ข้ามไปเนื้อหา

ลูกหนี้ร่วม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


ลูกหนี้ร่วม (อังกฤษ: joint obligor) คือ บุคคลหลายคนที่ร่วมกันผูกพันตนเองในหนี้ (อังกฤษ: obligation) รายเดียวกันโดยทุกคนต้องชำระหนี้รายนั้นจนครบถ้วน เว้นแต่ลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งพ้นจากความเป็นหนี้ หนี้ที่เหลืออยู่ก็ตกเป็นภาระของลูกหนี้ร่วมคนอื่น ๆ ที่จะต้องชำระหนี้ต่อไปจนครบถ้วน[1] การเป็นลูกหนี้ร่วมนั้นภาษาอังกฤษว่า "solidarity"

ปรกติแล้วมักพบเห็นแต่ลูกหนี้ (อังกฤษ: obligor) เดี่ยว ๆ คนเดียว ซึ่งการเป็นลูกหนี้ร่วมนี้ย่อมเป็นผลเสียมากกว่าผลดีเพราะทุกคนต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้จนกว่าหนี้นั้นจะครบถ้วนหรือที่เรียก "ชำระหนี้โดยสิ้นเชิง" (อังกฤษ: performance in whole) และเจ้าหนี้มีความได้เปรียบกว่าลูกหนี้ร่วมตรงที่จะเรียกให้ลูกหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งรับผิดชำระหนี้โดยสิ้นเชิงแต่ผู้เดียวก็ได้

ลักษณะ

[แก้]

บทบัญญัติของกฎหมาย

[แก้]
ประเทศ บทบัญญัติต้นฉบับ คำแปลบทบัญญัติ
ไทย ไทย ป.พ.พ.
บรรพ 2 หนี้, ลักษณะ 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป, หมวด 3 ลูกหนี้และเจ้าหนี้หลายคน

"ม.291 ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง

ม.297 ถ้าในสัญญาอันหนึ่งอันใดมีบุคคลหลายคนร่วมกันผูกพันตนในอันจะทำการชำระหนี้ไซร้ หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องรับผิดเช่นอย่างเป็นลูกหนี้ร่วมกัน แม้ถึงว่าเป็นการอันจะแบ่งกันชำระหนี้ได้"
Civil and Commercial Code
Book 2 : Obligation, Title 1 : General Provisions, Chapter 3 : Plurality of Debtors and Creditors[2]

"Section 291. If several persons owe an act of performance in such manner that each is bound to effect the whole performance, though the creditor is entitled to obtain the whole performance only once (i.e. joint debtors), the creditor may demand the performance at his option from any one of the debtors, in the whole or in part. Untill the whole performance has been effected all of the debtors remain bound.

Section 297. If in a contract several persons bind themselves in common to effect a performance, they are liable, in case of doubt, as joint debtors even in the case of a divisible performance. "
เยอรมนี เยอรมนี Bürgerliches Gesetzbuch
Book 2 : Law of Obligations, Division 7 : More than one obligor and obligee[3]

"Section 421 (Joint and several debtors). If more than one person owes performance in such a way that each is obliged to effect the entire performance, but the obligee is only entitled to demand the performance once (joint and several debtors), the obligee may at his discretion demand full or part performance from each of the obligors. Until the entire performance has been effected all obligors remain obliged.

Section 427 (Joint contractual duty). If more than one person jointly binds himself by contract to render divisible performance then, in case of doubt, they are liable as joint and several debtors."
เบือร์แกร์ลิชส์เกเซทซ์บุค
บรรพ 2 หนี้, ภาค 7 ลูกหนี้และเจ้าหนี้หลายคน

"ม.421 (ลูกหนี้ร่วมกัน) ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิง แต่เจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ชำระหนี้เพียงคราวเดียว (ลูกหนี้ร่วมกัน) เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง

ม.427 (ความผูกพันร่วมกันตามสัญญา) ถ้าในสัญญาอันหนึ่งอันใดมีบุคคลหลายคนร่วมกันผูกพันตนในอันจะทำการชำระหนี้ หากกรณีเป็นที่สงสัย บุคคลเหล่านั้นจะต้องรับผิดเช่นอย่างเป็นลูกหนี้ร่วมกัน"
ญี่ปุ่น ญี่ปุ่น Minpō (ญี่ปุ่น: 民法)
Part 3 : Claims; Chapter 1 : General Provisions; Section 3 : Claims and Obligations of Multiple-Parties; Subsection 3 : Joint and Several Obligations[4]

