิหารคงเป็นเพียงทรงปฏิสังขรณ์ของเดิมเท่านั้น
ต่อมาในรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ได้ทรงสร้างกุฏิด้านหน้า 1 คณะ หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญ เจดีย์ และบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุอื่น ๆ ทรงบรรจุอัฐิเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ ซึ่งเป็นพระเชษฐภคนี ในบริเวณกุฏิที่สร้างใหม่ และพระราชทานนามวัดว่า “วัดดุสิดาราม”
สมัยรัชกาลที่ 3 ได้ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ พระวิหาร และกุฏิทั่วพระอาราม ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้สร้างอาคารเสนาสนะต่าง ๆ เพิ่มขึ้น พร้อมกับได้สร้างโรงเรียนสอนหนังสือไทย ๑ หลัง
สมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อปีพุทธศักราช 2456 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จตรวจวัดดุสิดาราม วัดภุมรินราชปักษี และวัดน้อยทองอยู่ ซึ่งมีอาณาเขตที่ดินติดต่อกัน ทรงรับสั่งให้รวมวัดภุมรินราชปักษี ซึ่งมีพระสงฆ์อยู่รูปเดียวเข้ากับวัดดุสิดาราม
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2488 วัดดุสิดารามและวัดน้อยทองอยู่ประสบภัยทางอากาศในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง วัดน้อยทองอยู่ถูกระเบิดเสียหาย เหลือแต่กำแพงอุโบสถ เมื่อสงครามสงบแล้ว ทางราชการจึงได้ประกาศรวมเขากับวัดดุสิดาราม เมื่อปีพุทธศักราช 2489
เนื้อที่และเขตวัด
[แก้]เนื้อที่ของวัดนี้ มี 3 แปลง คือ แปลงที่ 1 เนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ 2 งาน 48 วาทิศเหนือ จดที่ดินเลขที่ 254/560 และจดที่ดินวัดภุมรินราชปักษี ทิศใต้ จดคลองขนมจีน-แม่น้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันออก จดคลองวัดดุสิดาราม ทิศตะวันตก จดที่ดินเลขที่ ๒๔๘-๒๖๐ และคูหลังวัดดุสิดาราม (แปลงนี้เป็นเนื้อที่เดิมของวัดดุสิดาราม)
แปลงที่ 2 เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 2 งาน 40 วา ทิศเหนือ จดคลองหลังวัดภุมรินราชปักษี ทิศใต้ จดคูวัดดุสิดาราม ทิศตะวันออก จดคลองวัดดุสิดาราม ทิศตะวันตก จดที่ดินเลขที่ ๗๔๘-๒๕๔/๕๖๐ (แปลงนี้เดิมเป็นเนื้อที่วัดภุมรินราชปักษี รวมมาเป็นของวัดดุสิดารามเมื่อ พ.ศ. 2456 สมัยพระญาณสมโพธิเป็นเจ้าอาวาส)
แปลงที่ 3 เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ 1 งาน 7 วา ทิศเหนือ จดที่ดินคูหลังวัด ทิศใต้ จดคลองวัดดุสิดาราม ทิศตะวันออก จดที่ดินเลขที่ 150 และคูหน้าวัดน้อยทองอยู่ ทิศตะวันตก จดคลองระหว่างวัดดุสิดารามและวัดภุมรินราชปักษี (แปลงนี้เดิมเป็นเนื้อที่ของวัดน้อยทองอยู่ รวมมาเป็นของวัดดุสิดารามเมื่อ พ.ศ. 2489 สมัยพระประสิทธิวีริยคุณเป็นเจ้าอาวาส)
