วัดกู่คำ (จังหวัดน่าน)
วัดกู่คำ | |
---|---|
ที่ตั้ง | ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน |
ประเภท | วัดราษฎร์ (สามัญ) |
นิกาย | มหานิกาย |
เจ้าอาวาส | จต.ชท พระครูสุวรรณเจติยานันท์ (ขวัญชัย สิริวฑฺฒโน) (เจ้าคณะตำบลในเวียง เขต ๑) |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดกู่คำ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ที่ดินที่ตั้งวัด มีเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 9.7 ตารางวา[1]
วัดกู่คำ ไม่มีประวัติเกี่ยวกับการสร้างที่แน่ชัด แต่พื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด ได้กล่าวถึง พระธาตุกู่คำ ว่ามีการบูรณปฏิสังขรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2172 อย่างไรก็ดีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 1883[2] และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2500 เขตวิสุงคามสีมา กล้าง 15 เมตร ยาว 30 เมตร ขณะที่ประวัติจากทางวัดระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2464[3]
ในคัมภีร์ใบลานตำนานพระธาตุวัดกู่คำว่า ครั้งอดีตกาลเมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาทรงน้ำที่ห้วยไคร้ ได้ทรงสรงน้ำแล้วได้ไห้พระสาวกนำผ้าอาบน้ำ ไปตากที่ก้อนหินใหญ่ริมแม่น้ำ แล้วพระพุทธองค์ทรงเสด็จไปยังดอยภูเพียง เพื่อไปไว้เกศาที่ดอยภูเพียง เมื่อจะเสด็จกลับได้ให้พระสาวกไปกู้หรือเก็บผ้าอาบน้ำผืนนั้นเมื่อพระสาวกไปยังก้อนหินก็พบว่าผ้าอาบน้ำผืนนั้นกลับกลายเป็นแผ่นทองคำ เมื่อเป็นดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงให้เก็บกู้ผ้าทองคำผืนนั้นและทรงประทานเกศาให้แก่พระสาวกและชาวเมืองแห่งนี้ เพื่อให้เป็นตัวแทนพระองศ์ ชาวเมืองจึงได้สร้าง พระธาตุครอบที่หินตากผ้าพร้อมทั้งนำเอาผ้าทองคำและพระเกศาธาตุบรรจุไว้ในพระธาตุวัดกู่คำ[4]
โบราณสถานและโบราณวัตถุภายในวัดมีองค์พระประธานในอุโบสถ และลวดลายดาวเพดาลซึ่งเป็นศิลปะแบบพม่าที่ยังคงเหลืออยู่ในจังหวัดน่าน และยังมีธรรมาสน์โบราณศิลปะพื้นเมืองน่าน ที่ประดับด้วยกระจกตะกั่ว หรือแก้วจืน แก้วอังวะ พระธาตุกู่คำเป็นเจดีย์ทรงระฆังที่เจดีย์ยึดส่วนฐานให้สูงทำให้องค์ระฆังมีขนาดเล็กลง โดยส่วนฐานล่างเป็นฐานเขียงสามชั้นต่อด้วยฐานบัวลูกแก้วอกไก่และชั้นบัวถลา รองรับองค์ระฆัง โดยบริเวณปากองค์ระฆังมีลวดลายกลีบบัวประดับ เหนือองค์ระฆังเป็นบัลลังค์ ปล้องไฉนและปลียอด[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ประวัติวัด ทั่วราชอาณาจักร จังหวัดน่าน" (PDF). สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดน่าน.
- ↑ "วัดกู่คำ". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
- ↑ "ขอรัฐแล้วเงียบ! "ตุ๊เจ้าวัดกู่คำ-น่าน" ยันอุโบสถร้อยปีทรุดผวาถล่ม ศรัทธามีมติทุบ-รื้อทำใหม่". ผู้จัดการออนไลน์.
- ↑ "วัดกู่คำ". องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน).
- ↑ กรมศิลปากร. "วัดกู่คำ" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 20 ตุลาคม 2566. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/