วง อ.ส. วันศุกร์
หัวข้อของบทความนี้อาจไม่ผ่านแนวปฏิบัติความโดดเด่นทั่วไป |
วง อ.ส. วันศุกร์ เป็นวงดนตรีในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ชื่อนี้มาจากการที่เล่นออกอากาศทางสถานีวิทยุ อ.ส. ในทุกเย็นวันศุกร์ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเห็นว่าวงลายคราม มีนักดนตรีซึ่งเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ สูงอายุมากยิ่งขึ้น บางครั้งเล่นดนตรีประเภทเครื่องเป่าไม่ค่อยถนัดแล้ว พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้นักดนตรีหนุ่ม ๆ มาผสมวงเล่นร่วมกับวงลายคราม จึงเกิดเป็นวง อ.ส. วันศุกร์ ขึ้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงแซกโซโฟนเป็นหัวหน้าวง และนายแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ เป็นนายวง
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชนิพนธ์เพลงพระราชนิพนธ์ศุกร์สัญลักษณ์ {Friday Night Rag} พระราชทานเป็นเพลงประจำ อ.ส.วันศุกร์
ประวัติวงดนตรี
[แก้]พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเป็นศิลปินผู้เพียบพร้อมด้วยพระปรีชาสามารถในการสร้างสรรค์ดนตรี เมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทยใน พ.ศ. 2494 แล้วประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เพราะระหว่างนั้นมีการก่อสร้างเพิ่มเติม พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ได้ทรงรวบรวมพระประยูรญาติบางองค์และคนสนิทมาเล่นดนตรีกันและพระราชทานชื่อวงนี้ว่า “วงลายคราม” ขึ้นเป็นวงดนตรีส่วนพระองค์วงแรก
ในปี พ.ศ. 2495 กรมประชาสัมพันธ์ได้น้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องส่งวิทยุกำลังส่ง 100 วัตต์ ซึ่งมีทั้งคลื่นสั้นและคลื่นยาว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจึงทรงตั้ง “สถานีวิทยุ อ.ส.” ขึ้นที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ตัวอักษรย่อ อ.ส. ทรงนำมาจากคำว่า พระที่นั่งอัมพรสถาน) เพื่อใช้เป็นสื่อกลางให้ความบันเทิงและสาระประโยชน์ ตลอดจนข่าวสารต่าง ๆ แก่ประชาชน ปัจจุบันสถานีวิทยุ อ.ส. ได้ย้ายมาตั้งในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ต่อมา มีการปรับปรุงวงดนตรีลายคราม เนื่องจากนักดนตรีกิตติมศักดิ์เหล่านั้นเริ่มทรงพระชรามากขึ้น ไม่สามารถมาร่วมเล่นดนตรีได้อย่างเต็มที่ จนเหลือแค่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและนายแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ เท่านั้น นายแมนรัตน์ จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตหานักดนตรีเข้ามาถวายงานเพิ่มเติมจนครบวงให้สามารถเล่นต่อไปได้ ต่อมาจึงได้รับพระราชทานชื่อวงใหม่นี้ว่า “อ.ส.วันศุกร์” พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงดนตรีกับ วง อ.ส.วันศุกร์ บรรเลงออกอากาศทางสถานีวิทยุ อ.ส.เป็นประจำทุกวันศุกร์ ทรงจัดรายการเพลง และทรงเลือกแผ่นเสียงเอง บางครั้งโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ฟังโทรศัพท์ขอเพลงจากวงดนตรีที่กำลังบรรเลงได้ด้วย ปัจจุบันนี้ วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ มีอายุ 50 ปีเต็มย่างเข้า 51 ปีแล้ว
สมาชิกวง
[แก้]สมาชิกของวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ ได้แก่
- พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
- พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
- หม่อมเจ้าชมปกบุตร ชุมพล
- หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
- หม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์
- หม่อมหลวงเสรี ปราโมช
- พลเรือเอก หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช ศิลปินแห่งชาติ
- เรืออากาศตรี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ
- ว่าที่ร้อยตรี อวบ เหมะรัชตะ
- นายถาวร เยาวขันธ์
- นายสุวิทย์ อังศวานนท์
- พลโท ทพ.ทวีศักดิ์ ทวีศรี
- นายนนท์ บูรณสมภพ
- นายกวี อังศวานนท์
- นายสันทัด ตัณฑนันทน์
- นายอุทิตต์ ทินกร ณ อยุธยา
- นายธรรมรักษ์ ทินกร ณ อยุธยา
- นายอนิรุทธิ์ ทินกร ณ อยุธยา
- รองศาสตราจารย์ ดร.ภาธร ศรีกรานนท์
นักร้องประจำวง ได้แก่
- ท่านผู้หญิงหญิงสาวิตรี ศรีวิสารวาจา
- คุณหญิงจามรี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
- ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.คุณกัญดา ธรรมมงคล
- ท่านผู้หญิงสุวรี เทพาคำ
- นางสารา เกษมศรี
- นางพรศรี สนิทวงศ์
- คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัตน์
- หม่อมราชวงศ์เบญจาภา ไกรฤกษ์
- นายพัลลภ สุวรรณมาลิก
- นายเดช ทิวทอง
- นาวาอากาศเอก อภิจิต ศุกระจันทร์
ลักษณะพิเศษของ วง อ.ส.วันศุกร์ คือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงร่วมบรรเลงกับสมาชิกของวง ออกอากาศกระจายเสียงทางสถานีวิทยุเป็นประจำทุกวันศุกร์ เป็นการเปิดโอกาสให้พสกนิกรได้ติดต่อกับพระองค์ได้ง่ายขึ้น บางครั้งทรงจัดรายการเพลงและทรงเลือกแผ่นเสียงในระยะแรก บางครั้งก็โปรดเกล้าฯ ให้มีการขอเพลงด้วยและจะทรงรับโทรศัพท์ด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์วาตภัยแหลมตะลุมพุก ได้อาศัยวงดนตรี อ.ส. ประกาศชักชวนประชาชนบริจาคทรัพย์ สิ่งของ ฯลฯ ช่วยเหลือผู้ประสบภัย และเป็นต้นจุดกำเนิดของ "มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์"
บทบาทสำคัญอีกประการหนึ่งของวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ คือ บรรเลงในงาน วันทรงดนตรี ตามที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ เพื่อทรงสังสรรค์ร่วมกับนิสิตนักศึกษาเป็นการส่วนพระองค์ ซึ่งได้ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนานกว่าสิบปี ในปัจจุบันเมื่อมีพระราชกรณียกิจเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ประเพณีวันทรงดนตรีจึงได้ยกเลิกไป แต่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วงดนตรีจากสถาบันต่าง ๆ ทั้งราชการและเอกชน รวมทั้งนักเรียน นิสิต นักศึกษา หมุนเวียนกันมาบรรเลงดนตรีเป็นประจำ ณ สถานีวิทยุ อ.ส.