รวมทั้ง ๓ แปลง เป็นเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ ๓๗ ไร่ ๑ งาน ๙๕ วา ต่อนั้นมาได้จัดการซ่อมสะพานยาวท่าน้ำ รื้อศาลาไม้ที่ปลูกอยู่ด้านใต้พระอุโบสถไปปลูกเป็นศาลาท่าน้ำซ่อมชานกุฏิเสริมหลังคา สร้างกุฏิหลังพระอุโบสถ ๑ หลัง กว้าง ๕.๕๐ เมตร ยาว ๒๐.๐๐ เมตร โรงครัว ๑ หลัง ห้องน้ำห้องส้วม ๒ หลัง รื้อศาลาคู่ที่ชำรุดด้านหน้าพระอุโบสถ แล้วจัดการสร้างศาลาขึ้นใหม่ในที่เดิมติดกับพระระเบียงพระอุโบสถ เป็นศาลาพื้นดินลาดซิเมนต์ ยาว ๑๘.๐๐ เมตร กว้าง ๑๐.๕๐ เมตร สูงจากพื้นถึงเพดาน ๓.๔๐ เมตร วิหารก่ออิฐถือปูน ๑ หลัง ยาว ๗.๐๐ เมตร กว้าง ๓.๕๐ เมตร สูงถึงเพดาน ๔.๕๐ เมตร และมีท่านผู้มีศรัทธาสร้างกุฏิถวาย ๔ หลัง ส้วม ๑ หลัง
ส่วนในด้านการศึกษา ภายหลังแต่ประสบภัยทางอากาศแล้ว ต้องยุติล้มเลิกไปเพราะไม่มีสถานที่เรียนและเสนาสนะที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ ทั้งในระยะนี้ทางวัดก็จะต้องสร้างถาวรวัตถุส่วนสาธารณูปโภคที่จำเป็นให้มีขึ้นก่อน
ปูชนียวัตถุ
[แก้]ปูชนียวัตถุที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ คือ พระประธานปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ หน้าตักกว้าง ๒.๑๒ เมตร สูงถึงพระรัศมี ๒.๐๐ เมตร พระอรรคสาวกสูง ๙๗ เซนต์ นั่งพับแพนงเชิง1 อยู่บนแท่นบัวคว่ำบัวหงายด้านขวาและด้านซ้ายพระประธานข้างละ ๑ องค์ ผินหน้าเข้าหาพระประธาน พระพุทธรูปยืนก่อด้วยปูนลงรักปิดทองติดกับฝาผนังพระระเบียงรอบพระอุโบสถ ๖๔ องค์ ในลานมุมพระระเบียงทั้งสองข้างหน้าพระอุโบสถมีพระปรางค์อยู่ข้างละ ๑ องค์ ฐานล่างกว้าง ๔.๑๐ เมตร สูง ๙.๗๕ เมตรเท่ากัน และในลานมุมพระระเบียงด้านหลัง มีพระเจดีย์ข้างละ ๑ องค์ ฐานล่างกว้าง ๔.๑๐ เมตร สูง ๑๐.๑๕ เมตรเท่ากัน นอกจากนี้ยังมีปูชนียวัตถุที่เป็นสังหาริมทรัพย์ คือ พระพุทธรูปปางต่างๆ ใหญ่บ้างเล็กบ้างอีกมาก
1 พับแพนงเชิง – นั่งขัดสมาธิ
ถาวรวัตถุ
[แก้]ถาวรวัตถุของวัดที่มีอยู่ในบัดนี้ คือพระอุโบสถ เสาและฝาผนังถึงขื่อก่ออิฐถือปูน เครื่องบนทำด้วยไม้หลังคาลด ๓ ชั้น มีช่อฟ้าใบระกา มุงด้วยกระเบื้องดินเผาธรรมดาเข้าใจว่าเป็นแบบทรงอยุธยา วัดภายนอก เฉพาะตัวพระอุโบสถ ยาว ๒๒.๑๐ เมตร กว้าง ๑๐.๑๐ เมตร พะไล2 ด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถยาวด้านละ ๔.๑๐ เมตร กว้าง ๑๐.๑๐ เมตร ภายในตัวพระอุโบสถ ยาว ๑๙.๕๒ เมตร กว้าง ๗.๙๒ เมตร สูงจากพื้นถึงท้องขื่อ ๙.๕๗ เมตร ภายในพะไล ๒ ข้าง ยาวข้างละ ๓.๓๖ เมตร กว้าง ๙.๘๐ เมตรเท่ากัน
หน้าบันพระอุโบสถทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ตอนล่างก่ออิฐถือปูน ตอนบนใช้ไม้แกะสลักเป็นลวดลายก้านขดมีเทวดาถือพระขรรค์ประทับนั่งบนแท่น อยู่ท่ามกลางลงรักปิดทอง ประดับกระจกเหมือนกันทั้ง ๒ ข้าง
ชุ้มประตูด้านหน้าด้านหลังพระอุโบสถ ภายในพะไลแลซุ้มหน้าต่างภายนอกด้านข้างทั้ง ๒ ของพระอุโบสถ ทำลวดลายด้วยปูน มีช่อฟ้าใบระกา ปิดกระจก บานประตูและหน้าต่างพระอุโบสถด้านนอก พื้นลงรักเรียนลายรดน้ำ3 ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่ที่หน้าต่างลบเลือนไปหมดแล้ว ยังเหลือปรากฏอยู่ที่บานประตูบ้างเพียงบางส่วน
