ข้ามไปเนื้อหา

ลัทธิบูชามะม่วง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มะม่วงสินธรีจัดแสดงควบคู่กับภาพของเหมา เจ๋อตง

ลัทธิบูชามะม่วง (จีน: 芒果崇拜; พินอิน: Mángguǒ Chóngbài) เป็นการนับถือบูชามะม่วงในสาธารณรัฐประชาชนจีนสมัยการปฏิวัติทางวัฒนธรรม[1][2][3] เมื่อเดือนสิงหาคม 1968 เหมา เจ๋อตง ได้มอบมะม่วงสินธรีกล่องหนึ่งแก่คณะทำงานโฆษณาชวนเชื่อลัทธิเหมา เจ๋อตง แรงงานและไพร่ ประจำมหาวิทยาลัยชิงหัว มะม่วงกล่องนี้เหมาได้รับมาจากรัฐมนตรีการต่างประเทศของปากีสถาน มีอัน อาร์ชัด ฮุสซัยน์[4] ขณะเขาเดินทางเยือนจีน กระนั้นมีอีกกระแสหนึ่งที่อ้างว่ามะม่วงนี้มาจากประเทศพม่า[5] การมอบมะม่วงนี้ให้กับคนงานแทนที่จะเก็บไว้กินเองถูกมองว่าเป็นการเสียสละตนเองเพื่อประโยชน์ของแรงงาน มะม่วงจึงถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความเอื้ออาทรของเหมา เหตุการณ์นี้ประจวบเหมาะพอดีกับระยะเปลี่ยนผ่านของผู้นำการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนจากปัญญาชนไปเป็นชนชั้นแรงงาน[6]

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว มะม่วงได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แทนความรักของเหมา และแทนที่จะนำมารับประทาน มะม่วงจะถูกนำไปแช่ในฟอร์มาลดีไฮด์หรือเคลือบด้วยขี้ผึ้งเพื่อรักษาสภาพสำหรับใช้เคารพบูชา[2][6] ผู้คนในแถบนั้นของจีนในเวลานั้นมีน้อยคนมากที่รู้จักมะม่วง หลายคนประทับใจในผลไม้นี้ บ้างเปรียบเปรยกับลูกท้อแห่งความเป็นอมตะในปรัมปราวิทยาจีน[7]

การบูชามะม่วง

[แก้]

มะม่วงที่เหมามอบให้ได้ถูกนำไปเก็บรักษาโดยใช้สารเคมีและนำไปจัดแสดงตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในจีน[5] มะม่วงจำลองทำจากขี้ผึ้งยังได้รับการเคารพบูชาจากแรงงานทั่วประเทศ และผู้ที่ปฏิเสธการเคารพบูชามะม่วงยังถูกจัดว่าเป็นพวกต่อต้านการปฏิวัติ ทันตแพทย์ชาวฟูหลิน ฮัน กวางตี (Han Guangdi) เคยพูดว่ามะม่วงดูไม่ได้พิเศษอะไร และดูเหมือนมันหวานเท่านั้น เขาถูกขึ้นศาลไต่สวนว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาท, ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง ถูกพาตัวแห่ประจานในเมือง ก่อนจะถูกประหารชีวิตด้วยปืน[8][6]

มะม่วงจำลองทำจากขี้ผึ้งหรือพลาสติกอยู่ในความต้องการของตลาดอย่างมาก สินค้าต่าง ๆ ทำเป็นรูปและลายมะม่วง ตั้งแต่ผ้าปูที่นอน จานชาม ถ้วย กล่องดินสอ สบู่กลิ่นมะม่วง บุหรี่รสมะม่วง ถูกผลิตวางจำหน่าย หลายครั้งควบคู่มากับภาพของเหมา[6][7]

ความเสื่อมถอยของลัทธิ

[แก้]

หลังผ่านไปมากกว่าหนึ่งปี ลัทธินี้ได้เสื่อมลงอย่างมาก และบางคนถึงกับนำมะม่วงจำลองที่ทำจากขี้ผึ้งมาใช้เป็นเทียนเวลาไฟดับ[1][7]

ในผี 1974 อีเมลดา มาร์กอส สตรีหมายเลขหนึ่งของฟิลิปปินส์ เดินทางเยือนจีนพร้อมมอบมะม่วงให้แก่เหมาหนึ่งกล่อง ภรรยาของเหมา เจียง ชิง พยายามจะจุดไฟลัทธิบูชามะม่วงนี้กลับมาอีกครั้งโดยการมอบให้กับแรงงานเช่นเคย[7] และต่อมายังกำกับภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อในชื่อ บทเพลงมะม่วง ด้วยตนเอง[1] กระนั้น เหมาเสียชีวิตก่อนภาพยนตร์จะเสร็จ และไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์หล้งภาพยนตร์ดังกล่าวออกฉาย เธอถูกจับกุมและภายนตร์ของเธอถูกถอดจากการฉายและวางขาย ถือเป็นการสิ้นสุดลัทธิบูชามะม่วง[7]

ปัจจุบัน มะม่วงในประเทศจีนเป็นผลไม้ที่หาซื้อได้ทั่วไป[7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Christoph Ricking (2016-05-14). "文化大革命期间的芒果崇拜" ['Mango veneration' in the Cultural Revolution period]. Deutsche Welle (ภาษาจีน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-11.
  2. 2.0 2.1 Holland Cotter (2015-01-25). "When Mango Mania Was Revolutionary". The New York Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-06.
  3. Adam Yuet Chau (2018-02-06). "Mao's Mango Fever" (ภาษาอังกฤษ). Cambridge University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-04.
  4. Mao's Golden Mangoes and the Cultural Revolution (ภาษาอังกฤษ). Scheidegger & Spiess. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-29. สืบค้นเมื่อ 2023-01-31.
  5. 5.0 5.1 Dutton, Michael Robert (2004). "Mango Mao: Infections of the Sacred". Public Culture. 16 (2): 174–175. doi:10.1215/08992363-16-2-161. ISSN 1527-8018. S2CID 145383456.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 Marks, Ben. "The Mao Mango Cult of 1968 and the Rise of China's Working Class". Collectors Weekly (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-05. สืบค้นเมื่อ 2023-01-30.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 "China's curious cult of the mango". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2016-02-11. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-04-23. สืบค้นเมื่อ 2023-01-31.
  8. Moore, Malcolm (March 7, 2013). "How China came to worship the mango during the Cultural Revolution". The Daily Telegraph. Beijing. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 20, 2015. สืบค้นเมื่อ January 28, 2016.