"Article 432 (Request for Performance). If more than one person bears a joint and several obligation, the obligee may request one of the joint and several obligors, or all of such joint and several obligors, simultaneously or successively, to perform the obligation, in whole or in part."
มินโป
ส่วนที่ 3 สิทธิเรียกร้อง; หมวด 1 บททั่วไป; แผนก 3 สิทธิเรียกร้องและหนี้ของคู่สัญญาหลายฝ่าย; แผนกย่อย 3 หนี้ร่วมกัน

"ม.432 (การเรียกให้ปฏิบัติการชำระหนี้) ถ้าบุคคหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้รายเดียวร่วมกัน เจ้าหนี้อาจเรียกให้ลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งหรือทุกคนปฏิบัติการชำระหนี้โดยสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนโดยพร้อมเพรียงกันหรือโดยลำดับก็ได้"

ลักษณะของลูกหนี้ร่วม

[แก้]

ลูกหนี้ร่วมเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้รายเดียวกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ บุคคลหลายคนผูกพันกันในหนี้รายเดียวกันซึ่งทุกคนจะต้องปฏิบัติการชำระหนี้รายนั้นจนครบถ้วน[1] โดยเจ้าหนี้ของลูกหนี้ร่วมจะเรียกให้ลูกหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งปฏิบัติการชำระหนี้นั้นโดยสิ้นเชิงหรือเพียงบางส่วนก็ได้แล้วแต่จะเลือก ทว่า การชำระหนี้โดยสิ้นเชิงนั้นกระทำได้เพียงครั้งเดียวเพราะเมื่อหนี้ได้รับการชำระจนหมดสิ้นแล้วก็เป็นอันสิ้นสุดลง และลูกหนี้ร่วมทุกคนยังคงผูกพันในหนี้นั้นอยู่จนกว่าหนี้จะได้รับการชำระจนครบถ้วน (ป.พ.พ. ม.291)

อนึ่ง ลูกหนี้ร่วมยังเกิดขึ้นในกรณีที่ในสัญญาหนึ่งมีบุคคลหลายคนผูกพันร่วมกันจะต้องกระทำการชำระหนี้ และกรณีนั้นเป็นที่สงสัยว่าการชำระหนี้จะต้องทำกันเช่นไร กฎหมายให้ถือว่าทำอย่างลูกหนี้ร่วม (ป.พ.พ ม.297) นับเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นลูกหนี้ร่วมแม้ข้อเท็จจริงบุคคลทั้งหลายนั้นจะมิได้มีเจตนาเป็นลูกหนี้ร่วมกันเลยก็ตาม ตัวอย่างเช่น กรณีที่นายจ้างต้องมาร่วมรับผิดกับลูกจ้างในละเมิดที่ลูกจ้างกระทำ (ป.พ.พ. ม.425[ลิงก์เสีย]) หรือกรณีที่บุคคลหลายคนร่วมกันทำละเมิด (ป.พ.พ. ม.432 เก็บถาวร 2009-10-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) เช่น

ฎ.2786/2529 ว่า โจทก์บรรยายฟ้องความผิดว่า จำเลย (จ่าสิบตำรวจจรัส กฤษณสุวรรณ) กับพวกได้บังอาจร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบข่มขืนใจกรรโชกให้ผู้เสียหายมอบเนื้อกระบือชำแหละแล้ว 140 กิโลกรัมให้แก่จำเลยกับพวก มิฉะนั้น จำเลยกับพวกจะยึดเนื้อกระบือชำแหละแล้ว 500 กิโลกรัมไปตรวจสอบและจะจับกุมผู้เสียหายกับพวก ดังนี้ เป็นฟ้องที่สมบูรณ์แล้ว โจทก์ไม่จำต้องระบุในฟ้องว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาทุจริต, กรณีที่มีจำเลยหลายคนร่วมกันกระทำความผิด การบังคับให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. ม.432 ซึ่งจำเลยแต่ละคนจะต้องชำระหนี้ทั้งหมดโดยสิ้นเชิงอันมีฐานะเช่นเดียวกับลูกหนี้ร่วม

ผลของการเป็นลูกหนี้ร่วม

[แก้]

สิทธิของเจ้าหนี้ในการเรียกให้ชำระหนี้

[แก้]
"ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิง หรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง"
ป.พ.พ. ม.291