ภายในพะไลด้านหน้าและด้านหลัง ที่เสาพะไลและที่ฝาผนังพระอุโบสถข้างนอกเขียนด้วยสีเป็นลายรดน้ำทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ส่วนเหนือเสาพะไลขึ้นไปเขียนภาพต่างๆ ข้างพะไลด้านหน้ายังปรากฏอยู่บ้าง แต่ทางด้านหลังชำรุดลบเสียหมดแล้ว ภายในพระอุโบสถ ที่กำแพงฝาผนังทั้ง ๔ ด้านของพระอุโบสถ มีภาพเขียนฝีมือช่างในรัชกาลที่ ๑ เขียนไว้เป็นตอนๆ คือ ตั้งแต่พื้นพระอุโบสถขึ้นไปถึงขอบธรณีล่างของหน้าต่าง เขียนภาพต้นไม้ดอกไม้ไว้โดยรอบทั้ง ๔ ด้าน ตั้งแต่เหนือขอบธรณีล่างขึ้นไปถึงขอบธรณีบนของหน้าต่างเขียนภาพพระพุทธประวัติไว้ ๓ ด้าน คือ ที่กำแพงด้านหน้าและด้านข้างทั้ง ๒ ของพระอุโบสถ ส่วนที่กำแพงด้านหลังในระดับนี้ เขียนภาพยมโลก ตั้งแต่ขอบธรณีบนขึ้นไปเขียนภาพเทพชุมนุม ๓ ชั้นไว้ที่ฝาผนังด้านข้างทั้ง ๒ ส่วนที่ฝาผนังด้านหน้าในระดับเดียวกัน เขียนภาพมารวิชัย ที่ฝาผนังด้านหลังเขียนภาพมนุษยโลกและเทวโลกที่บานหน้าต่างทุกบาน มีภาพเทวรูปยืนประนมมืออยู่บนแท่น และที่บานประตูทุกบาน มีภาพยักษ์แบกแท่นซึ่งมีเทวรูปยืนประนมมืออยู่เบื้องบน
เหนือธรณีข้างบนตรงช่องประตูและหน้าต่างทุกช่อง มีฉากภาพแกะสลักด้วยไม้สักเป็นรูปดอกไม้ทารักปิดทอง ภายในฉากมีภาพเขียนเรื่องพระสมุทโฆษรวม ๒๖ รูป ข้างฐานชุกชีหน้าพระประธาน มีโต๊ะบูชาหมู่ ๗ ทำด้วยไม้แกะสลักเป็นรูปดอกไม้ปิดทอง
รอบนอกจากลานพระอุโบสถ มีพระระเบียงรายรอบทั้ง ๔ ด้าน วัดรอบนอก ยาว ๖๒.๒๐ เมตร กว้าง ๔๒.๒๕ เมตร
วิหาร ๑ หลัง หอระฆัง ๑ หอ ศาลา ๑ หลัง กุฏิ ๘ หลัง ครัว ๒ หลัง
2 พะไล – พื้นเรือนหรือพื้นอาคาร ที่ต่อออกจากด้านหัวและท้ายเรือน หรืออาคาร แล้วทำหลังคาคลุม หลังคานี้ลาดเทออกไปจากใต้กันสาดของอาคารใหญ่ ลักษณะของพะไล จะไม่มีฝากั้นปล่อยเปิดโล่งไว้
3 ลายรดน้ำ คือ การเขียนลวดลายให้ปรากฏเป็นลายทอง ด้วยวิธีปิดทองแล้วเอาน้ำรด การเขียนลายจะใช้น้ำยาหรดาล เขียนบนพื้น ซึ่งทาด้วยยางจากต้นรัก เขียนเสร็จเช็ดรักออก ปิดทองแล้วเอาน้ำรดน้ำยาหรดาล ซึ่งจะหลุดออกเมื่อถูกน้ำ ส่วนที่เป็นลายทองจะติดอยู่ ลวดลายที่ปรากฏหลังการรดน้ำแล้ว จะเป็นสีทองเพียงสีเดียว บนพื้นสีดำหรือแดง
ประวัติและลำดับของอดีตเจ้าอาวาส
[แก้]ประวัติและลำดับของเจ้าอาวาสพระอารามนี้ เท่าที่สืบทราบได้ตามเอกสาร คือ พระโพธิวงศ์ (เกิด) เป็นเจ้าอาวาสในสมัยปลายรัชกาลที่ ๓ และต่อมาในรัชกาลที่ ๔ แต่ต่อจากพระโพธิวงศ์ จะมีเจ้าอาวาสอีกกี่รูปไม่ทราบ ส่วนที่ทราบได้แน่นอนมีดังต่อไปนี้
- พระปัญญาคัมภีร์เถร ชาติภูมิไม่ปรากฏ
- พระครูสังวราธิคุณ (ยอด) เป็นผู้รักษาการชาติภูมิไม่ปรากฏ
- พระญาณสมโพธิ (พรหม) เปรียญ ๕ ประโยคสำนักวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครชาติภูมิอยู่จังหวัดหนองคาย ย้ายจากวัดมหาธาตุ มาเป็นเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ตั้งแต่ครั้งยังเป็นเปรียญ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะที่พระญาณสมโพธิ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๖ ลาสิกขาบท พ.ศ. ๒๔๖๔
