วราวุธ สุธีธร
ดร.วราวุธ สุธีธร (10 ตุลาคม พ.ศ. 2491 ที่จังหวัดนครปฐม— ) เป็นนักธรณีวิทยา, นักบรรพชีวินวิทยาที่มีชื่อเสียงชาวไทย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์มีกระดูกสันหลัง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซากดึกดำบรรพ์และพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ประวัติ
[แก้]วราวุธ สุธีธร หรือที่รู้จักกันในนาม ดร.วราวุธ สุธีธร จบธรณีวิทยา (วท.บ.) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้รับวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (กิตติมศักดิ์) สาขาชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ปัจจุบันเป็นดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
ชีวินครอบครัวสมรสกับนางประภัสร์พร สุธีธร (ฉ่ำเฉลิม) มีบุตร 3 คน คือ นางสุธาทิพย์ กาวิเนตร (ชื่อสกุลเดิม "สุธีธร"), นางสาวธนาสิริ สุธีธร และนายสุรเวช สุธีธร เข้ารับราชการที่กรมทรัพยากรธรณี เมื่อปี พ.ศ. 2517 มีภารกิจทำหน้าที่สำรวจและทำแผนที่ธรณีวิทยา บริเวณภาคตะวันตกและอิสาน ทำให้พบกระดูกไดโนเสาร์หลายแหล่งในอิสาน จนต่อมาได้มีความร่วมมือกับคณะสำรวจชีววิทยาไทย-ฝรั่งเศส ทำการสำรวจฟอสซิลสัตว์มีกระดูกสันหลังในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา อีกทั้งได้เป็นวิทยากรถวายรายงานแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ภูเวียง ภูหลวง และภูกุ้มข้าว เกี่ยวกับไดโนเสาร์หลายครั้ง
จึงได้มีโอกาสเข้าร่วมในคณะสำรวจ โดยเป็นผู้นำทางไปยังแหล่งที่มีโอกาสพบฟอสซิล การสำรวจสำเร็จได้ด้วยดี มีการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์และสัตว์มีกระดูกสันหลังหลายชนิด ได้รับทุนอบรมการทำวิจัยด้านบรรพชีวินวิทยา เรียนรู้การอนุรักษ์ตัวอย่าง การขุดสำรวจภาคสนาม การจัดเก็บตัวอย่าง และการจัดการพิพิธภัณฑ์ ได้รับประกาศนียบัตรทางด้านบรรพชีวินวิทยา สัตว์มีกระดูกสันหลัง จากมหาวิทยาลัยปารีส หก ในปี 2529 และได้ไปเรียนรู้เพิ่มเติมที่ประเทศแคนาดา เมื่อปี 2531
ในปี 2535 ได้เป็นหัวหน้าทีมสำรวจไดโนเสาร์ของไทย ซึ่งทำให้การสำรวจขุดค้นไดโนเสาร์เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ผลของการทำงานอย่างหนักตลอด 30 ปี ทำให้ค้นพบแหล่งฟอสซิลสำคัญมากมาย ในชั้นหินที่สะสมตัวบนแผ่นดินในมหายุคมีโซโซอิก ตั้งแต่ยุคไทรแอสซิก จูแรสซิก จนถึงครีเทเชียส ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งรู้จักกันในชื่อที่ราบสูงโคราช อย่างเช่นแหล่งฟอสซิลภูกุ้มข้าว เป็นแหล่งที่พบไดโนเสาร์จำนวนมากที่สุด แหล่งภูน้ำจั้น พบปลาไทยอิกทิส พุทธบุตรเอนซิส มากกว่า 300 ตัวอย่าง ผลจากการค้นพบตัวอย่างจำนวนมาก ทำให้มีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารระดับชานติและนานาชาติมากมาย ทั้งพืช สัตว์มีกระดูกสันหลังและไม่มีกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะในที่ราบสูงโคราช ค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ถึง 16 ชนิด เช่น บรรพบุรุษของไทรันโรซอร์ (สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส –Nature: 1996) นอกจากไดโนเสาร์แล้วยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ร่วมยุค ได้แก่ ฉลามน้ำจืด ปลากระดูกแข็ง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เต่า ไฟโตซอร์ จระเข้ และ เทอโรซอร์
นอกจากจะทำงานด้านวิจัยซากดึกดำบรรพ์แล้ว ยังมีผลงานในการบรรยายให้ความรู้ด้านธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาให้แก่ผู้ที่สนใจ ตั้งแต่ระดับอุดมศึกษา ครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ เยาวชน จนถึงระดับอนุบาล งานที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การพัฒนาแหล่งขุดค้นภูกุ้มข้าว เป็นพิพิธภัณฑ์แหล่งขุดค้น และพัฒนาต่อเนื่องจนเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ที่มีชื่อเสียงในอุษาคเนย์ พิพิธภัณฑ์ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานอนุญาตให้ใช้ชื่อ “พิพิธภัณฑ์สิรินธร” และเสด็จเปิดพิพิธภัณฑ์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2551 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาที่ครบวงจร ทั้งด้านการวิจัย อนุรักษ์ และการเผยแพร่ความรู้ ผู้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมมากกว่าเจ็ดแสนคนต่อปี