สำหรับเจ้าหนี้ที่มีลูกหนี้ร่วมนั้น จะเรียกให้ลูกหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวหรือให้ชำระบางส่วนก็ได้แล้วแต่เจ้าหนี้จะเลือก ซึ่งปรกติแล้วเจ้าหนี้มักเลือกลูกหนี้คนที่มีฐานะดีที่สุดให้ชำระหนี้ทั้งหมด นอกจากนี้ ตราบใดที่หนี้รายนั้นยังไม่สิ้นสุดลง ลูกหนี้ร่วมทุกคนยังผูกพันในหนี้นั้นอยู่เสมอกัน จะอ้างว่าตนชำระไปบ้างแล้ว ให้ไปเรียกให้คนอื่นชำระบ้าง หาได้ไม่ (ป.พ.พ. ม.291)

เจ้าหนี้ที่มีลูกหนี้ร่วม จะเป็นเจ้าหนี้คนเดียว หรือเจ้าหนี้ร่วม (อังกฤษ: joint obligee) ก็ได้[1]

ความรับผิดระหว่างลูกหนี้ร่วม

[แก้]
"ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น ท่านว่าต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ถ้าส่วนที่ลูกหนี้ร่วมกันคนใดคนหนึ่งจะพึงชำระนั้นเป็นอันจะเรียกเอาจากคนนั้นไม่ได้ไซร้ ยังขาดจำนวนอยู่เท่าไรลูกหนี้คนอื่น ๆ ซึ่งจำต้องออกส่วนด้วยนั้นก็ต้องรับใช้ แต่ถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใดเจ้าหนี้ได้ปลดให้หลุดพ้นจากหนี้อันร่วมกันนั้นแล้ว ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ไป"
ป.พ.พ. ม.296

ลูกหนี้ร่วมแต่ละคนมีส่วนเท่า ๆ กันที่จะต้องรับผิดชำระหนี้ เว้นแต่จะมีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่งส่วนใดที่ไม่อาจเรียกเอาจากลูกหนี้ร่วมคนใดได้แล้ว เป็นต้นว่า เพราะไม่มีจะให้จริง ๆ เจ้าหนี้เรียกให้ลูกหนี้ร่วมคนอื่น ๆ ชำระหนี้ส่วนนั้นแทนได้ ขณะที่ลูกหนี้ร่วมคนใดที่เจ้าหนี้ปลดหนี้ส่วนนั้นให้แล้ว ย่อมไม่ถูกเรียกให้ชำระหนี้ส่วนนั้นอีก (ป.พ.พ. ม.296)

คำว่า "ตกเป็นพับ" ในข้อความ "ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้" นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายว่า "นับเป็นสูญ"[5] ซึ่งมิได้ให้ความกระจ่างเท่าใดนัก แต่เมื่อพิจารณาจากต้นร่าง ป.พ.พ. ที่จัดทำเป็นภาษาอังกฤษก่อนแปลเป็นภาษาไทยและประกาศใช้เป็นส่วน ๆ ไปนั้นอาจทำให้เข้าใจความหมายของคำดังกล่าวมากขึ้นได้ (?) ต้นร่าง ป.พ.พ. ม.296 ดังนี้[6]

"Section 296. As between themselves joint debtors are liable in equal shares, unless it is otherwise provided. If from one of the joint debtors the contribution due from him cannot be obtained, the deficiency shall be borne by the other debtors who are bound to make contribution; provided that one of the joint debtors has been released from joint obligation, the creditor takes upon himself that share which the debtor released by him ought to have borne."

สำนวน "take upon oneself" นั้น ดิกชันนารี.คอมให้ความหมายว่า "รับภาระ รับหน้าที่ หรือรับผิดชอบเอง" เช่น "She has taken it upon herself to support the family." ว่า "เธอรับภาระดูแลครอบครัวด้วยตัวเอง"[7] ซึ่งจะแปลว่า "ภาระดูแลครอบครัวนั้นตกเป็นพับแก่เธอเอง" ก็ได้ แต่ออกจะเป็นภาษาโบราณเกินไปหน่อย

ประโยชน์ระหว่างลูกหนี้ร่วม

[แก้]

การชำระหนี้ของลูกหนี้ร่วมคนหนึ่ง

[แก้]
"การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชำระหนี้นั้นย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ ด้วย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่การใด ๆ อันพึงกระทำแทนชำระหนี้ วางทรัพย์สินแทนชำระหนี้ และหักกลบลบหนี้ด้วย

ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งมีสิทธิเรียกร้องอย่างไร ลูกหนี้คนอื่น ๆ จะเอาสิทธิอันนั้นไปใช้หักกลบลบหนี้หาได้ไม่"
ป.พ.พ. ม.292