- พระวิเชียรมุนี (ปุญญสุวณโณ บุญ) เปรียญ ๔ ประโยค เกิด ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีระกา ตรงกับวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๔๒๘ บิดาชื่อขุนนิคาม บำรุง (ทองคำ ศรีคาม) มารดาชื่อเขียว ชาติภูมิอยู่บ้านใหม่ ตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ณ วันเสาร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๔๔๘ พระอธิการเนียม เป็นพระอุปัชฌายะ พระอธิการทอง เป็นกรรมวาจาจารย์ พระครูแดง เป็นอนุสาวนาจารย์ เคยเป็นเจ้าอาวาสวัดประชาธิการาม จังหวัดพังงา เจ้าอาวาสวัดเก็ตโฮ่ จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ๒๔๕๗ ย้ายเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ในสำนักเรียน วัดมหาธาตุ สอบไล่ได้เป็นเปรียญแล้ว ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดวิเศษการ ตำบลบ้านช่างหล่อ อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี พ.ศ. ๒๔๖๔ ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสพระอารามนี้แต่ครั้งยังเป็นเปรียญ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะที่พระวิเชียรมุนี เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๖ เป็นพระอุปัชฌายะ พ.ศ. ๒๔๗๑ ลาสิกขาบท พ.ศ. ๒๔๗๖
- พระประสิทธิวีริยคุณ1 (ธญญาโภ สุง) เปรียญ ๖ ประโยค น.ธ.เอก เกิด ณ วันเสาร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๘ ปี มะโรง ตรงกับวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๔๔๗ บิดาชื่อเลื่อน มารดาชื่อหว้าน ชาติภูมิที่อยู่บ้านค่าย ตำบลบางทอง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๔๖๒ ที่วัดวิเศษการ ตำบลบ้านช่างหล่อ อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี พระวิเชียรมุนีครั้งยังเป็นเปรียญ เป็นพระอุปัชธายะ พ.ศ. ๒๔๖๔ ย้ายมาอยู่ที่ พระอารามนี้ พ.ศ. ๒๔๖๖ สอบได้ได้เปรียญ ๓ ประโยค อุปสมบทที่พระอารามนี้ เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๔๖๗ สมเด็จพระวันรัต (เขมจารี เฮง) ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมไตรโลกาจารย์ เป็นพระอุปัชฌายะ พระเทพสุธี (กิตติสาโร สวัสดิ์) ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระญาณสมโพธิ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระพิมลธรรม (ฐานทตโต ช้อย) ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ เป็นพระศรีสมโพธิเป็นอนุสาวนาจารย์ พระประสิทธิวีริยคุณ ได้ปกครองพระอารามนี้มาแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖ จนถึงสมัยปัจจุบัน2 ได้รับตำแหน่งหน้าที่และสมณศักดิ์ ดังนี้
- พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้รับสถาปนาเป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ "พระวิสุทธิวงศาจารย์"
- พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น "พระธรรมวิสุทธาจารย์
- พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้รับพระบัญชาให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพิชัยญาติการาม
- ๑ กรกฎาคม ๒๕๗๖ เป็นผู้รักษาการ
- ๒๐ สิงหาคม ๒๔๗๘ เป็นผู้รั้งเจ้าอาวาส
- ๒๖ ธันวาคม ๒๔๗๘ เป็นกรรมการตรวจประโยคธรรมสนามหลวง
- ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๘ เป็นกรรมการตรวจประโยคบาลีสนามหลวง
- ๑ มีนาคม ๒๔๘๐ รับสมณศักดิ์เป็นพระครูดุสิตธรรมคุณ
- ๑ มีนาคม ๒๔๘๔ รับสมณศักดิ์เป็นพระประสิทธิวีริยคุณ
1 พระประสิทธิวีริยคุณ ชื่อ สกุลเดิม คือ สุง อารมณ์ ภายหลังย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม หลังสุด ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่พระวิสุทธิวงศาจารย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ มรณภาพในปี พ.ศ. ๒๕๓๔
2 พ.ศ. ๒๕๐๒
6. พระธรรมญาณมุนี ป.ธ.8 ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 17 เจ้าอาวาสวัดดุสิดาราม ชื่อ พระธรรมญาณมุนี ฉายา มนุญฺโญ อายุ ๙๑ ปี พรรษา ๗๐ วิทยฐานะ ป.ธ.๘ วัดดุสิดาราม วรวิหาร แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าอาวาสวัดดุสิดาราม วรวิหาร และที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๗ จนมรณภาพ
สถานะเดิม ชื่อ “วรรณ” นามสกุล “เวชพราหมณ์” เกิดวันศุกร์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๗ ตรงกับวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีขาล ณ บ้านเลขที่ ๗ หมู่ที่ ๗ ตำบลคลองไทร อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี บิดาชื่อ “แย้ม” มารดาชื่อ “ทิม” นามสกุล “เวชพราหมณ์”
บรรพชา วันศุกร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ ตรงกับวันขึ้น ๑๓ ค่ำเดือน ๗ ปีมะแม ณ วัดอัมพวัน ตำบลมะเดื่อหวาน อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พระอุปัชฌาย์ เจ้าอธิการอ่ำ ปุณฺโณ วัดอัมพวัน ตำบลมะเดื่อหวาน อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
อุปสมบท วันอังคารที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ตรงกับวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุน ณ วัดบางน้ำจืด ตำบลเขาถ่าน อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี พระอุปัชฌาย์ พระครูยุตตโกฐยติกิจ(เนียม) วัดบางน้ำจืด ตำบลเขาถ่าน อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี พระกรรมวาจาจารย์ พระครูรัตนวิมล(แบน) วัดอินทาราม ตำบลท่าเคย อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎฺร์ธานี พระอนุสาวนาจารย์พระอธิการชู ฉนฺทเสวี วัดอัมพาราม ตำบลคลองไทร อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
อ้างอิง
[แก้]- เว็บไซต์วัดดุสิดาราม วรวิหาร เก็บถาวร 2014-04-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ธรรมะไทย
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี เรื่อง จัดระเบียบพระอารามหลวง เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๒, ตอน ๐ ก, ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๒๙๑