เมื่อ 2554 ได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีเป้าหมายเป็นศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทาง เชี่ยวชาญด้านบรรพชีวินวิทยา สร้างสรรค์งานวิจัยต่อเนื่องเป็นมาตรฐานสากล และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
ผลงาน
[แก้]ผลงานการค้นพบของวราวุธ ได้แก่ การค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่หลายชนิดในประเทศไทย เช่น ไดโนเสาร์ซอโรพอด ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่ (Phuwiangosaurus sirindhornae) ไดโนเสาร์กินเนื้อ สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis), ไดโนเสาร์ปากนกแก้ว ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ (Psittacesaurus sattayaraki) และไดโนเสาร์ซอโรพอดที่เก่าแก่ที่สุด อิสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชี (Isanosaurus attavipatch) รวมทั้งการค้นพบฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดในภาคใต้และภาคเหนือ เป็นต้น
และได้รับเกียรติถูกนำนามสกุลไปตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้แก่ สยามโมซอรัส สุธีธรนิ (Siamosaurus suteethorni) ไดโนเสาร์กินเนื้อที่พบในประเทศไทย[1] [2] [3]
ผลงานวิจัย / โครงการวิจัย
สร้างองค์ความรู้ใหม่
New genus and New species จำนวน 14 new genus and New species ประกอบด้วย
1. Isanosaurus attavipachi n.g., n.sp.(2002) Buffetaut et al.
2. Siamochelys peninsularis n.g., n.sp.(2002)
3. Isanodus paladeji n. g., n. sp (2004)
4. Isanichthys palustris gen. et sp. nov. (2006) CAVIN, L. and SUTEETHORN, V.
5. Isanemys srisuki gen. et sp. nov. (2006) Tong et al.
6. Siamosuchus phuphokensis n. g., n. sp (2007) Lauprasert et al.
7. Siamamia naga gen. et sp. nov, (2007) Cavin et al.
8. Khoratodus foreyi gen. et sp. nov. (2008) Cuny et al.
9. Mukdahanodus trisivakulii gen. nov. et sp. nov. (2009) Cuny et al.
10. Khoratosuchus jintasakuli, gen. nov. sp. Nov (2010) Lauprasert et al.
11. Basilochelys macrobios n. gen. and n. sp (2010) Tong et al.
12. Kinnareemimus khonkaenensis, gen. nov. sp. Nov (2010) Buffetaut et al.
13. Siamodon nimngami nov. gen, nov. sep., (2011) Buffetaut, E. and Suteethorn, V.
14. Phunoichelys thirakhupti gen. et sp. nov. (2015) Tong et al.
New species จำนวน 6 new species ประกอบด้วย
1. Lepidotes buddhabutrensis nov. sp. (2004)
2. Lonchidion khoratensis nov. sp. (2004)
3. Kizylkumemys khoratensis. nov. sp. (2005) Tong et al.
4. Mauremys thanhinensis nov. sp. (2007) Cluade et al.
5. Isanichthys lertboosi sp. nov. (2014) Deesri et al.
6. Acrodus kalasinensis nov. sp. (2014) Cuny et al.
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2552 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[4]
- พ.ศ. 2542 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[5]
- พ.ศ. 2542 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Varavudh Suteethorn[ลิงก์เสีย]
- ↑ "นักขุดไดโนเสาร์ ผู้แสวงหาองค์ความรู้จากผืนพิภพ จากผู้จัดการออนไลน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-08. สืบค้นเมื่อ 2013-01-08.
- ↑ คำประกาศเกียรติคุณ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๒, เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๑๖ ข หน้า ๙๗, ๔ ธันวาคม ๒๕๕๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย[ลิงก์เสีย], เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๔ ข หน้า ๖, ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๔ ข หน้า ๓๙๕, ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