วรรณกรรมลาว
วรรณกรรมลาว ที่มีมาแต่โบราณและเป็นที่รู้จักกันดี มีอยู่หลายเรื่อง โดยมากมักจะเป็นตำนานเรื่องของวีรบุรุษ เช่น พื้นขุนบูลม (ພືນຂຸນບູຣົມ) หนังสือขุน เจือง(ປຶ້ມຫົວຂຸນເຈືອງ) นอกจากนี้ยังมีประเภทนิทานสอนใจหรือคติธรรม เช่น อินทิญาสอนลูก (ອິນທິຍາສອນຫຼານ) ปู่สอนหลาน (ປູ່ສອນຫຼານ)หนังสือเสียวสวาด (ປຶ້ມສຽວສະຫວາດ) ฯลฯ ในบรรดาวรรณกรรมดังกล่าวนั้น เล่มที่ยอมรับกันว่าอยู่ในชั้นสูงสุด อาจกล่าวว่าเป็นวรรณกรรมสุดยอดของลาวน่าจะได้แก่ หนังสือเสียวสวาด และเรื่องท้าวฮุ่งท้าวเจือง
หนังสือเสียวสวาด
[แก้]บางทีก็เรียกว่า นิทานเสียวสวาด เป็นหนังสือที่โบราณจารย์ลาวได้ประพันธ์ไว้ หนังสือนี้แต่งสมัยใดนั้น ไม่อาจยืนยันได้ชัดเจน แต่ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนลาวไม่น้อยกว่า 300 ปีแล้ว สันนิษฐานว่าจะแต่งในสมัยของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ต้นฉบับเป็นการจารึกลงไปในใบลาน ซึ่งลาวเรียกว่า หนังสือผูก มีอยู่ 10 ผูก จารึกด้วยตัวอักษรธรรม ซึ่งเป็นอักษรที่เคยใช้แพร่หลายในลาวและในภาคอีสานของไทย ผู้ที่รวบรวมไว้เป็นครั้งแรก คือ ท่านมหาสิลา วีระวงส์ ปราชญ์คนสำคัญของลาว หนังสือเสียวสวาดจัดได้ว่าเป็นนิทานสุภาษิตเค้าเรื่องของหนังสือเล่นนี้ คือ มีกฎุมพีผู้หนึ่งอยู่ที่ กรุงพาราณสี มีบุตรชายสองคน คนแรกชื่อ สีเสลียว คนน้อง ชื่อ เสียวสวาด เมื่อ เสียวสวาดอายุได้ 16 ปี กฎุมพีผู้พ่อเห็นว่าตนเองแก่แล้วจึงเรียกบุตรมาสั่งสอนเมื่อ กฎุมพี ผู้นั้นตายแล้วบุตรทั้งสองจึงได้ครองเรือนสืบมา
ต่อมามีพ่อค้าจากเมืองจำปานคร เอาเรือกำปั่น มาจอดอยู่ที่ท่าน้ำแถบหมู่บ้าน เสียวสวาดได้ไปคุ้นเคยกับนายเรือ ต่อมาเมื่อเรือนั้นจะกลับเมืองจำปานคร เสียวสวาดก็ขอเดินทางไปด้วย นายเรือก็ยินดีนัก รับเอาเสียวสวาดเป็นบุตร เมื่อไปในเรือเสียวสวาดได้แสดงความฉลาดหลักแหลมหลายประการ ต่อมาเมื่อไปถึงเมืองจำปานครแล้วนายเรือก็ยกลูกสาวให้เป็นภรรยา
ต่อมาอีก 3 ปี พระยาจำปานครเจ้าแผ่นดินปกครองบ้านเมืองด้วยความไร้ศีลธรรมจึงเกิดอาเพศขึ้นหลายอย่าง ทรงมีความกลัวจึงเกณฑ์ผู้คนมานอนเฝ้ายามที่พระราชวังคืนละ 500 คน เทวดาก็บันดารให้พวกผู้คนที่มานอนเฝ้ายามหลับสนิททุกคน ครั้นตอนดึกพระยาจำปามาตรวจดูเห็นทุกคนหลับจึงเกิดความกริ้วโกรธ ถึงตอนเช้าได้สั่งประหารคนทั้งหมด เป็นดังนี้มาทุกวัน
ต่อมาถึงเวรของนายเรือที่จะต้องถูกเกณฑ์ไปเฝ้ายาม นายเรือนั้นเห็นว่าตนคงไม่พ้นความตายเหมือนกับคนอื่น ๆ จึงเรียกลูกมาสั่งเสีย เสียวสวาดรู้เช่นนั้นก็อาสาไปแทน ครั้นในตอนดึกพระยาจำปาลุกมาตรวจ เห็นคนอื่น ๆ หลับสนิทหมด เว้นแต่เสียวสวาดคนเดียว เสียวสวาดได้ยินเสียงเปิดประตูก็กระแอมขึ้นกล่าว คำคาถาภาษาบาลี พระยาจำปาตกใจจึงเสด็จขึ้น เป็นเช่นนั้นถึงสามครั้ง ครั้งถึงตอนเช้าพวกที่นอนเฝ้ายามก็รอดตายทุกคน พระยาจำปาจึงให้สืบหาตัวคนที่กล่าวพระคาถา เมื่อได้พบกับเสียวสวาดก็ตอบข้อซักถามต่าง ๆ ของพระยาจำปาโดยยกนิทานเปรียบเทียบ พระยาจำปามีความยินดี ตั้งให้เสียวสวาดเป็นราชบัณฑิตประจำพระองค์ ตั้งแต่นั้นมาเสียวสวาดก็สั่งสอนพระยาจำปาและท้าวพระยาทั้งหลาย ให้ตั้งอยู่ในคุณธรรม นครจำปาก็เจริญรุ่งเรือง ไม่มีข้าศึกมารุกรานในที่สุด เสียวสวาดก็ได้เป็นอัครมหาเสนาบดี[1]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระราชอาณาจักรลาว, กระทรวงศึกษาธิการ, กรมวรรณคดี, หนังสือเสียวสวาด พิมพ์ครั้งที่ 3 ปี 1967, 100 เล่ม, เวียงจันทน์