เมื่อลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งชำระหนี้ กระทำการอื่นแทนการชำระหนี้ วางทรัพย์สินแทนการชำระหนี้ (อังกฤษ: deposit in lieu of performance) หรือเมื่อมีการหักกลบลบหนี้ (อังกฤษ: set-off) ประโยชน์จากการเหล่านั้นย่อมตกแก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ ด้วยโดยทั่วกัน แต่สิทธิเรียกร้องที่ลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งมีเหนือเจ้าหนี้ ลูกหนี้ร่วมคนอื่นจะนำสิทธิเรียกร้องนี้ไปอ้างต่อเจ้าหนี้ด้วยหาได้ไม่ (ป.พ.พ. ม.292)

ที่ว่า "ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ ด้วย" ตาม ป.พ.พ. ม.292 นั้น หมายความว่า ลูกหนี้ร่วมคนอื่น ๆ สามารถอ้างต่อเจ้าหนี้ได้ว่า หนี้ของพวกตนระงับลงเท่าส่วนที่ลูกหนี้ร่วมคนนั้นชำระไปแล้ว[8]

ฎ.722/2541 ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ ความเสียหายที่โจทก์ได้รับมีจำนวนเดียวกัน จำเลยทั้งสองจึงเป็นลูกหนี้ร่วมที่จะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์, ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ โดยยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้แก่โจทก์จำนวน 9,500,000 บาท โจทก์ยอมรับและไม่ติดใจเรียกร้องหนี้ตามคำพิพากษาจากจำเลยที่ 2 อีก, จำเลยที่ 2 ขอถอนอุทธรณ์เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์อนุญาต, ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้วจำนวน 9,500,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงหลุดพ้นจากหนี้จำนวนดังกล่าวด้วย ตาม ป.พ.พ. ม.292

การปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ร่วมคนหนึ่ง

[แก้]
"การปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้นย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ เพียงเท่าส่วนของลูกหนี้ที่ได้ปลดให้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น"
ป.พ.พ. ม.293

เมื่อเจ้าหนี้ปลดหนี้ (อังกฤษ: release) ให้แก่ลูกหนี้รวมคนใด ย่อมหมายความว่า หนี้ของลูกหนี้รวมทุกคนระงับลงเท่าส่วนที่ได้รับการปลดดังกล่าวนั้นแล้ว เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น (ป.พ.พ. ม.293)

ตัวอย่างเช่น นาย ก นาย ข และนาย ค เป็นลูกหนี้ร่วมกันของนาย ง ในหนี้เงินกูจำนวนหนึ่งหมื่นสองพันบาท โดยทุกคนยอมรับผิดเท่ากัน, ถ้านาย ง ปลดหนี้ให้แก่นาย ก เป็นจำนวนสี่พันบาท ถือว่าหนี้ร่วมกันจำนวนหนึ่งหมื่นสองพันบาทนั้นระงับลงไปแล้วสี่พันบาท เหลือแปดพันบาทที่ต้องไปเรียกเอาจากคนที่ยังมิได้รับการปลดหนี้ต่อไป, เว้นแต่จะตกลงกันว่าให้นาย ง คงเรียกได้เต็มจำนวนหนึ่งหมื่นสองพันบาทอยู่

การผิดนัดของเจ้าหนี้ต่อลูกหนี้ร่วมคนหนึ่ง

[แก้]
"การที่เจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ ด้วย"
ป.พ.พ. ม.294

การผิดนัด (อังกฤษ: default) ของเจ้าหนี้ต่อลูกหนี้ร่วมคนหนึ่ง ย่อมเป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ ด้วย กล่าวคือ ย่อมถือเสมอว่าได้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมคนอื่น ๆ ด้วยโดยทั่วกัน ทั้งนี้ ตามป.พ.พ. ม.294 ซึ่งต้นร่างภาษาอังกฤษว่า "Section 294. The default of the creditor towards one joint debtor avails also in favour of the other debtors. "[6]

ประโยชน์อื่น ๆ

[แก้]
"ข้อความจริงอื่นใดนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 292 ถึง 294[ลิงก์เสีย] นั้น เมื่อเป็นเรื่องเท้าถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง

ความที่ว่ามานี้ เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่า ให้ใช้แก่การให้คำบอกกล่าว การผิดนัด การที่หยิบยกอ้างความผิด การชำระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง กำหนดอายุความ หรือการที่อายุความสะดุดหยุดลง และการที่สิทธิเรียกร้องเกลื่อนกลืนกันไปกับหนี้สิน"
ป.พ.พ. ม.295

สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นคุณเป็นโทษแก่ลูกหนี้ร่วมเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น เว้นแต่ตามสภาพแห่งหนี้นั้นสามารถใช้แก่ลูกหนี้ร่วมคนอื่น ๆ ได้ด้วย ได้แก่ (ป.พ.พ. ม.295)

  1. การบอกกล่าวทวงถาม (อังกฤษ: demand) ที่เจ้าหนี้มีไปยังลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งให้ปฏิบัติการชำระหนี้
  2. การผิดนัด (อังกฤษ: default) ของลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งต่อเจ้าหนี้
  3. ความผิดในการชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ของลูกหนี้ร่วมคนหนึ่ง
  4. การเริ่มนับอายุความ (อังกฤษ: prescription)
  5. อายุความสะดุดหยุดลง (อังกฤษ: interruption of prescription)
  6. หนี้ของลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งเกิดเกลื่อนกลืนกัน (อังกฤษ: merger)

ฎ.8533/2542 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. ม.448 ว.1 เก็บถาวร 2010-04-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันวินาศภัยซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตาม ป.พ.พ. ม.882 ว.1[ลิงก์เสีย], แสดงว่าอายุความฟ้องจำเลยทั้งสองสามารถแยกออกจากกันได้ อีกทั้ง ป.พ.พ. ม.295 บัญญัติให้เรื่องอายุความเป็นคุณหรือเป็นโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น, ฉะนั้น การฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลละเมิดจึงขาดอายุความ 1 ปี ย่อมเป็นคุณเฉพาะแก่จำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวข้องกับการฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัยซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย

ฎ.3021/2536 ว่า การที่ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันนั้น ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้ว่าให้มีผลไปถึงลูกหนี้ด้วย แม้จำเลยในฐานะลูกหนี้จะต้องรับผิดร่วมกับผู้ค้ำประกัน กำหนดอายุความของลูกหนี้แต่ละคนก็ต้องเป็นไปเพื่อคุณและโทษเฉพาะแต่ลูกหนี้คนนั้นเท่านั้นตาม ป.พ.พ. ม.295 การที่ผู้ค้ำประกันผ่อนชำระหนี้ให้กับโจทก์ จึงไม่ทำให้อายุความที่โจทก์จะเรียกร้องเอาจากจำเลยสะดุดหยุดลงด้วย

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 ภัทรศักดิ์ วรรณแสง, 2552 : 186.
  2. Thailand Civil and Commercial Code (online), Online : n.d.

    Civil and Commercial Code of Thailand, Book 2 : Obligation, Title 1 : General Provisions, Chapter 3 : Plurality of Debtors and Creditors.
  3. Langenscheidt Translation Service, 2009 : Online.
    German Civil Code, Book 2 : Law of Obligations, Division 7 : More than one obligor and obligee
  4. Ministry of Justice of Japan, 2009 : Online.

    Japanese Civil Code, Part 3 : Claims; Chapter 1 : General Provisions; Section 3 : Claims and Obligations of Multiple-Parties; Subsection 3 : Joint and Several Obligations. เก็บถาวร 2011-11-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  5. ราชบัณฑิตยสถาน, 2551 : ออนไลน์.
  6. 6.0 6.1 Thailand Civil and Commercial Code (online), Online : n.d.
  7. Dictionary.com; Online : 2009.

    "take upon oneself, to assume as a responsibility or obligation: She has taken it upon herself to support the family. "
  8. ภัทรศักดิ์ วรรณแสง, 2552 : 188.

อ้างอิง

[แก้]

ภาษาไทย

[แก้]

ภาษาต่างประเทศ

[แก้]
  • Dictionary.com. (2009). Take upon oneself. [Online]. Available: <click>. (Accessed: 12 September 2009).
  • Langenscheidt Translation Service. (2009). German Civil Code. [Online]. Available: <click>. (Accessed: 12 September 2009).
  • Official Publisher of Quebec. (2009, 27 July). Civil Code of Quebec. [Online]. Available: <click เก็บถาวร 2012-07-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (Accessed: 12 September 2009).
  • Ministry of Justice of Japan. (2009). Civil Code (Act No. 89 of 1896). [Online]. Available: <click เก็บถาวร 2011-11-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (Accessed: 12 September 2009).
  • The Napoleon Series. (2009). French Civil Code. [Online]. Available: <click>. (Accessed: 12 September 2009).
  • Thailand Civil and Commercial Code (online). (n.d.). [Online]. Available: <click>. (Accessed: 26 September 2009).
  • University of Girona. (2009). Spanish Civil Code. [Online]. Available: <click>. (Accessed: 12 September 2009).